มูลนิธิบูรณะนิเวศ เผยสาเหตุ “ของเสียอันตราย” ทะลักเข้าประเทศ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ขยะอิเล็กทรอนิกส์ และขยะพลาสติก ที่ถูกตรวจพบในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา กลายเป็นประเด็นร้อน เมื่อพบว่า ประเทศไทย กำลังกลายเป็นที่รับทิ้งขยะอันตรายแหล่งใหญ่จากทั่วโลก ทั้งจากการนำเข้าโดยการสำแดงเท็จ และจากการนำเข้าโดยได้รับอนุญาตถูกต้อง แต่กากของเสียกลับไม่ถูกกำจัดอย่างถูกต้อง วันนี้ มูลนิธิบูรณะนิเวศ แถลงเปิดเผยสาเหตุที่มาของขยะอันตรายเหล่านี้

วันนี้ (21 มิ.ย.61) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การอำนวยความสะดวกในการจัดตั้งโรงงานคัดแยกขยะประเภท 105 โรงานรีไซเคิล ประเภท 106, การปลดล็อคมาตรการควบคุมใน พ.ร.บ.วัตถุอันตราย, การออกประกาศ อนุญาตให้ฝังกลบของเสียในโรงงาน และการออกประกาศ คสช.ปลดล็อคผังเมือง ให้ตั้งโรงงานอุตสาหกรรม รวมไปถึงนโยบายการเปิดเสรีทางการค้ากับ 14 ประเทศ และการพยายามหาช่องว่างบางประเด็นในอนุสัญญาบาเซล คือ ประเด็นหลักที่มูลนิธิบูรณะนิเวศ ตั้งข้อสังเกตว่า อาจเป็นสาเหตุหลักที่ ของเสียอันตรายถูกนำเข้ามาสู่ประเทศไทย เมื่อประเทศจีน ประกาศห้ามนำเข้าขยะ

โดยอำนาจหน้าที่และบทบาทของกรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นประเด็นแรก ที่นางเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ตั้งข้อสังเกตว่า อาจเป็นส่นหนึ่งที่ทำให้ขยะ หรือของเสียอันตราย จากทั่วโลก มีปลายทางมาสู่ประเทศไทย ตั้งแต่การออกใบอนุญาตจัดตั้งโรงงานคัดแยกขยะ ประเภท 105 และโรงงานรีไซเคิล ประเภท 106 ให้ง่ายและเร็วขึ้น โดยพบว่า มีบางโรงงานมีใบอนุญาต 9 ใบ บางแห่งมีถึง 16 ใบ พร้อมเปิดช่องให้โอนหรือเช่าโรงงานได้ง่ายขึ้น

ทั้งนี้มูลนิธิบูรณะนิเวศ ยังตั้งคำถามถึงประเด็นที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม ออกประกาศให้โรงงานทุกประเภท สามารถฝังกลบสิ่งปฏิกูลได้ภายในพื้นที่ของโรงาน โดยไม่ต้องขออนุญาตเป็นโรงงานประเภ 105 ว่า จะสามารถตรวจสอบได้อย่างไรว่า ขยะ ที่ถูกฝังกลบตมประกาศนี้ จะไม่ใช่ ของเสียอันตราย และยังตั้งข้อสังเกตว่า ที่ผ่านมา มีการยกเว้นการใช้ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย บางมาตรา ซึ่งตีความได้ว่า ไม่ต้องขออนุญาต และไม่ต้องขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายบางชนิด เมื่อนำไปเชื่อมโยงว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยมีนโยบายเปิดเสรีทางการค้า โดยทำข้อตกลงการค้าเสรีกับ 14 ประเทศ ตั้งแต่ปี 2548 โดยทุกฉบับมีเนื้อหาที่เปิดช่องให้ไทยนำเข้าของเสียอันตรายจากประเทศเหล่านี้ โดยเฉพาะจากญี่ปุ่น และจีน รวมทั้งยังเห็นว่า ประกาศ คสช.ฉบับที่ 4/2559 เรื่องการยกเว้นผังเมืองรวม เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ ประเทศไทย ถูกมองว่า เป็นแหล่งที่เหมาะสมสำหรับการนำขยะอันตรายมาที่ไทย

นอกจากนี้จุดสีแดงในแผนที่ ๆ มูลนิธิบูรณะนิเวศ นำมาแสดง คือ ประเทศที่มีข้อมูลว่า เป็นแหล่งรับกำจัดขยะของโลก ทั้งขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะพลาสติก ซึ่งเดิมมีแหล่งใหญ่สุดอยู่ที่ประเทศจีน ส่วนประเทศไทย พบปริมาณการนำเข้ารองลงมาจากจีนและอินเดีย ทั้งที่ประเทศเล็กกว่ามาก และเมื่อจีนประกาศห้ามนำเข้าขยะทุกชนิดเมื่อต้นปีนี้ ทำให้โรงงานรับกำจัดขยะจากจีน ย้ายฐานมาที่ไทย ซึ่งมูลนิธิบูรณะนิเวศ ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นเพราะเงื่อนไขทางกฎหมายเอื้ออำนวย

อย่างไรก็ตามเมื่อมองว่า ของเสียอันตราย ถูกนำเข้ามาสู่ปะเทศไทย ผ่านนโยบายและกฎหมายที่เอื้ออำนวย ทำให้มูลนิธิบูรณะนิเวศ เสนอแนวทางแก้ไขเฉพาะหน้าว่า ไทย ต้องออกมาตรการห้ามนำเข้าขยะ เช่นเดียวกับที่จีนทำ โดยเสนอให้ห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะพลาสติก พร้อมทั้งขอให้ยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่ 4/2559 เรื่องการยกเว้นการใช้ผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท และให้เร่งสอบสวนความถูกต้อง ในการออกใบอนุญาตจัดตั้งโรงงานประเภท 105 และ 106 ว่าที่ผ่านมา ออกใบอนุญาตเหมาะสมหรือไม่ ส่วนข้อเสนอในระยะยาว มูนิธิบูรณะนิเวศ เสนอให้รัฐบาล ทบทวนแก้ไขหรือยกเลิก กฎหมายและประกาศบางฉบับ ที่ให้โรงงงานประเภท 105 และ 106 ได้รับการยกเว้นตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย และให้แยกประเภทกิจการโรงาน เช่น ต้องแยกกิจการคัดแยกของเสียอันตรายและของเสียไม่อันตรายออกจากกัน แยกการฝังกลบของเสียอันตรายและไม่อันตรายออกจากกัน แยก ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ออกจากโรงงานคัดแยกขยะทั่วไป แยกประเภทโรงงานรีไซเคิลระหว่าง ของเสียอันตราย และ วัสดุที่ไม่ใช้แล้วออกจากกัน และแยกการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ออกมาให้ชัดเจน รวมทั้งเสนอให้การขออนุญาตเปิด กิจการโรงงานประเภทกำจัดของเสียอันตราย 101 โรงงานคัดแยก 105 และโรงงานรีไซเคิล ประเภท 106 ต้องทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพก่อน

สำหรับในเชิงนโยบาย เสนอให้ยกเลิกการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.โรงงาน ฉบับใหม่ โดยขอให้แยกอำนาจการกำกับดูแลเกี่ยวกับมลพิษในโรงงาน ออกจากอำนาจของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ไปอยู่ในอำนาจของกรมควบคุมมลพิษแทน และเสนอให้รัฐบาล ทบทวน ปรับปรุงแก้ไขข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศบางประเด็น เพื่อห้ามนำเข้าขยะอันตรายหลายรายการ

 

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ