เกิดอะไรขึ้นบ้างเมื่อ "บีทีเอส" ขัดข้องตลอดสัปดาห์


โดย PPTV Online

เผยแพร่




จากกรณีที่ระบบอาณัติสัญญาณรถไฟฟ้าบีทีเอสขัดข้องอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงวันจันทร์ (25 มิ.ย.61) ซึ่งเป็นช่วงเวลาเร่งด่วนที่ประชาชนกำลังจะเดินทางไปทำงาน โดยขบวนรถเข้า-ออกสถานีล่าช้าและหยุดนิ่งกลางทางหลายครั้งตลอดทั้งวัน จนทำให้ประชาชนที่ใช้บริการหัวร้อนไปตามๆกันจนเกิดแฮชแท็กผ่านสังคมออนไลน์ #ยกเลิกสัมปทานBTS

แต่ กทม.คงไม่สามารถทำได้เพราะสัญญาสัมปทานบีทีเอสจะสิ้นสุดในอีก 23 ปี หรือปี 2585 แต่จะปรับเป็นเงิน 1.8 ล้านบาทแทน

นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร บอกว่า จากเหตุการณ์ความขัดข้องที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นความผิดพลาดที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานงานบริการ  ดังนั้น กทม.จะมีการพิจารณาเปรียบเทียบปรับบีทีเอสเป็นจำนวนเงิน 1.8 ล้านบาทเพื่อเป็นค่าชดเชยความผิดพลาดที่เกิดขึ้น แต่ในส่วนของการพิจารณายกเลิกสัมปทานเดินรถของบีทีเอสในกรณีที่เกิดข้อผิดพลาดซ้ำซากนั้น ระบุว่าไม่สามารถยกเลิกสัญญาสัมปทานได้ จนกว่าจะสิ้นสุดสัญญาการเดินรถในปี 2585

โดยปัจจุบันสัญญาสัมปทานของบีทีเอส มี 2 ส่วน คือ ส่วนของสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าที่เอกชนลงทุนเองทั้งหมด เส้นทางตั้งแต่ หมอชิต ถึง อ่อนนุช และ สนามกีฬาแห่งชาติ ถึง สะพานตากสิน ระยะสัญญาปี 2535-2572 และส่วนของสัญญาจ้าง BTS เดินรถให้ กทม. ผ่าน บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด  ช่วง อ่อนนุช ถึง แบริ่ง และ สะพานตากสิน ถึง บางหว้า ระยะสัญญาปี 2555-2585

แล้วความขัดข้องที่เกิดขึ้นมีสาเหตุจากอะไร

ก่อนหน้านี้ได้มีข่าวจากทางผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส ระบุว่าปัญหาอาณัติสัญญาณขัดข้องที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากคลื่นสัญญาณรบกวนจากผู้ให้บริการเครือข่ายดีแทคซึ่งจากผลการทดลองด้วยวิธีปิดการปล่อยสัญญาณคลื่น 2300 MHz โดยถูกชี้แจงมาว่าเป็นปัญหาจำนวนกว่า 20 สถานีฐาน ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าบีทีเอส ตั้งแต่ 6.00 น. ของวันที่ 26 มิถุนายน แต่ผลปรากฏว่าระบบอาณัติสัญญาณยังคงขัดข้องเหมือนเดิม

จนกระทั่งเมื่อวานนี้ (27 มิ.ย. 2561) ได้มีการหารือร่วมกันระหว่างสำนักงาน กสทช. ผู้บริหาร บีทีเอส ทีโอที และ ดีแทค ได้ข้อสรุปแนวทางแก้ปัญหาเบื้องต้นของการที่รถไฟฟ้าบีทีเอสขัดข้องโดยทีโอทีจะปิดสัญญาณคลื่นย่านความถี่ 2300 MHz ตามแนวของรถไฟฟ้าประมาณ 10 สถานี เพื่อให้ บีทีเอสปรับปรุงระบบและย้ายช่วงความถี่ของระบบอาณัติสัญญาณไปใช้คลื่นความถี่ช่วง 2480-2495 MHz แทน ซึ่งจะป้องกันการรบกวนระบบวิทยุสื่อสารในระบบอาณัติสัญญาณของรถไฟฟ้าบีทีเอสได้ โดยการปรับเปลี่ยนระบบรับสัญญาณวิทยุใหม่นี้ จะแล้วเสร็จในช่วงเที่ยงคืนของวันที่ 29 มิถุนายนนี้ และจะทำให้ปัญหาบีทีเอสที่ขัดข้องคลี่คลายลงได้

ส่วนในอนาคต สำนักงาน กสทช. มีแผนจัดคลื่นความถี่เพื่อใช้ในกิจการระบบรถไฟฟ้าโดยเฉพาะ โดยล่าสุดได้จัดสรรคลื่นย่าน 850-900 MHz ให้กับรถไฟความเร็วสูงเมื่อปี 2560 และจะจัดสรรให้นำมาประมูลอีก 5 MHz และพร้อมจะติดตั้งระบบฟิลเตอร์ป้องกันคลื่นความถี่ ซึ่งจะทำให้ระบบการเดินของรถไฟฟ้าในอนาคตมีประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัยมากขึ้น

สถิติตั้งแต่ต้นปีขัดข้องแล้ว 40 ครั้ง มิ.ย. พีคสุด 21 ครั้งภายในเดือนเดียว

โดยจากข้อมูล ณ วันที่ 27 มิถุนายน 23.00 น. ระบบรถไฟฟ้า BTS ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2561 ขัดข้องไปแล้วทั้งสิ้น 40 ครั้ง สูงที่สุดคือเดือนมิถุนายน 21 ครั้ง ดังนี้

มกราคม 2 ครั้ง

12 ม.ค. – รถไฟฟ้าขัดข้องที่สถานีโพธิ์นิมิตร 11 นาที

16 ม.ค. – รถไฟฟ้าขัดข้องที่สถานีบางนา 7 นาที

กุมภาพันธ์ 7 ครั้ง

3 ก.พ. – ระบบควบคุมการเดินทางขัดข้องในสายสุขุมวิท 6 นาที

4 ก.พ. – รถไฟฟ้าขัดข้องที่สถานีชิดลม 14 นาที

5 ก.พ. – รถไฟฟ้าขัดข้องที่สถานีสะพานตากสินและสถานีกรุงธนบุรี 26 นาที

6 ก.พ. – รถไฟฟ้าขัดข้องที่สถานีบางหว้า 10 นาที

14 ก.พ. – รถไฟฟ้าขัดข้องที่สถานีบางหว้า 26 นาที

25 ก.พ. – รถไฟฟ้าขัดข้องที่สถานีหมอชิต 19 นาที

26 ก.พ. – รถไฟฟ้าขัดข้องที่สถานีพระโขนง 9 นาที

มีนาคม 4 ครั้ง

2 มี.ค. – รถไฟฟ้าขัดข้องที่สถานีเอกมัย 23 นาที

16 มี.ค. – รถไฟฟ้าขัดข้องที่สถานีโพธิ์นิมิตร 33 นาที

18 มี.ค. – จุดสับรางที่สถานีหมอชิตขัดข้อง 17 นาที

30 มี.ค. – รถไฟฟ้าขัดข้องที่สถานีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ 26 นาที

เมษายน 3 ครั้ง

4 เม.ย. – รถไฟฟ้าขัดข้องที่จุดกลับสถานีหมอชิต 11 นาที

12 เม.ย. – รถไฟฟ้าขัดข้องที่สถานีนานา 8 นาที

28 เม.ย. – จุดที่สถานีหมอชิตขัดข้อง 48 นาที

พฤษภาคม 3 ครั้ง

1 พ.ค. – รถไฟฟ้าขัดข้องที่สถานีอุดมสุข 8 นาที

11 พ.ค. - ระบบควบคุมการเดินรถในสายสุขุมวิทและสายสีลมขัดข้อง 37 นาที

15 พ.ค. – รถไฟฟ้าขัดข้องที่สถานีบางหว้า 8 นาที

          มิถุนายน 21 ครั้ง

6 มิ.ย. – รถไฟฟ้าขัดข้องที่สถานีชิดลม 10 นาที

12 มิ.ย. – รถไฟฟ้าขัดข้องที่สถานีอ่อนนุช 24 นาที

13 มิ.ย. – ประตูกั้นชานชาลาขัดข้องที่สถานีสยาม 29 นาที

15 มิ.ย. – รถไฟฟ้าขัดข้องระหว่างสถานีพร้อมพงษ์และสถานีอโศก 65 นาที

18 มิ.ย. – เกิดเหตุขัดข้องที่สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ 13 นาที

22 มิ.ย. – รถไฟฟ้าขัดข้องที่สถานีสำโรง 10 นาที

23 มิ.ย. – รถไฟฟ้าขัดข้องระหว่างสถานีชิดลมและสถานีเพลินจิต 22 นาที

24 มิ.ย. – ระบบอาณัติสัญญาณขัดข้องในตั้งแต่สถานีสยามถึงสถานีสะพานควาย 160 นาที

25 มิ.ย. – ระบบอาณัติสัญญาณขัดข้องที่สถานีสยาม ไม่ระบุเวลาที่ซ่อมแซมเสร็จ

25 มิ.ย. – ระบบอาณัติสัญญาณขัดข้องในสายสุขุมวิทและสายสีลม 193 นาที

25 มิ.ย. – ระบบอาณัติสัญญาณขัดข้องในสายสุขุมวิทและสายสีลม 357 นาที

25 มิ.ย. – ขบวนรถไฟฟ้าขัดข้องที่สถานีบางหว้า 12 นาที

26 มิ.ย. – รถไฟฟ้าขัดข้องระหว่างสถานีช่องนนทรีและสถานีสุรศักดิ์ 5 นาที

26 มิ.ย. – ระบบอาณัติสัญญาณขัดข้องในสายสุขุมวิทและสายสีลม 26 นาที

26 มิ.ย. – ระบบอาณัติสัญญาณขัดข้องในสายสุขุมวิทและสายสีลม 99 นาที

26 มิ.ย. – ระบบอาณัติสัญญาณขัดข้องในสายสุขุมวิทและสายสีลม 79 นาที

26 มิ.ย. – ระบบอาณัติสัญญาณขัดข้องในสายสุขุมวิทและสายสีลมมากกว่า 75 นาที

26 มิ.ย. – ระบบอาณัติสัญญาณขัดข้องในสายสุขุมวิทและสายสีลม 180 นาที

27 มิ.ย. – ระบบอาณัติสัญญาณขัดข้องในสายสุขุมวิทและสายสีลม 240 นาที

27 มิ.ย. – ระบบอาณัติสัญญาณขัดข้องในสายสุขุมวิทและสายสีลม 21 นาที

27 มิ.ย. – รถไฟฟ้าขัดข้องที่สถานีเพลินจิต 24 นาที

“บีทีเอส” แสดงความรับผิดชอบไม่คิดค่าโดยสารถ้าขัดข้องแล้วผู้โดยสารตัดสินใจไม่รอไปต่อ

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ระบุว่า ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 30 มิถุนายน เป็นต้นไปการบริการน่าจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ขณะนี้ผู้บริหาร BTS อยู่ระหว่างหาข้อสรุปการเยียวยาผู้ใช้บริการที่ได้รับผลกระทบตลอดสัปดาห์นี้โดยละเอียด

สำหรับมาตรการเยียวยาเบื้องต้นที่ทาง BTS มอบให้ผู้โดยสารเพื่อบรรเทาภาวะความตึงเครียดในผู้โดยสาร ทาง BTS จะไม่คิดค่าโดยสาร ในกรณีที่ผู้โดยสารเปลี่ยนใจไม่เดินทาง โดยสำหรับคนที่มีบัตร Rabbit Card สามารถแตะบัตรออกได้โดยไม่เสียค่าบริการ ส่วนบัตรโดยสารเที่ยวเดียว เครื่องขาออกจะคืนบัตร นำไปใช้ใหม่ได้ภายใน 14 วัน หรือนำไปติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อรับเงินคืน

สุดท้ายแล้วกว่าจะถึงปี 2585 ก็คงได้แต่ภาวนาให้พรุ่งนี้เช้ารถไฟฟ้าบีทีเอสไม่ขัดข้องอีก

ข้อมูลจาก: ประกาศทางทวิตเตอร์ @BTS_SkyTrain

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ