ช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาทีมนิวมีเดีย พีพีทีวี พบเห็นบางสิ่งบางอย่างที่ล้วนแล้วก่อสร้างหรือเกิดขึ้น จากภาษีประชาชนแต่ดูเหมือนว่าอยู่ไม่ค่อยจะถูกที่ถูกทางเท่าไหร่ สำหรับการใช้งาน ซึ่งอาจจะกลายเป็นความคุ้นชินไปแล้วเพราะเป็นสิ่งที่ต้องเผชิญทุกวัน แต่ก็อยากให้กลายเป็นจุดเริ่มต้นในการไปสะกิดให้ผู้มีส่วนในการรับผิดชอบโครงการเหล่านี้เล็งเห็นถึงความผิดพลาดเพื่อปรับปรุง แก้ไข เพื่อนำไปสู่การพิจารณาโครงการใหม่ๆ ในอนาคตให้รอบคอบมากขึ้นและสามารถอำนวยความสะดวกสบายให้กับประชาชนผู้ใช้อย่างเต็มที่

เริ่มที่เมื่อ “สะพานลอย” กับ “ทางเท้าสัญจร” ต้องอยู่ร่วมกันเวลาจะใช้ก็ต้องทั้งก้ม ทั้งมุด ทั้งแทรกตัว ที่สำคัญอาจมุมหลบใต้สะพานอาจเป็นที่ทำให้คนร้ายสามารถใช้เป็นจุดดักเพื่อก่อเหตุต่างๆ ได้
ยกตัวอย่างทางเท้าสัญจรบริเวณแยกเพลินจิต มีการสร้างสะพานลอยทับซ้อนพื้นที่ ขณะที่ผลการศึกษาจาก “โครงการเมืองเดินได้-เมืองเดินดี” ระยะที่ 1 พบว่าคนเมืองโหวตอุปสรรคที่พวกเขาต้องพบเจอระหว่างการเดินสัญจร 5 อุปสรรคสำคัญจนทำให้ "ไม่อยากเดิน" คือ 1.มีสิ่งกีดขวางเดินไม่สะดวก(44.5%) 2.ขาดร่มเงา บังแดดบังฝน(44.2%) 3.ทางเดินมีแสงสว่างไม่เพียงพอ(44.0%) 4.ทางเท้าสกปรก มีขยะมูลฝอย(40.1%) 5.ทางเท้าเป็นหลุมเป็นบ่อ(39.3%)
รวมทั้งมีปัญหาสำคัญ 3 ด้าน ที่คนกรุงเทพฯรู้สึกว่าส่งผลกระทบต่อการเดินเท้าในพื้นที่กรุงเทพฯ คือ ปัญหาด้านความปลอดภัย เช่น อันตรายจากอาชญากรรม ปัญหาด้านความสะดวกสบายในการเดิน เช่น ไม่มีป้ายรถเมล์ในระยะที่เดินเท้าได้ ทางเท้าเป็นหลุมบ่อไม่ราบเรียบ และปัญหาด้านสภาพแวดล้อม เช่น – ความสกปรกของทางเท้าขยะมูลฝอย
ยังอยู่กันที่เรื่องของ ทางเท้าสิ่งที่ทำให้การใช้งานทางเท้าในเมืองกรุงเทพฯไม่เต็มประสิทธิภาพคือการตั้งแผงค้าบนทางเท้า แต่ถึงแม้ว่า กรุงเทพมหานคร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงจะมีความพยายามในการทวงคืนพื้นที่แต่ก็ดูเหมือนจะไม่เป็นผลเท่าใดนักในบางแห่ง อย่างล่าสุดหลังมีการทวงคืนพื้นที่ผู้ค้าริมทางเท้าหน้าห้างสรรพสินค้าเซนทรัลาดพร้าวไปแล้ว ปรากฏว่าผู้ค้ากลับย้ายไปลักลอบตั้งวางแผงค้าบริเวณทางเท้าถนนข้างโรงเรียนหอวังในช่วงเย็นตลอดแนวถนน ซึ่งถือเป็นการรุกล้ำใช้ทางเท้าอย่างผิดกฎหมายเช่นเดิม
ปัญหานี้อาจหมายรวมไปถึงความมักง่ายของผู้ขับขี่เองด้วยแต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการปราบปรามอย่างจริงจัง แม้ว่าล่าสุดทางกรุงเทพมหานครร่วมกับสำนักเทศกิจบังคับใช้กฎหมายการขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้า โดยกำหนดช่วงเวลาจับปรับอย่างเด็ดขาด ในช่วงเวลาเร่งด่วนเช้าเย็น คือตั้งแต่เวลา 07.00-10.00น. และ16.00-19.00น. โดยจะจับปรับทันทีด้วยอัตราโทษคือปรับไม่เกิน 5,000บาท และจากการสำรวจพื้นที่ 50 เขต ได้กำหนดจุดนำร่องกวดขันทั้งสิ้น 115 จุด พร้อมเตรียม ตั้งโต๊ะจับ-ปรับนอกสถานที่ภายในเดือนมิ.ย.นี้
ที่มีปัญหาก่อนหน้านี้คือ บริเวณหน้ากรมการกงสุล ถนนแจ้งวัฒนะ โดยอาจทำให้เกิดอันตรายต่อผู้พิการทางสายตาได้ ทำให้กรมทางหลวง โดยแขวงทางหลวงกรุงเทพ ได้ปรับเปลี่ยนการวางเบรลล์บล็อกใหม่ทั้งหมด 3 จุด บริเวณป้ายรถเมล์, ใต้สะพานลอยคนข้าม และท่อน้ำ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้พิการทางสายตาให้ช่วยเหลือตัวเองได้ แต่ยังพบบางจุดที่เป็นทางแยก ยังไม่มีเบรลล์บล็อกที่เป็นสัญลักษณ์ให้หยุด เพื่อให้ระวังรถ และระวังทางต่างระดับ และบางจุดมีทางเท้าที่เล็กเกินไปไม่สามารถใช้งานได้จริง ซึ่งอาจนำอันตรายไปสู่ผู้พิการทางสายตาได้
(ชื่นชม !! ปูกระเบื้อง “เบรลล์บล็อก” ป้องกันคนตาบอดชนต้นไม้)
ป้ายรถเมล์ 2.5 ล้าน จะดูทั้งทีต้องใช้ทั้งแว่นขยายและคุกเข่า
สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้จัดทำป้ายรถเมล์ในปี 2559 ที่ในโครงการป้ายรถเมล์ 2 ภาษา เพื่อให้ข้อมูลการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนแก่นักท่องเที่ยวและชาวต่างชาติ ในพื้นที่ย่านการท่องเที่ยว เช่น บริเวณรอบเกาะรัตนโกสินทร์ บริเวณหมอชิต-สะพานควาย บริเวณโดยรอบอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ บริเวณสยาม-ราชประสงค์ บริเวณสุขุมวิท-อ่อนนุช บริเวณสีลม-สาธร และ บริเวณวงเวียนใหญ่-เพชรเกษม
และด้วยจุดประสงค์ของป้านที่จะบอกข้อมูลทั้งสถานที่สำคัญและสายรถเมล์ทำให้บางป้ายมีข้อมูลเต็มพื้นที่และตัวอักษรมีขนาดเล็กเกินและอาจไม่สะดวกต่อการใช้งาน เพราะได้ถูกกำหนดใหมีขนาดจำกัด 1.20x1.80 เมตร งบประมาณ รวม 2.5 ล้านบาท ซึ่งโครงสร้างของป้ายเป็นโครงสร้างถาวรโดยเป็นโครงสร้างเหล็กและอะลูมิเนีย สภาพคงทนต่อทุกสภาพอากาศ สามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัยต่อประชาชน ส่วนข้อมูลในป้ายเป็นรูปสติกเกอร์ ที่สามารถปรับเปลี่ยนข้อมูลได้ตลอด
แต่ตอนนี้คงต้องรอดูว่าป้ายรถเมล์ที่กำลังปรับปรุงใหม่จะออกมาในรูปโฉมใดเพราะ กทม.อยู่ระหว่างการจัดทำข้อมูลในป้ายรถเมล์ 2 ภาษาใหม่ ซึ่งจะมีการออกแบบข้อมูลให้สามารถใช้งานได้สะดวก เหมาะสมยิ่งขึ้น
กรุงเทพมหานครชีวิตดีๆที่ลงตัว (มั้ง?)
ติดตามข่าววันนี้ได้ที่นี่ >> www.pptvhd36.com/tags/ข่าววันนี้