จากกรณีที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มีมติชี้มูลความผิดทางอาญานายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กรณีออกหนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต) ให้กับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยมิชอบ วันนี้ (19 มิ.ย. 61) นายสุรพงษ์ได้เดินทางมายังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ.แจ้งวัฒนะ ตามนัดหมายของศาลเพื่อรับฟังคำตัดสิน

สำหรับประวัติของนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล หรือ ดร.สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล นั้น เกิดเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2496 ที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นญาติของพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยนางสุมาลี โตวิจักษณ์ชัยกุล น้าของนายสุรพงษ์ ได้แต่งงานกับนายเสถียร ชินวัตร อาของ พ.ต.ท.ทักษิณ นายสุรพงษ์ เคยสมรสกับนางอัญชลี โตวิจักษณ์ชัยกุล มีบุตร 2 คน คือ ณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล และศุภิสรา โตวิจักษณ์ชัยกุล
นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปลายจากโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย ได้รับปริญญาวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ปริญญาวิศวกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยยังทาวน์สเตท รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา และปริญญาวิศวกรรมศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยแห่งแอเคริน รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา มีน้องชายชื่อ นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ในส่วนของประวัติด้านการเมือง นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เริ่มเข้าสู่งานการเมืองจากการลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี 2529 สังกัดพรรคกิจสังคม แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง ต่อมาเขาได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ในการเลือกตั้งปี 2539 และได้รับเลือกเป็นกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ต่อมาในการเลือกตั้งปี 2544 ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในสังกัดเดิม แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง โดยแพ้ให้กับนายปกรณ์ บูรณุปกรณ์ ผู้สมัครจากพรรคไทยรักไทย ทำให้ในช่วงนั้นเขาได้เคลื่อนไหวโจมตีพรรคไทยรักไทยมาโดยตลอด เคยเคลื่อนไหวยื่นร้องเรียนต่อ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ตรวจสอบความถูกต้องการหาเสียงของ นายปกรณ์ บูรณุปกรณ์
จากนั้นในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไปปี 2548 นายสุรพงษ์ยังคงสมัครรับเลือกตั้งในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์เช่นเดิม แต่ย้ายมาลงสมัครในระบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 41 แต่ก็ไม่ได้รับการเลือกตั้ง ซึ่งตลอดระยะเวลาที่อยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ นายสุรพงษ์ได้มีบทบาทสำคัญในการอภิปรายโจมตี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
ต่อมาช่วงปลายปี 2548 นายสุรพงษ์ได้นำทีมนักศึกษาออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านการเคลื่อนไหวของพันธมิตร โดยได้ตั้งตนเองเป็นประธาน "เครือข่ายพลังประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" จากเหตุการณ์นี้ก็ได้ถือเป็นการประกาศจุดยืนว่าจากที่เขาเคยต่อต้านพรรคไทยรักไทยมาโดยตลอด เขาได้ย้ายมาสังกัดพรรคไทยรักไทยแล้ว นอกจากนี้ยังยื่นเรื่องในอัยการสูงสุดพิจารณาวินิจฉัยยุบพรรคประชาธิปัตย์
จนเมื่อปี 2549 ภายหลังการรัฐประหารส่งผลให้พรรคไทยรักไทยถูกยุบพรรค จึงได้ย้ายไปสังกัดพรรคพลังประชาชน และ ดร.สุรพงษ์ ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดเชียงใหม่ ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไปปี 2550 ในนามพรรคพลังประชาชน ซึ่งมีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นหัวหน้าพรรคในขณะนั้น รวมถึงได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมาธิการการคลัง การธนาคาร และสถาบันการเงิน สภาผู้แทนราษฎร ต่อจากนั้นได้ย้ายไปสังกัดพรรคเพื่อไทย และได้รับการแต่งตั้งเป็นรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในเดือนกันยายนปี 2553 ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไปปี 2554 ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 20 ของพรรคเพื่อไทย และได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต่อมาได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีเพิ่มอีกตำแหน่งหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุลเป็นหนึ่งในบุคคลที่ร่วมลงนามถวายฎีกาเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษแก่ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ร่วมกับแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในปี พ.ศ. 2552 ซึ่งเป็นเหตุให้รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกยุบไปในเวลาต่อมา
ในเดือนธันวาคมปี 2556 เขาได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย หรือ ศอ.รส. แทนพลตำรวจเอก ประชา พรหมนอก และในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไปปี 2557 ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ เขาได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 4 แต่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้การเลือกตั้งครั้งนั้นไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
วันที่ 7 พ.ค.57 นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี เนื่องจากมีส่วนเกี่ยวข้องในการโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรีจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ
และในวันนี้ (19 มิ.ย. 2561) จะเป็นวันนัดฟังคำตัดสินของศาลฎีกาว่านายสุรพงษ์จะมีความผิดได้รับโทษหรือไม่อย่างไรจากกรณีออกหนังสือเดินทางโดยมิชอบแก่พ.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยการพิจารณาตัดสินคดีความครั้งนี้ถือเป็นที่สิ้นสุด
ขอบคุณข้อมูลจาก: วิกิพีเดีย และ ศูนย์ติดตามประชาธิปไตยไทย
ติดตามข่าววันนี้ได้ที่นี่ >> www.pptvhd36.com/tags/ข่าววันนี้