ย้อนดูที่มา“Thai NavySEAL”รบพิเศษกองทัพเรือไทย


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เมื่อเอ่ยถึงหน่วยซีล (SEAL) เชื่อว่าหลายคนคงนึกถึงหน่วยที่ไปปฏิบัติการสังหาร นายอุซามะฮ์ บิน ลาดิน หัวหน้ากลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะฮ์ เมื่อปี2554 และเป็นหน่วยรบพิเศษที่ขึ้นชื่ออันดับต้นๆของโลก

หากย้อนกลับไปเมื่อช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กองกำลังทางเรือของทั้งฝ่ายพันธมิตรและฝ่ายอักษะ ต่างส่งหน่วยรบพิเศษ ซึ่งเป็นหน่วยรบขนาดเล็ก เข้าปฏิบัติการทำลายกองเรือและสถานที่สำคัญทางยุทธศาสตร์ของฝ่ายตรงข้าม ทำการก่อวินาศกรรมและปฏิบัติการลับอื่นๆ ซึ่งผลการปฏิบัติของแต่ละฝ่ายต่างก็สร้างความเสียหายให้กับฝ่ายตรงข้ามเป็นอย่างมาก

ในปี 2495 กระทรวงกลาโหมของไทย ได้มีความคิดที่จะจัดตั้งหน่วยทำลายใต้น้ำขึ้นมา และได้เชิญผู้แทนเหล่าทัพกับกรมตำรวจไปประชุม เรื่อง การจัดตั้งหน่วยฝึกว่ายน้ำ ร่วมกับ เจ้าหน้าที่กองทัพเรือสหรัฐฯ จึงมีมติจัดตั้งหน่วยฝึก

ต่อมาในต้นปี 2496 บริษัท SEA  SUPPLY  ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือแก่กรมตำรวจในขณะนั้น ได้เสนอให้การสนับสนุนการฝึกด้านการทำลายใต้น้ำให้กับกำลังพลของกองทัพเรือ และ กรมตำรวจ โดยทางบริษัทขอให้ กองทัพเรือ และกรมตำรวจ ปิดเป็นความลับด้วยเหตุผลบางประการ จากนั้นกองทัพเรือ ให้ความเห็นชอบและมีคำสั่งให้ข้าราชการสังกัด กองทัพเรือ จำนวน 7 นาย ร่วมกับข้าราชการสังกัดกรมตำรวจ 7 นาย ไปเข้ารับการฝึกดังกล่าว มีระยะเวลาในการฝึก 11 สัปดาห์ ที่เกาะไซปัน

แต่ทหารเรือที่ผ่านการฝึกครั้งนั้นมีจำนวน 7 นาย จึงไม่เพียงพอที่จะจัดตั้งเป็นหน่วยงานหรือทำงานได้ กองเรือยุทธการ จึงเสนอขอกองทัพเรือ จัดตั้งหน่วยฝึกและอบรมหน่วยทำลายใต้น้ำขึ้น เมื่อ 24 พ.ย.2496 โดยมี ร.ท.วิสนุ  ปราบศากุน เป็นหัวหน้าหน่วยฝึก มีทหารอเมริกันและผู้ที่ผ่านการฝึกจากต่างประเทศมาแล้วเป็นครูฝึก มีระยะเวลาในการฝึกประมาณ 2 เดือน ในรุ่นแรกนี้มีข้าราชการสังกัด กองทัพเรือ สมัครเข้ารับการฝึก จำนวน 62 นาย มีผู้ผ่านการตรวจสุขภาพและผ่านการตรวจคุณสมบัติต่างๆ และได้รับการคัดเลือกเข้าฝึกอบรม จำนวน14 นาย รุ่นของการฝึกนี้นับเป็นนักทำลายใต้น้ำ รุ่นที่ 1 สำหรับผู้ที่ฝึกมาจากเกาะไซปัน นับเป็นรุ่น ศูนย์ หรือ รุ่น โอ ( o )

ในที่สุด กองทัพเรือ ได้ตั้งอัตราหมวดทำลายใต้น้ำขึ้น เมื่อ 18 ต.ค. 2498 โดยเป็นหน่วยขึ้นตรง กองเรือยุทธการ  และในปี 2509 กองทัพเรือ จึงอนุมัติให้หมวดทำลายใต้น้ำฯ พัฒนาขีดความสามารถให้ปฏิบัติงานได้เช่นเดียวกับหน่วยซีลของสหรัฐฯ และใน18 มี.ค.2534 กองทัพเรือ อนุมัติให้ใช้อัตราหน่วยสงครามพิเศษทางเรือ ขึ้นตรง กองเรือยุทธการ มีอัตราการจัดเป็นหน่วยระดับกรม  ประกอบด้วย กองบังคับการ กองรบพิเศษ1-3 โรงเรียนสงครามพิเศษทางเรือ และกองสนับสนุน 

สำหรับหน่วยซีล หรือ “นักทำลายใต้น้ำจู่โจม” หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า "มนุษย์กบ" จะใช้ระยะเวลาการฝึกประมาณ 7-8 เดือน นับเป็นการฝึกหลักสูตรทางทหารที่มีระยะเวลานานที่สุดของไทย จะแบ่งออกเป็น 5 ช่วง ได้แก่ การแนะนำการฝึกเบื้องต้น ฝึกการออกกำลังกายและการฝ่าอุปสรรคต่างๆ ใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์การฝึกจริง ใช้เวลาประมาณ 6 สัปดาห์ การฝึกแบบเข้มข้น ที่ขึ้นชื่อว่า  "สัปดาห์นรก" ใช้เวลา 120 ชั่วโมงโดยไม่มีการหยุดพัก การฝึกสอนยุทธวิธีต่างๆ และ การฝึกยุทธวิธีในสภาพจริง ใช้เวลาประมาณ 2 เดือน

ในแต่ละปีจะมีทหารทั้งสัญญาบัตร และชั้นประทวน ที่มีอายุไม่เกิน 29ปีสมัครเข้าเรียนหลักสูตรนี้เกือบๆ100 นาย แต่คนที่ีจบหลักสูตรมีเพียงประมาณปีละ 20 กว่านายเท่านั้น เพราะหลักสูตรนี้ถือว่าหนักและโหดที่สุดก็ว่าได้ จึงมีคำพูดเสมอว่า “ไม่มีที่ว่างสำหรับคนอ่อนแอ”

ล่าสุด หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ ได้ฝึกนักทำลายใต้น้ำจู่โจม รุ่นที่ 45 โดยมีผู้จบหลักสูตร มีทั้งหมด 25 นาย จากกองทัพเรือ จำนวน 21 นาย กองบัญชาการกองทัพไทย 1 นาย กองทัพบก 1 นาย และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 2 นาย มีการประกับเครื่องหมาย ความสามารถนักทำลายใต้น้ำจู่โจม เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ที่ผ่านมา  

ส่วน“ภารกิจหลักของหน่วยนี้รับผิดชอบ คือ การต่อต้านการก่อการร้ายสากล  การปฏิบัติการจิตวิทยา ในพื้นที่กองทัพเรือรับผิดชอบ การสำรวจหาด, ทำลายสิ่งกีดขวางหน้าหาด,ตัดรอนเป้าหมายสำคัญทางทหาร พื้นที่ยกพลขึ้นบก  ดำเนินการด้านการข่าวลับ ก่อวินาศกรรม เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการทางเรือ ปฏิบัติการค้นหาและถอดทำลายวัตถุระเบิด การช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล ดำเนินการฝึกกำลังพลทดแทนของ หน่วยสงครามพิเศษทางเรือ ปฏิบัติการสงครามนอกแบบ ถวายอารักขาและรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ และ ปฏิบัติกิจพิเศษอื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย”

 

ที่มาข้อมูลบางส่วน :หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ  

ภาพ:กองทัพเรือ

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ