เปิดสาเหตุการเป็นนักโทษประหารชีวิต


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ทีมนิวมีเดียพีพีทีวีได้พูดคุยกับนักวิชาการด้านอาชญวิทยา และทนายความอิสระ ถึงเรื่องโทษประหารชีวิตกับบริบทของสังคมไทย และกว่าการที่จะมีโทษประหารได้นั้นต้องมีขั้นตอนอย่างไรจนถึงที่สุดที่การประหารชีวิต

ผศ.พ.ต.ท.ดร กฤษณพงค์ พูตระกูล ประธานกรรมการสถาบันอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม วิทยาลัยรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ในมุมมองจากนักอาชญวิทยามี 2 มุมมอง คือ มุมมองแรก การให้ยกเลิกโทษประหารชีวิต กับ เหตุผลที่ยังควรมีโทษประหารชีวิตไว้

ผศ.พ.ต.ท.ดร กฤษณพงค์ เปิดเผยถึงมุมมองของกลุ่มนักอาชญวิทยา ในความเห็นเรื่องควรจะยกเลิกโทษประหารชีวิต ด้วย 4 เหตุผล คือ รัฐไม่มีอำนาจและไม่มีสิทธิไปทำให้ใครตาย เป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ทุกคนเกิดมามีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ติดตัวมาแต่กำเนิด และถึงแม้เขาจะไปกระทำความผิดอย่างไรก็ตามในทางกฎหมาย แต่สุดท้ายก็ไม่ใช่ว่ารัฐจะไปฆ่าเขาตายด้วย

ควรจะมองย้อนกลับไปว่าทำไมคนๆนั้น ถึงไปกระทำความผิดไปฆ่าคน เพราะตั้งแต่เกิดมา เขาไม่ได้ถือมีดออกมาถือปืนออกมา แต่เป็นเพราะสังคม สถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา ชุมชน บริบทวัฒนธรรมของสังคมที่อยู่อาศัยหล่อหลอมตัวตนจนทำให้เขาต้องมาเป็นอย่างนี้

ทำให้เกิดการตั้งคำถามทำไมหน่วยงานภาครัฐ เอกชน หรือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำไมไม่ให้โอกาสทำให้เขามีพฤติกรรมที่ไม่ละเมิดกฎหมาย หรือในระยะแรกที่เกิดการละเมิดกฎหมายทำไมไม่ปรับปรุงพฤติกรรมของผู้กระทำผิด

ข้อที่ 2 เหตุผลของเหตุผลที่ควรยกเลิกโทษประหารชีวิต เพราะอาจจะเกิดความผิดพลาดได้ในกระบวนการยุติธรรม อาจมีการประหารผิดตัว ซึ่งตรงนี้ก็ต้องยอมรับว่า ประเทศไทยเคยมี “แพะ” ในกระบวนการยุติธรรม และในต่างประเทศก็เคยเกิดขึ้น มีการประหารชีวิตผิดตัว โดย ณ ตอนนั้นวิทยาศาสตร์ยังไม่เจริญก้าวหน้า และมาตรวจพิสูจน์พบว่าไม่ใช่ฆาตกรตัวจริง

ข้อที่ 3 คนที่กระทำความผิดจริงๆแล้ว ส่วนใหญ่มากจากครอบครัวที่มีฐานะยากจน ขาดโอกาสทางการศึกษา ขาดโอกาสในการทำงาน ขาดโอกาสในการต่อสู้คดี หากดูสถิติในเรือนจำ หรือ ในสถานพินิจ จะพบว่าผู้กระทำความผิดไม่ว่าผู้ใหญ่หรือเด็ก ส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่มีปัญหาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวหย่าร้าง ครอบครัวที่มาจากฐานะที่มีปัญหา เกินกว่า 50 เปอร์เซ็นต์

ข้อที่ 4 ไม่มีเหตุผลทางวิชาการสนับสนุนว่าการคงโทษประหารชีวิตไว้ จะเกิดอาชญากรรมลดลง นักอาชญวิทยาบางท่าน ยกตัวอย่างประเทศสิงคโปร์ และฮ่องกง สิงคโปร์คงโทษประหารชีวิตไว้ แต่ฮ่องกงไม่มีโทษประหารชีวิต ในบริบทของการบังคับใช้กฎหมายเข้มงวดพบว่าสถิติการเกิดอาชญากรรมแทบไม่แตกต่างกับ ระหว่างสิงคโปร์กับฮ่องกง นั่นหมายความว่าโทษประหารชีวิตถ้าคงไว้ก็ไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันว่าจะไม่ทำให้อาชญากรรมเกิดมากขึ้น

ยกตัวอย่างเปรียบเทียบกับประเทศไทยก็คือ คดีจำหน่ายยาเสพติดมีโทษประหารชีวิต ตามประมวลกฎหมาย และเราก็มีการประชาสัมพันธ์ไม่ให้จำหน่ายยาเสพติด หากค้ายามีโทษประหารชีวิต แต่ทำไมคนยังทำความผิดยาเสพติด ข้อมูลจาก ป.ป.ส.พบว่า การกระทำความผิดยาเสพติดในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปริมาณยาที่เพิ่มมากขึ้น มีผู้เข้าไปพัวพากับยาเสพติดมากขึ้นในข้อหาจำหน่าย และที่สำคัญ คนอายุน้อยลงเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการมีโทษประหารชีวิตไว้ ไม่ได้ทำให้คนที่คิดจะกระทำความผิดเกิดความเกรงกลัว

ในส่วนของเหตุผลที่ควรจะคงโทษประหารชีวิตไว้ เพราะการที่มีโทษประหารชีวิต จะเป็นการข่มขู่ ยับยั้งผู้ที่จะกระทำความผิดรายต่อไป แต่อย่างไรก็ตามอันนี้เป็นแนวคิดของนักอาชญวิทยาแบบดั้งเดิม ตาต่อตาฟันต่อฟัน หมายความว่า หากคุณฆ่าคนตาย คุณก็ต้องถูกทำให้ตายตกตามกันไป ซึ่งก็ไม่มีข้อมูลทางวิชาการมาสนับสนุนเลยว่า การที่เราคงโทษประหารชีวิตไว้จะทำให้อาชญากรรมลดลง

แต่กลับมีเหตุผลทางวิชาการ มีข้อมูลมาสนับสนุน ว่าการบังคับใช้กฎหมาย ที่มีประสิทธิภาพต่างหาก บังคับใช้กฎหมายอย่างรวดเร็ว เด็ดขาดแล้วก็โปร่งใส จะหยุดยั้งคนร้าย คนที่คิดจะกระทำความผิด ให้เกิดความเกรงกลัวไม่กล้าที่จะกระทำความผิด ยกตัวอย่างคนไทย ที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองไทย หลายคนอาจจะไม่ได้ระมัดระวังเรื่องการทิ้งขยะ ทิ้งหมากฝรั่ง และเคารพกฎจราจร แต่เมื่ออยู่ญี่ปุ่น ไปอยู่สิงคโปร์ และประเทศที่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด สามารถปฏิบัติตามกฎระเบียบ และปรับตัวได้ เพราะประเทศเหล่านั้นใช้กฎหมายที่มีการจริงจังมานาน

สังคมควรจะให้ความสำคัญกับการป้องกันแก้ไขปัญหาอาชญากรรม การฟื้นฟูแก้ไขพฤติกรรมของคน มากกว่าการที่จะพูดเรื่องโทษประหารชีวิตทุกครั้งที่มีเกิดคดีอุกฉกรรจ์ ซึ่งเข้าใจความรู้สึกของทุกฝ่าย เพราะไม่มีใครอยากให้ความสูญเสียเกิดขึ้น อยากให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้ อย่างตำรวจ กรมราชทัณฑ์ ให้ความสำคัญกับการลงทุนกับคนให้มากขึ้น ยกตัวอย่างเรื่องการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของคนในชุมชน ถ้ามีฐานข้อมูลที่ดี มีการจัดเก็บ DNA จัดเก็บลายนิ้วมือ คนที่จะกระทำความผิด ก็จะเกิดความเกรงกลัวว่าจะถูกจับกุมได้ ถูกตรวจสอบได้ อย่างที่ประเทศอินเดีย ประชากรหลักเป็นร้อยเป็นพันล้าน แต่ว่ามีการเก็บลายนิ้วมือของคน เก็บมาเป็น 10 ปี

แต่ว่าประเทศไทยยังไม่มีการเก็บลายนิ้วมือ จะเก็บเฉพาะคนที่ทำความผิด ซึ่งคนที่ไม่เคยกระทำความผิดเลย หรือ กระทำความผิดแล้วถูกจับกุมตัวได้ก็จะชะล่าใจ ซึ่งเขาก็อาจจะทำความผิดครั้งต่อไป และอาจเพิ่มความรุนแรงมากขึ้นได้ การลงทุนด้านนิติวิทยาศาสตร์ กับเทคโนโลยีจึงเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญ

หลายคนบอกว่าประเทศที่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ยกเลิกโทษประหารชีวิตไปแล้ว แต่ก็มีข้อสังเกตว่าอย่างสิงคโปร์ยังคงโทษนี้ไว้ และสหรัฐอเมริกาบางรัฐยังคงไว้ สะท้อนให้เห็นว่า จุดยืน ความคิด วัฒนธรรม บริบททางสังคมแต่ละประเทศแตกต่างกัน ประเทศไทยอาจคงโทษประหารชีวิตไว้ตามประมวลกฎหมาย แต่อาจดูเป็นรายกรณีก็ได้ อย่างเช่นเคยข่มขืนคนมาแล้ว ทำร้ายเหยื่อจนบาดเจ็บสาหัส ครั้งที่สอง มาข่มขืนอีก และทำร้ายจนบาดเจ็บสาหัส จนกระทั่งเสียชีวิต อาจจะต้องดูเป็นรายกรณี แต่ก็ไม่ต้องยกเลิกโทษประหารชีวิต

ส่วนในเรื่องของการตัดสินโทษประหารชีวิต จริงๆแล้วตามประมวลกฎหมายที่มีอยู่ ถ้าผู้กระทำความผิดรับสารภาพ ตั้งแต่ชั้นสอบสวน จนกระทั่งชั้นศาล ศาลชั้นต้น เมื่อเขากระทำความผิดจริง ศาลก็มีเหตุบรรเทาโทษได้ อาจจะลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามกฎหมายที่มีบทบัญญัติ ก็คือ จากโทษประหารก้จะเป็นจำคุกตลอดชีวิต

แต่อย่างไรก็ตาม แม้ศาลชั้นต้น อุทธรณ์ ฎีกา ลงโทษประหารชีวิตแล้ว ผู้ต้องหา เองก็มีสิทธิยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งอันนี้ต้องขึ้นอยู่กับเงื่อไข หลักเกณฑ์ของกรมราชทัณฑ์ ว่าเข้าหลักเกณฑ์ไหม ในการขื่นขอพระราชทานอภัยโทษ ก็จะมีหลักเกณฑ์กำหนดไว้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล และการพิจารณาตามหลักเกณฑ์ของกรมราชทัณฑ์

ด้านทนายวิรัช หวังปิติพาณิชย์ กล่าวว่า ในเรื่องของโทษประหารชีวิต ประเทศไทยยังคงมีการกำหนดเอาไว้ว่ามีโทษประหารตามมาตรา 18 และก็ลงโทษตามมาตรา 19 ด้วยการฉีดยาตามประมวลกฎหมายอาญา ดังนั้น ผู้ที่ใช้กฎหมายหรือบังคับใช้กฎหมาย ทั้งกรมราชทัณฑ์ หรือกระทรวงยุติธรรม รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ยังคงมีสิทธิ์ที่จะใช้กฎหมายนั้นอยู่ เพียงแต่ว่า ซึ่งในมุมมองของตนมองว่า การลงโทษในลักษณะนี้ อาจทำให้คนที่คิดจะกระทำความผิด อาจไม่กล้าที่จะกระทำความผิด เพราะมีการลงโทษ ซึ่งเป็นเรื่องของจิตวิทยา

ในหลายๆ ปีที่ผ่านมา ผู้กระทำความผิด หรือแม้แต่คนในสังคมบางส่วน มองว่า แม้จะมีการกระทำความผิดร้ายแรง ก็ไม่มีการประหารชีวิต ผู้ที่เป็นต้องหา หรือกำลังจะกระทำความผิดยังไงก็ไม่ตาย ติดคุกยังมีวันที่จะได้ออกมา ก็เลยอาจจะไม่เกรงกลัวบทลงโทษ ซึ่งโทษของการประหารชีวิต อาจทำให้คนเกรงกลัวมากขึ้น

แต่ในมุมองของหลายๆกลุ่มในต่างชาติ มองว่าการประหารชีวิตเป็นระบบป่าเถื่อน ซึ่งก็เป็นสิทธิมุมมองของแต่ละบุคคล ซึ่งทฤษฎีการลงโทษ มีอยู่ 2 แบบ  คือ 1. การนำเอาคนร้ายออกจากสังคมชั่วคราวก็ คือการขังคุก และแบบที่ 2. การเอาคนร้ายออกจากสังคมตลอดกาล ก็คือการประหารชีวิต ไม่มีโอกาสแก้ตัวอีกต่อไป

เมื่อกฎหมายประเทศไทยยังไม่มีการแก้ไขก็ยังคงต้องใช้อยู่ เพียงแต่จะต้องตรวจสอบให้ชัดเจนว่าลงโทษถูกคน แล้วก็มีโอกาสให้เขาได้ต่อสู้อย่างเต็มที่ และให้สิทธิ์ตามกฎหมาย เนื่องจากเมื่อมีคำพิพากษา คำพิพากษาศาลฎีกา หรือคำพิพากษาถึงที่สุด ต้องให้โอกาสในการจะถวายฎีกาเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษ ถ้าได้ทำ ก็ถือว่าครบสมบูรณ์แล้ว

ซึ่งผู้ที่จะได้รับโทษถึงขึ้นประหารชีวิต อ้างอิงตามกฎหมาย และข้อมูลจากสำนักงานกิจการยุติธรรม ก็มีอยู่ 7 พฤติกรรมการฆ่า คือ 1.ฆ่าพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ทวด ที่สืบสายโลหิตโดยตรง 2.ฆ่าเจ้าพนักงานที่กระทำตามหน้าที่ 3.ฆ่าโดยทรมาน หรือทารุณโหดร้าย 4.ฆ่าผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานที่ได้ทำตามหน้าที่ 5.ฆ่าเพื่อผลประโยชน์ หรือเพื่อปกปิดหลีกเลี่ยงให้พ้นความผิด 6.ฆ่าเพื่อความสะดวกในการกระทำความผิด และฆ่าโดยไตร่ตรอง คิดทบทวน วางแผน ก่อนลงมือฆ่า เช่น จ้างวานฆ่า ซึ่งนอกจากพฤติกรรมการกระทำผิดเรื่องการฆ่าแล้ว ก็ยังในเรื่องของกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด การทุจริต และการกระทำอื่นๆที่ร้ายแรง อาจมีโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลในการตัดสิน

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ