ประหารชีวิตนักโทษคดีฆ่าชิงทรัพย์คนแรกในรอบ 9 ปี


โดย PPTV Online

เผยแพร่




กรมราชทัณฑ์บังคับโทษประหารชีวิตนักโทษเด็ดขาดชายคดีฆ่าชิงทรัพย์ด้วยการฉีดยาสารพิษให้ตายเมื่อเย็นวานนี้ นับเป็นนักโทษคนแรกในรอบ 9 ปี หลังบังคับโทษประหารชีวิตด้วยการฉีดยาสารพิษกับนักโทษคนล่าสุดเมื่อปี 2552

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า เมื่อเวลา 15.18 น. ของวานนี้ (18 มิ.ย.61)  กรมราชทัณฑ์ได้บังคับโทษตามคำพิพากษาของศาลด้วยการประหารชีวิตนักโทษเด็ดขาดชาย ธีรศักดิ์ (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 26 ปี ผู้ต้องขังคดีฆ่าชิงทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 ประกอบมาตรา 19 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการประหารชีวิตนักโทษ พ.ศ.2546 นับเป็นนักโทษคนแรกในรอบ 9 ปี หลังจากบังคับโทษประหารชีวิตด้วยการฉีดยาสารพิษนักโทษครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2552

   

      

นักโทษเด็ดขาดชายรายนี้ ผู้ต้องขังคดีฆ่าชิงทรัพย์ถูกตัดสินลงโทษประหารชีวิต หลังศาลตัดสินว่ามีความผิดตามที่ถูกกล่าวหา โดยร่วมกับเพื่อนใช้อาวุธมีดแทงนักเรียนชาย ชั้นมัธยม 5 นับ 10 แผล และชิงทรัพย์ของผู้ตายรวมมูลค่ากว่า 2 พันบาทแล้วหลบหนีไป เหตุเกิดภายในสวนสาธารณะสมเด็จพระศรีนครินทร์ 95 ตำบลทับเที่ยง เขตเทศบาลนครตรัง เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2555 ซึ่งในชั้นจับกุมผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ ส่วนการตรวจสอบประวัติผู้ต้องหาพบว่าเคยก่อคดียาเสพติด และครอบครองอาวุธปืนมาหลายคดี

     

 

อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2478 ถึงปัจจุบันมีการบังคับโทษประหารชีวิตมาแล้ว 325 คน แยกเป็น การใช้อาวุธปืน 319 คน โดยนักโทษคนสุดท้ายที่ถูกประหารชีวิตด้วยการใช้อาวุธปืนคือเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2545 ต่อมาหลังแก้ไขกฎหมายเปลี่ยนวิธีการบังคับโทษประหารชีวิตมาเป็นการฉีดยาสารพิษ ราชทัณฑ์บังคับโทษประหารชีวิตด้วยวิธีการนี้มาแล้ว 6 คน โดยครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2546 ส่วนครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2552 

การประหารชีวิตถือเป็นบทลงโทษทางอาญาที่หนักที่สุดตามกฎหมายไทย แม้หลายประเทศยกเลิกโทษประหารชีวิตไปแล้วแต่อีกหลายประเทศก็ยังมีโทษประหารชีวิตอยู่ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน         

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เปิดเผยข้อมูลตัวเลขเกี่ยวกับโทษประหารชีวิตเมื่อปี 2560 ว่า จีนเป็นประเทศที่ประหารชีวิตมากที่สุดในโลก แต่ไม่ทราบตัวเลขที่แท้จริงของการใช้โทษประหารชีวิตในจีนเนื่องจากข้อมูลเป็นความลับของทางราชการ ซึ่งนอกจากจีนแล้ว 84 เปอร์เซ็นต์ของรายงานการประหารชีวิตเกิดขึ้นใน 4 ประเทศ ได้แก่ อิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย อิรัก และปากีสถาน

ขณะที่สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศเดียวในทวีปอเมริกาที่ยังคงโทษประหารชีวิตแม้จำนวนการประหารชีวิตจะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าจำนวนรัฐที่ประหารชีวิตประชาชนเพิ่มขึ้นจาก 5 รัฐ เป็น 8 รัฐ โดยเป็นการรื้อฟื้นการประหารชีวิตหลังจากหยุดใช้มาพักหนึ่ง

 

ส่วนเอเชียแปซิฟิกเกิดการประหารชีวิต 93 ครั้งใน 9 ประเทศ ลดลงจากปีก่อนที่มีประมาณ 130 ครั้ง ใน 11 ประเทศ ซึ่งการลดลงเป็นผลมาจากการลดลงของการประหารชีวิตในปากีสถาน ขณะที่สิงคโปร์ประหารชีวิตประชาชนเพิ่มขึ้นสองเท่า จาก 4 ครั้งเป็น 8 ครั้ง โดยทั้งหมดเป็นคดียาเสพติด แต่ทั้งนี้ภาพรวมทั่วโลกปี 2560 เกิดการประหารชีวิตอย่างน้อย 993 ครั้ง ใน 23 ประเทศ ลดลงราว ๆ 4 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปี 2559

 ส่วนประเทศส่วนใหญ่ 106 ประเทศได้ยกเลิกโทษประหารในทางกฎหมายสำหรับอาชญากรรมทุกประเภท และ 142 ประเทศ หรือว่าสองในสาม ยกเลิกโทษประหารชีวิตทั้งในทางกฎหมายหรือในทางปฏิบัติแล้ว

  

        
 เพจเฟซบุ๊กของนายเกิดผล แก้วเกิด ทนายความ โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นกรณีไทยบังคับใช้โทษประหารชีวิตในครั้งนี้ โดยระบุว่า จากการที่รัฐบาลไทย ได้ลงนามในปฏิญญาสากลว่าด้วย สิทธิมนุษยชน ให้ยกเลิกโทษประหารชีวิตโดยปริยาย หากไม่มีการประหารนักโทษภายใน 10 ปี นับแต่การประหารชีวิตครั้งสุดท้ายนับตั้งแต่แต่เดือนสิงหาคม พ.ศ.2552 ไทยไม่มีการลงโทษประหารชีวิต ซึ่ง หากไม่มีการประหารชีวิต จนถึง สิงหาคม 2562 ซึ่งจะครบ 10 ปี หากไม่มีการลงโทษประหารชีวิตก็ถือว่า ไทยยกเลิกโทษประหารชีวิตไปโดยปริยาย และจะตลอดไป แต่ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2561 ได้มีการประหารชีวิตนักโทษเด็ดขาดชายคนหนึ่ง ทำให้ข้อตกลงในปฏิญญาสากลที่ให้ยกเลิกโทษประหารต้องตกไปโดยอัตโนมัติ ซึ่งหมายความว่า ไทยยังคงมีการบังคับใช้โทษประหารตลอดไป จนกว่าจะมีการแก้ไขกฎหมายอาญา ซึ่งเป็นไปโดยอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติของไทย

โพสต์ดังกล่าวระบุว่า ไม่ได้ยินดีกับความตายของนักโทษประหาร แต่ยินดีที่การบังคับใช้กฎหมายตามคำพิพากษายังคงศักดิ์สิทธิ์ และบังคับใช้โทษประหาร ยังคงมีไว้เช่นเดิม

     

ด้าน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์ ระบุว่า เป็นเรื่องน่าตกใจที่ประเทศไทยละเมิดต่อพันธกิจที่เคยประกาศไว้ว่า จะเดินหน้าไปสู่การยกเลิกโทษประหาร เพราะเป็นการกระทำไม่สอดคล้องกับกระแสโลก ซึ่งกำลังมุ่งหน้าออกจากโทษประหาร ทั้งนี้ ไม่มีหลักฐานใด ๆ ว่าโทษประหารจะส่งผลให้บุคคลยั้งคิดก่อนกระทำความผิดอย่างชัดเจน การที่ทางการไทยคาดหวังว่ามาตรการเช่นนี้จะช่วยลดการก่ออาชญากรรม จึงเป็นความเข้าใจผิดอย่างยิ่ง โดยเครือข่ายแอมเนสตี้จะรวมตัวกันบริเวณด้านหน้าเรือนจำบางขวางในช่วงบ่ายวันนี้เพื่อไว้อาลัยกับบุคคลที่ถูกประหารชีวิต และแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับโทษประหารชีวิต      

         

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ