เปิดสาเหตุไทยเป็นปลายทางขยะอิเล็กทรอนิกส์จากทุกมุมโลก


โดย PPTV Online

เผยแพร่




การนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ ขยะพลาสติก และขยะประเภทต่างๆในกว่า 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงเป็นวงกว้าง และได้รับความสนใจจากทุกภาคส่วนในสังคม และเกิดการตั้งคำถามว่า.. ประเทศไทยกำลังเป็นเป้าหมายใหม่ของการทิ้งขยะของนานาชาติหรือไม่? และเหตุใดการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมหาศาลถึงเป็นเรื่องง่ายดาย

จากกรณีเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้นำกำลังตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบโรงงาน บริษัท บริษัท ดับบลิว เอ็ม ดีไทย รีไซคลิ้ง จำกัด บนเนื้อที่กว่า 100 ไร่ ในอำเภอแปลงยาว จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่มีขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมากวางเรียงรายอยู่โดยรอบของโรงงาน ก่อนจะมีการขยายผลไปสู่การขยายผลตรวจค้นและดำเนินการตามกฎหมายกับอีกหลายๆโรงงานที่มีการกระทำผิดลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์แบบผิดกฎหมาย รวมไปถึงขยะพลาสติก และของเสียอันตรายอื่นๆ

วันนี้(21 มิ.ย.61) ทางมูลนิธิบูรณะนิเวศ ได้แถลงข่าวเปิดเผยถึงสาเหตุการนำเข้าขยะพิษจากนานาชาติ ที่ทะลักเข้าสู่ประเทศไทย โดยมีชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ จาก 7 จังหวัด ประกอบด้วย ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง สมุทรสาคร เพชรบุรี ราชบุรี และสระบุรี

ทางมูลนิธิฯได้ให้ข้อมูลถึงหน้าที่ความรับผิดชอบของกรมโรงงานอุตสาหกรรมในการนำเข้าวัตถุของเสียอันตราย ประกอบด้วย การพิจารณาการขออนุญาตนำเข้า-ส่งออกของเสียอันตรายตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง, การกำหนดหลักเกณฑ์ที่ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติการขอรับใบอนุญาต เพื่อประกอบกิจการ และเลิกประกอบกิจการ รวมไปถึงการขอต่อใบอนุญาต และขอขยายโรงงาน, การควบคุม กำกับ ดูแล การประกอบกิจการโรงงาน รวมถึงกำหนดมาตรฐานและวิธีการควบคุมการปล่อยของเสีย หรือ มลพิษ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด, ออกกฎหมายเพื่อควบคุมการจัดการของเสียอุตสาหกรรม และมีอำนาจในการพิจารณาคำขออนุญาตนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านแดนตามอนุสัญญาบาเซล

โดย นางสาวเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ เปิดเผยว่า แหล่งที่มาของขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ขยะอันตราย หลายๆประเภท มีแหล่งที่มาจากหลายๆประเทศทั่วโลก ทั้งออสเตรเลีย เยอรมนี อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม สิงคโปร์ และประเทศอื่นๆ ได้ส่งขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมากเข้ามายังประเทศไทยเฉลี่ยกว่า 1 แสนตันต่อปี ซึ่งเข้ามาในรูปของตู้สินค้า โดยในตู้สินค้าแต่ละตู้ใช้การขนส่งทางเรือขึ้นที่ด่านศุลกากร ท่าเรือแหลมฉบัง

การจะผ่านด่านศุลกากรได้ ต้องผ่านการตรวจสอบ ซึ่งระบบการตรวจสอบก็จะใช้ระบบเอ็กซเรย์ มีการนำตู้ขนาดใหญ่ผ่านเข้าสายพานของการเอ็กซเรย์ และเมื่อเอกซเรย์เสร็จแล้ว บริษัทไหนเป็นผู้นำเข้าสินค้าก็จะมารับตู้สินค้าไป ซึ่งโดยส่วนมาก เมื่อนำเข้ามาแล้ว ก็จะไปสู่โรงงานคัดแยก หรือว่าโรงงานแปรรูป และ เมื่อเศษสุดท้ายที่เหลือจากการคัดแยก จะเหลือพวกเศษซากต่างๆ ก็จะสามารถฝังกลบได้ที่โรงงานนั้น เป็นไปตามกฎหมายที่กฎหมายประเทศไทยมีอยู่

สิ่งที่น่าสนใจของเรื่องนี้ คือปริมาณนำเข้ามา มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ นับจากที่มีข้อตกลงการค้าที่เอื้ออำนวยให้มีการนำสินค้าเหล่านี้เข้ามา ทั้งการนำเข้ามาใช้ระโยชน์ หรือเข้ามาเพื่อทิ้งอย่างเดียว ก็สามารถกระทำได้ ไม่ถือว่าขัดต่อกฎหมายเพียงแต่ว่านำเข้ามาบริษัทผู้ส่งออกจากประเทศต้นทาง กับประเทศปลายทาง ตัวอย่างเช่น ประเทศไทยจะต้องมีการอนุมัติ อนุญาต ให้มีการส่งออกและนำเข้ามาได้ ตรงจุดนี้เหมือนเป็นการเกิดช่องว่างทางกฎหมาย ตรงที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้มีการออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมยกเว้นการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 และพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย(ฉบับที่3) พ.ศ.2551 เพื่ออำนวยความสะดวกแก่การประกอบกิจการเหล่านี้ ทั้งในเรื่องของการผลิต การมีไว้ในครอบครอง การส่งออก และการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย ไปจนถึงการที่รัฐบาลได้ออกคำสั่ง คสช. ที่ 4/2559 เรื่องการยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท ซึ่งรวมโรงงานประเภทที่ 101 สำหรับการบำบัดของเสียรวม, โรงงานลำดับที่ 105 สำหรับการคัดแยกและฝังกลบ และโรงงานลำดับที่ 106 สำหรับกิจการแปรรูปของเสีย ซึ่งคิดว่าจะเป็นแนวทางการแก้ปัญหาขยะของประเทศ แต่กลับยิ่งเป็นช่องโหว่ ให้โรงงานเหล่านี้ขยายฐานที่ตั้ง ส่งผลกระทบให้เกิดขึ้นกับผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ชุมชน

ทั้งนี้ ทางมูลนิธิบูรณะนิเวศ ได้เสนอแนวทางการแก้ปัญหาต่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทั้งแบบเร่งด่วน และระยะยาว โดยวิธีการแก้ปัญหาเร่งด่วน คือ 1.ยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ 4 / 2559 เรื่องการยกเว้นการบังคับใช้กฎกระทรวงให้ใช้ผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกจการบางประเภท 2.เร่งออกประกาศห้ามนำเข้าสินค้าประเภอขยะอิเล็กทรอนิกส์ และขยะมูลฝอย หรือ วัสดุใช้แล้ว 4 ประเภท ได้แก่ ขยะพลาสติก, ตะกรันวาเนเลียม, ขยะกระดาษที่ไม่จัดประเภท และขยะจำพวกสิ่งทอบางชนิดเช่นเดียวกับจีน และ 3 .สอบสวนความถูกต้อง และเหมาะสมของใบอนุญาตนำเข้า และใบอนุญาตการประกอบกิจการโรงงานลำดับที่ 105, 106 และโรงงานที่เกี่ยวกับการกำจัด และรีไซเคิลของเสีย

วิธีการแก้ปัญหาระยะยาว 1. ทบทวน หรือ แก้ไข ยกเลิก กฎหมายบางฉบับ เชข่นประกาศฉบับต่าง ของ กรมโรงงานอุตสาหกรรม ที่ให้ยกเว้นการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย สำหรับโรงงาน 105, 106 ฯลฯ และแยกประเภทกิจการบางอย่างออกจากกัน 2.ยกเลิกร่างพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. ...ฉบับปัจจุบัน และ 3.ทบทวนและดำเนินการเพื่อให้มีการปรับปรุงแก้ไขความตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจบางประเด็น เพื่อห้ามการนำเข้าขยะอันตรายบางรายการ

ด้านชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบความเดือดร้อนในพื้นที่ตั้งโรงงานคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ อย่าง นางสำออย ประกอบสุข ชาวบ้าน ต.บางบุตร อ.บ้านค่าย จ.ระยอง เล่าว่า ทีแรกโรงงานก็มาตั้งและบอกว่ามาซื้อขยะคัดแยก แต่ตอนนี้กลับมีหลายอย่างที่มารวมไว้และเป็นสารพิษ ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายเมื่อหายใจเข้าไป จะได้กลิ่นฉุนรุนแรง และเด็กๆก็มีอาการเหมือนหายใจไม่ออก แน่นหน้าอกแล้วก็ปวดหัว นอกจากนี้ยังได้รับผลกระทบในเรื่องของพื้นที่การทำการเกษตร ยางการทำสวนยางพาราอีกด้วย

สิ่งที่ต้องการ คือ อยากให้ยุติการประกอบการของโรงงาน เนื่องจากไม่สามารถปรับปรุงได้ ก็แสดงว่าไม่สามารถอยู่ร่วมกับชาวบ้านได้ อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปตรวจสอบและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะเกิดผลกระทบกับชาวบ้านมานานกว่า 6 ปี

โดยเมื่อวันที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ให้มีการยกเลิกการนำเข้า “ขยะอิเล็กทรอนิกส์” ซึ่งเป็นมาตรการระยะยาว และหากติดขัดหรือมีปัญหาจำเป็นต้องใช้มาตรา 44 ในการจัดการให้ดำเนินการตามเห็นสมควร

เบื้องต้นให้มีมาตรการเร่งด่วน สั่งห้ามขยะสารพิษเข้าประเทศโดย ส่วนการจัดการหากพบว่าเป็นการนำเข้าโดยสำแดงเท็จ ให้ผลักกลับประเทศต้นทางและดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้อง ส่วนที่ตรวจสอบได้ให้ส่งคืนบริษัทนำเข้าทั้ง 7 บริษัท ที่ได้รับอนุญาตและให้ทำลายตามกระบวนการ รวมถึงการดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้อง

พร้อมตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลปัญหานี้ โดยมีกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมเป็นเจ้าภาพ มีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมศุลกากร กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และตำรวจ ช่วยกันตรวจสอบและใช้มาตรการทางกฎหมาย

อ่านเพิ่มเติม : “ประวิตร”ลั่นยกเลิกนำเข้า “ขยะอิเล็กทรอนิกส์” หากจำเป็นต้องใช้มาตรา44 ให้ดำเนินการทันที

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ