3 ค่ายมือถือ เมินร่วมประมูลคลื่น 1800 MHz


โดย PPTV Online

เผยแพร่




วันนี้ กสทช. ได้เปิดให้ค่ายมือถือ เข้ามายื่นเอกสารเพื่อประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ แต่ปรากฏว่า ไม่มีค่ายใดสนใจเข้าร่วมประมูลเลย ทำให้ กสทช. เตรียมกำหนดหลักเกณฑ์ใหม่ คาดแล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ แต่ยืนยันไม่ลดราคาประมูลใหม่แน่นอน

วันนี้ (15 มิ.ย.61) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้เปิดให้ค่ายมือถือ เข้ามายื่นคำขอรับใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ ที่กำหนดวันประมูล 4 สิงหาคมนี้ จำนวน 3 ใบอนุญาต อายุ 15 ปี ราคาเริ่มต้น 37,457 ล้านบาท หรือเท่ากับราคาประมูลคลื่น 900 และ 1800 เมกะเฮิรตซ์ครั้งที่ผ่านมา  ปรากฎว่า ก่อนเริ่ม บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)  หรือ ดีแทค ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย  ว่าจะไม่ควรเข้าร่วมการประมูลครั้งนี้ จากก่อนหน้านี้ที่ บริษัท  ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ทรู ได้แจ้งไม่ร่วมเข้าประมูลไปแล้ว  และในช่วงบ่าย บริษัท แอดวานซ์ อินโฟว์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ก็ได้แจ้งว่าจะไม่เข้าร่วมประมูลเช่นกัน โดย 3 ค่ายมือถือให้เหตุผลว่า มีคลื่นความถี่เพียงพอให้บริการอยู่แล้วและเงื่อนไขการประมูลไม่เหมาะสม

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า แม้การประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ใหม่ ในวันที่ 4 สิงหาคมนี้ จะไม่เกิดขึ้น กสทช. เตรียมที่จะกำหนดแนวทางการเปิดประมูลรอบใหม่ โดยเฉพาะรายละเอียดกฏเกณฑ์ต่างๆ รวมไปถึงอาจจะมีการแบ่งประมูลคลื่นให้เล็กลง โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ ก่อนเสนอรัฐบาลพิจารณาต่อไป  อย่างไรก็ตาม การปรับหลักเกณฑ์ครั้งนี้ จะไม่มีการพิจารณามาตรการเยียวยาต่างๆ  เพราะการเปิดประมูลรอบนี้อยู่ในกรอบเวลาที่คลื่นความถี่จะหมดอายุสัมปทานในวันที่ 15 กันยายนนี้ และยืนยันว่าการประมูลรอบใหม่จะไม่ลดราคาตั้งต้นลงอย่างแน่นอน

โดยค่ายมือถือที่ถูกจับตามองมากที่สุดอย่าง ดีแทค  ผู้บริหารก็ออกมาชี้แจงอย่างเป็นทางการ หลังประกาศชัดว่าไม่ร่วมการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ แม้สัญญาสัมปทานจะสิ้นสุด ในเดือนกันยายนนี้  โดยเหตุผลหลักมาจากราคาที่สูง และหลักเกณฑ์ที่ กสทช.กำหนด โดยเฉพาะการแบ่งช่วงคลื่นความถี่ออกเป็น 15 เมกะเฮิรตซ์ที่ใหญ่เกินไป

การตัดสินใจครั้งนี้ ดีแทค ได้เตรียมมาตรการเยียวยาผู้ใช้บริการ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซิมดับ โดยจะต้องร่วมมือกับ กสทช. ตามประกาศคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวกรณีสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ.2556 และ 2558 โดยการให้ใช้งานช่วงคลื่น ทั้งย่านความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ และ 850 เมกะเฮิรตซ์  โดยดีแทคจะนำรายได้ที่หักค่าใช้จ่ายในระหว่างการเยียวยามอบให้ กสทช. ตามเงื่อนไข จนกว่าจะย้ายโครงข่ายให้ผู้บริการเสร็จสิ้น คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี

ในระหว่างนี้จะทำการขยายโครงข่ายความถี่ ย่าน 2100 และ 2300 เมกะเฮิรตซ์ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ภายในปี 2561 เพื่อรองรับการใช้งาน  หากในอนาคต กสทช. เปิดการประมูลคลื่นที่มีราคาและหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม ผู้บริหารดีแทคยืนยันว่าจะเข้าร่วมประมูลต่อไป  ขณะที่ ราคาหุ้น ดีแทค วันนี้ ปรับตัวลดลง  3 บาท 25 สตางค์ ปิดที่ 46 บาท ส่วน แอดวานซ์ หรือ เอไอเอส  บวก  1 บาท 50 สตางค์ อยู่ที่ 190 บาท 50 สตางค์  และทรู ราคาหุ้นปรับเพิ่มขึ้น 10  สตางค์ ปิดที่ระดับ 6 บาท 70 สตางค์

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ