กรมโรงงานอุตฯ ประกาศเลิกนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์-เศษพลาสติกโดยสิ้นเชิง


โดย PPTV Online

เผยแพร่




หลัง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวานนี้ และแสดงความไม่พอใจอย่างมากกับปัญหาการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะพลาสติกมาในประเทศไทย วันนี้มีการเรียกประชุมของกระทรวงอุตสาหกรรม และเตรียมจะประกาศยกเลิกการนำเข้าซากอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกโดยสิ้นเชิงในวันจันทร์หน้า ส่วน พล.ต.อ.วิระชัย ยังลงพื้นที่ตรวจสอบ 1 ใน 5 โรงงาน ที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าวัตถุอันตราย แต่กระทำความผิด และพบว่า ไม่ได้มีเครื่องจักรอยู่ที่โรงงานเพียงพอ ทั้งที่ขออนุญาตนำเข้าในปริมาณถึง 45000 ตัน

วันนี้ (21 มิ.ย.61) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท โอ.จี.ไอ.จำกัด แห่งนี้ เป็น 1 ใน 7 บริษัทที่ได้รับอนุญาตนำเข้า “ขยะอิเล็กทรอนิกส์” ถูกกฎหมาย ซึ่งนำเข้ามาแล้ว ประมาณ 700 กว่าตัน และแจ้งขอนำเข้า “ซากอิเล็กทรอนิกส์” 45,000 ตัน ในปีนี้ กับกรมโรงงานอุตสาหกรรม แต่เมื่อตรวจสอบสภาพโรงงานพบเศษสายไฟจำนวนมาก และห้องโล่งที่มีเครื่องจักรเพียง 1 เครื่อง

พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่นำกำลังเข้าตรวจสอบเห็นว่า จำนวนเครื่องจักรที่พบในวันนี้ ไม่สัมพันธ์กับปริมาณซากอิเล็กทรอนิกส์ที่ขออนุญาตนำเข้ามา จึงจะต้องตรวจสอบกลับไปที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม ว่าเหตุใดจึงอนุญาตให้นำเข้าซากอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมาก และมีหลักฐาน  ขณะที่ นายสมพล โนดไธสง อุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรปราการ ชี้แจงว่า เคยเข้ามาตรวจสอบที่ บริษัท โอ จี ไอ แล้ว แต่การเสนอหรือเพิ่มปริมาณนำเข้า เป็นอำนาจของกรมโรงงานอุตสาหกรรม

ทีมข่าว PPTV ได้คุยกับ นายกิตติชัย ชัยสงคราม ผู้จัดการบริษัท โอ จี ไอ จำกัด ยอมรับว่าเจ้าของบริษัทเป็นชาวต่างชาติ  และอ้างว่า บริษัทเพิ่งนำเข้าซากอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อ 4 เดือนที่ผ่านมา แต่ขนย้ายเครื่องจักรบางส่วนออกไป หลังเจ้าหน้าที่ตรวจสอบหลายแห่ง และอ้างด้วยง่า ซากอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดที่นำเข้ามา ดำเนินการคัดแยกเอง และเอาของมีค่าไปขาย ก่อนส่งแผ่นพีซีบีกลับประเทศเกาหลี ส่วนสายไฟจะขายให้บริษัทอื่นๆ โดยยืนยันว่า ของที่ส่งต่อไปบริษัทอื่น มีเฉพาะสายไฟที่มีปริมาณมากเท่านั้น

แม้ผู้จัดการบริษัท โอ จี ไอ จะยืนยันว่า ไม่เคยส่งต่อซากอิเล็กทรอนิกส์ ต่อไปให้โรงงานอื่น เพราะเป็นกระทำที่ผิดกฎหมาย แต่ข้อมูลของตำรวจพบว่า บริษัท โอ จี ไอ เป็นโรงงานที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม ตรวจพบว่าส่งซากอิเล็กทรอนิกส์ 350 ตัน ให้โรงงาน ดับบลิว เอ็ม ดี ไทย รีไซคลิ้ง จำกัด ที่ อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา และก่อนหน้านี้ ทีมข่าว PPTV ยังคยได้รับคำยืนยันจากโรงงาน เหอเจีย เอ็นเตอร์ไพรส์ ที่ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ว่ารับของต่อมาจาก บริษัท โอ จี ไอ หลังโรงงานนี้ถูกชาวบ้านร้องเรียนและตรวจพบซากอิเล็กทรอนิกส์เช่นกัน

การตรวจสอบวันนี้ เจ้าหน้าที่ยังพบวัตถุอันตรายที่ใช้หลอมโลหะให้เชื่อมกัน ซึ่งไม่สามารถมีไว้ครอบครองได้ภายในโรงงาน และยังพบแบตเตอรี่โทรศัพท์เก่า ในโรงงานจำนวนมาก ซึ่งคาดว่าเป็นของนำเข้ามาจากต่างประเทศ แต่ผู้จัดการบริษัทอ้างว่า เป็นของภายในประเทศที่เตรียมจะส่งไปประเทศเกาหลี จึงต้องตรวจสอบอีกครั้ง และยังพบว่า บริษัท โอ จี ไอ จำกัด ซื้อโรงงานต่อมาจาก บริษัท ไวโรกรีน (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งทั้ง 2 แห่ง อยู่ใน 5 โรงงาน ที่ได้รับอนุญาตนำเข้าวัตถุอันตรายจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม และถูกตรวจพบว่ากระทำความผิดเช่นเดียวกัน



อีกจุดหนึ่ง ตำรวจนำกำลังเข้าตรวจสอบ โรงงานกัดกลึงโลหะ และหลอมพลาสติก ชื่อ ฟ๋งเหยียน จำกัด ย่านบางพลีใหญ่ จ.สมุทรปราการ ซึ่งได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านว่า เสียงดังและส่งกลิ่นเหม็น โดยถูกร้องเรียนไปแล้วหลายครั้ง และถูกสั่งให้ปรับปรุงให้เสร็จก่อนวันที่ 31 พฤษภาคม 2561 แต่บริษัทยังลักลอบเปิดดำเนินกิจการอยู่ ตำรวจ พบว่า โรงงานฟ๋งเหยียน เคยทำหนังสือแจ้งท้องถิ่นเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2561 มีเนื้อหาว่า หากผลการตรวจสอบ ไม่พบว่าบริษัทก่อมลพิษหรือส่งเสียงดังเกินมาตรฐาน จะเรียกค่าเสียหาย 630000 ดอลล่าร์สหรัฐ กับผู้ที่ร้องเรียน ฐานทำให้ต้องหยุดการผลิต แต่เมื่อตรวจสอบแล้ว ตำรวจแจ้งข้อหา แจ้งความเท็จกับผู้ดูแลโรงงาน ประกอบกิจการโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต เพราะเครื่องจักรยังมีความร้อนอยู่แต่กลับบอกว่าไม่ดำเนินกิจการ ต่อเติมอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต ปล่อยควันและน้ำเสียโดยไม่ผ่านระบบบำบัด และสั่งให้ท้องถิ่นปิดโรงงานทันที

ส่วนที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เรียกประชุมด่วน หลัง พล.อ.ประวิตร สงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี สั่งตั้งคณะกรรมการและประกาศยกเลิกการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์เมื่อวานนี้ ในที่ประชุมวันนี้ หารือ เกี่ยวกับแนวทางห้ามนำเข้าซากอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกจากต่างประเทศอย่างถาวร โดยนายมงคล พฤกษ์วัฒนา  อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ระบุว่า ภายในสัปดาห์หน้า เตรียมจะยกเลิกใบอนุญาตการนำเข้าซากอิเล็กทรอนิกส์และห้ามการนำเข้าเศษพลาสติกโยสิ้นเชิง โดยจะให้ใช้วัตถุดิบภายในประเทศเท่านั้น ตาม พ.ร.บ.โรงงาน มาตรา 32 วรรค 2 ที่กำหนดห้ามนำวัตถุดิบนำเข้าจากต่างประเทศเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยบริษัทที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าวัตถุอันตราย 7 แห่ง พบการกระทำความผิด 5 แห่ง ส่วนอีก 2 บริษัทที่ทำถูกต้อง จะเปิดโอกาสให้ยื่นขออนุญาตเป็นรายกรณี ผ่านคณะอนุกรรมการเพื่อบูรณาการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างสร้างความเข้าใจกับ บริษัทที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการนี้ 
 

ส่วนมาตรการจัดการซากอิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่ในประเทศ กรมโรงงานอุตสาหกรรม ออก 3 แนวทางที่กำชับให้ปฎิบัติเร่งด่วน  คือ ระงับการอนุญาตนำเข้าซากอิเล็กทรอนิกส์แก่บริษัทนำเข้า 5 ราย ผลักดันให้นำซากอิเล็กทรอนิกส์กลับโรงงานต้นทาง และโรงงานใดที่นำเข้าซากอิเล็กทรอนิกส์ และเศษพลาสติกผิดเงื่อนไข ให้ส่งกลับไปยังโรงงานที่ได้รับใบอนุญาต ส่วนกระบวนการขนส่งซากอิเล็กทรอนิกส์ จะเข้มงวดการใช้ระบบจีพีเอสมาก และให้บริษัทจดบันทึกเส้นทางเดินรถ ตั้งแต่ต้นทางจนถึงบริษัทผู้นำเข้าเพื่อป้องกันการลักลอบระหว่างทาง

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ