นักชีววิทยา เผยผลวิจัยถ้ำหลวง ไม่มีแบคทีเรีย-เชื้อรา อันตรายถึงชีวิต


โดย PPTV Online

เผยแพร่




โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ เตรียมห้องกักกันโรคไว้ 13 ห้องรองรับทีมหมูป่าอะคาเดมี 13 ชีวิต เพื่อวิเคราะห์อาการและตรวจเชื้อต่าง ๆ ภายในร่างกาย ขณะที่นักชีววิทยาที่เคยไปสำรวจถ้ำหลวงเมื่อปี 2538 เชื่อว่าแบคทีเรีย เชื้อราที่มีอยู่ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต

วันนี้ (3 ก.ค.61) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังมีการยืนยันชุดค้นหาพบทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมี 13 ชีวิตเมื่อคืนที่ผ่านมา ทำให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 1 นำทีมแพทย์โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ออกมาระบุว่า ถ้านำ 13 ชีวิตออกมาจากถ้ำได้ จะนำทุกคนเข้าไปอยู่ภายในห้องแยกโรคชั้น 8 เพื่อวิเคราะห์อาการและตรวจเชื้อภายในร่างกาย 24 ชั่วโมง หรือ 1 สัปดาห์ เพื่อตรวจเชื้อไวรัส วัณโรค โรคฉี่หนู ที่อาจติดมาจากการสัมผัสน้ำ แบคทีเรีย เชื้อราภายในถ้ำหลวงฯนานกว่า 10 วัน

โดยวันนี้ ผู้สื่อข่าวพีพีทีวี มีโอกาสพูดคุยกับผู้ช่วยศาสตราจารย์สกุณี บวรสมบัติ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนึ่งในทีมวิจัยถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย เมื่อปี 2538 โดย ผศ.สกุณี เปิดเผยว่า เมื่อ 20 ปีก่อน มีโอกาสเข้าไปสำรวจถ้ำหลวงเพื่อดูสภาพแวดล้อมว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวได้หรือไม่

ทั้งนี้เมื่อสอบถามว่าสภาพถ้ำหลวงฯ จะเปลี่ยนไปหรือไม่เพราะการตรวจสอบผ่านมานานกว่า 20 ปี ผู้ช่วยศาสตราจารย์สกุณี ยอมรับว่า คาดการณ์ได้ยากว่าเชื้อจุลินทรีย์ แบคทีเรีย เชื้อรา จะมีวิวัฒนาการใหม่จนส่งผลต่อการเป็นโรคติดต่อหรือไม่ เพราะมีการเก็บตัวอย่างตั้งแต่ปี 2538 แต่หากมองมุมวิทยาศาสตร์เชื่อว่าทีมหมูป่า 13 ชีวิตจะปลอดภัย เพราะกายภาพของถ้ำจะเปลี่ยนไปจากเดิมไม่มาก ยกเว้นเชื้อโรคที่เกิดจากอุจจาระของสัตว์และแมลงที่อยู่ภายในถ้ำ หากถูกกัด จะต้องให้แพทย์ดูแลอย่างใกล้ชิด พร้อมเสนอให้หลังจากทำภารกิจค้นหาทีมหมูป่าเสร็จ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรสำรวจถ้ำ เพื่อถอดบทเรียนให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ปลอดภัยอีกครั้ง

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ