หุ่นยนต์ดำน้ำบังคับระยะไกล นวัตกรรมกู้ภัยช่วยค้นหานักฟุตบอล-โค้ชติดถ้ำ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




จากกรณีที่ทีมฟุตบอลเยาวชน และโค้ชจำนวน 13 คน สูญหายเข้าไปในถ้ำหลวง เขตวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย วันนี้ (26 มิ.ย. 2561) ได้เข้าสู่วันที่ 4 ของการค้นหาแล้ว โดยวันนี้จะเป็นปฏิบัติการณ์ความร่วมมือของเจ้าหน้าที่ หน่วยซีล นักดำน้ำ และยังมีอีกหนึ่งความช่วยเหลือทางด้านเทคโนโลยี หนึ่งในนั้นคือหุ่นยนต์ดำน้ำบังคับระยะไกล (ROV) ถูกส่งไปจากกรุงเทพมหานคร เพื่อร่วมปฎิบัติภารกิจการค้นหาครั้งนี้ด้วย

หุ่นยนต์ดำน้ำบังคับระยะไกล หรือ ROV เป็นผลงานของทีมงานศูนย์วิจัยเฉพาะทางวิศวกรรมอากาศและทะเล ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและการบิน-อวกาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

โดยมีทีมงาน 8 คน จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และอีกบางส่วนจากศูนย์พัฒนาการประมงแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAFDEC) ได้เตรียมหุ่นยนต์ดำน้ำบังคับระยะไกล (ROV) ออกเดินทางด้วยเครื่องบินลำเลียงกองทัพอากาศ C-130 จากท่าอากาศยานดอนเมือง เพื่อเข้าร่วมภารกิจค้นหา ผู้สูญหายในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงรายทั้ง 13 คน

สำหรับทีมจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ นั้น มีดีกรีครองตำแหน่งแชมป์หุ่นยนต์กู้ภัยโลก 8 ครั้ง ขึ้นชื่อว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่ผลิตหุ่นยนต์ได้ดีที่สุดในประเทศไทย โดยเจ้าหน้าที่ชุดช่วยเหลือผู้ประสบภัย จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ประกอบไปด้วย เจ้าหน้าที่จากจำนวน 18 คน พร้อมหุ่นยนต์ดำน้ำ (ROV) จำนวน 1 เครื่อง และโดรนติดกล้องตรวจจับความร้อนสำหรับบินสำรวจ จำนวน 2 ลำ

โดยต้นแบบของหุ่นยนต์ดำน้ำกู้ภัยมีที่มาจากเรือดำน้ำแบบไร้คนขับของต่างประเทศ ที่มีชื่อเสียงคือ “โดรนใต้น้ำ Trident” ของบริษัท OpenROV ซึ่งผลิตขึ้นเพื่อใช้ในการเก็บข้อมูลใต้ทะเลน้ำในระดับที่ไม่ลึกมาก ในต่างประเทศมีการใช้งานเพื่อขุดหาสมบัติ กำจัดขยะ และบันทึกภาพสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ใต้ทะเล

หุ่นยนต์ใต้น้ำตัวต้นแบบนี้ถูกพัฒนาขึ้นจากการนำโทรศัพท์มือถือมาใส่เคสกันน้ำ แล้วเพิ่มใบพัดขับเคลื่อน ครีบบังคับทิศทาง และระบบซอฟท์แวร์ที่ใช้ในการรับคำสั่งระยะไกล ปัจจุบันมีทั้งแบบมีสายและไร้สาย สามารถดำน้ำได้ลึกถึง 100 เมตร โดยผู้บังคับจะมองผ่านกล้องและเห็นทิวทัศน์ใต้น้ำจากจอภาพในชุดครอบหัว virtual-reality headset ที่สวมไว้ โดยจะส่งสัญญาณภาพวิดิโอ ข้อมูลทิศทางการเคลื่อนไหว ระดับความลึก ระดับอุณหภูมิใต้น้ำ กลับมายังผู้บังคับตลอดเวลา เรียกว่าผู้บังคับจะได้เห็นภาพ ณ ขณะนั้น เท่ากับที่หุ่นยนต์เห็น

คำว่า ROV นั้นย่อมาจาก Remotely Operation Vehicle ซึ่งสิ่งประดิษฐ์ของทีมงานจาก มจพ. นี้มีลักษณะและกระบวนการที่ใกล้เคียงกับของต่างประเทศ

โดยวัตถุประสงค์แรกเริ่มของหุ่นตัวนี้ก็มีไว้เพื่อการสำรวจเก็บข้อมูลใต้ทะเลลึกเช่นเดียวกัน แต่ได้นำมาประยุกต์ใช้ในการกู้ชีพโดยเฉพาะกิจ สามารถทำงานได้ต่อเนื่องนาน 2-3 ชั่วโมง มีกล้องติดอยู่กับตัวหุ่นยนต์ทำให้สามารถมองเห็นวัตถุภายในถ้ำได้ แม้จะมีอุปสรรคจำพวกดินโคลนที่อาจปะปนจนทำให้น้ำขุ่น แต่ก็ถือเป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์

นับเป็นอีกหนึ่งก้าวของวงการกู้ภัยไทย ที่นอกจากจะใช้คนในการค้นหาแล้ว ยังมีการใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าในการให้ความช่วยเหลือด้วย และนี่อาจเป็นครั้งแรกจริง ๆ ที่เราได้เห็นสิ่งประดิษฐ์ไทยที่ถูกนำมาใช้จริงในวาระสำคัญอย่างการค้นหาผู้สูญหาย ซึ่ง ณ ขณะนี้การค้นหาก็ยังคงดำเนินไปอยู่ท่ามกลางความร่วมมือของทุกฝ่าย

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ