จิตแพทย์ แนะสื่อไม่ควรถามเหตุการณ์ติดถ้ำหลวงกับทีมหมูป่า ชี้ยิ่งตอกย้ำ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




การนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนและการแสดงความคิดเห็นของผู้คน ถึงกรณี 13 ชีวิตติดอยู่ภายในถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน ทำให้สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทยและจิตแพทย์กรมสุขภาพจิต แสดงความเป็นห่วงว่าอาจกระทบต่อสภาพจิตใจของผู้ประสบภัย โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุระหว่าง 11 – 16 ปี แนะครอบครัว คนใกล้ชิด และสื่อมวลชน เลี่ยงสอบถามถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หวั่นเป็นการตอกย้ำ

แม้สภาพร่างกายและจิตใจของทั้ง 13 คน ที่ติดภายในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน ขณะที่เจอเจ้าหน้า อาจดูไม่น่าเป็นห่วงมากนัก เพราะสามารถตอบคำถามและสื่อสารได้ แต่จิตแพทย์ยังเห็นว่า ผู้ประสบภัย ต้องได้รับการดูแลสภาพจิตใจอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเด็กอายุระหว่าง 11- 16 ปี

แพทย์หญิงจันทร์อาภา สุขทัพภ์ รองผู้อำนวยการด้านการพัฒนาระบบสุขภาพจิตและจิตเวช สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า สภาพจิตใจเด็กที่ต้องห่างไกลครอบครัว และต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่อันตรายในถ้ำที่มืดสนิท นาน 10 วัน ย่อมส่งผลต่อสภาพจิตใจและความเครียด แต่จะแตกต่างกันในแต่ละคน และสิ่งที่เผชิญจะส่งผลกระทบกับจิตใจได้ทั้งด้านลบ และด้านบวก

ขณะที่ประชาชนทั่วไปควรหยุดวิพากษ์วิจารณ์ผ่านสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะการกล่าวโทษว่าใครถูกผิด เพราะจะกระทบต่อสภาพจิตใจของเด็กและครอบครัว แต่ควรเปลี่ยนเป็นการชื่นชม การปลอบใจ การให้กำลังใจเด็ก และเจ้าหน้าที่แทน

สมาคมจิตแพทย์ฯ แนะสมาคมนักข่าวฯ ไม่ควรเสนอข่าวกระทบความรู้สึก

ด้านสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ส่งจดหมาย ถึง สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เกี่ยวกับข้อแนะนำในการทำข่าวและสัมภาษณ์ผู้ประสบภัย เพราะกังวลว่าการทำข่าวของสื่อมวลชนอาจกระทบต่อการฟื้นตัวของสภาพจิตใจ โดยมีข้อแนะนำว่า เช่น

- การสัมภาษณ์ ควรรอให้ผู้ประสบภัยควรได้รับการปลอบใจจากครอบครัวเป็นส่วนตัวจนสภาพร่างกายและจิตใจฟื้นตัวก่อนที่จะให้สัมภาษณ์ เรื่องที่จะสัมภาษณ์ควรเป็นเรื่องเชิงบวก ป้องกันไม่ให้เกิดการซ้ำเติมทางจิตใจ หรือไปกระตุ้นให้ระลึกถึงเหตุการณ์นั้น ซึ่งทำให้เกิดความหวาดกลัว ตกใจ หดหู่อีกครั้ง

- เลี่ยงแสดงสีหน้า อารมณ์ กระตุ้นความรู้สึกผู้ชม เพราะจะส่งผลเสียกับผู้ถูกสัมภาษณ์ และส่งผลต่อการฟื้นฟูทางจิตใจ

- การสัมภาษณ์ซ้ำๆ ทำให้เกิดความเครียด ไม่ควรถามแต่คนเดิมๆ

- ไม่ควรนำเสนอข่าวที่มีความตื่นเต้น สมจริงสมจัง กระตุ้นให้ผู้ชมรู้สึกเพราะอาจทำให้คนที่ชมมากๆ เกิดอาการทางจิตเวชหรืออาจเกิดอาการคล้ายกับเป็นผู้ประสบภัยเสียเอง ขณะที่คนที่เคยประสบภัยเช่นนี้ได้มาชมจะเกิดการซ้ำเติมทางจิตใจ

และเห็นว่าบทบาทสื่อมวลชน ควรนำเสนอข่าวการป้องกันและให้ความช่วยเหลือ การร่วมแรงร่วมใจของทุกฝ่าย โดยไม่เน้นไปที่ต้นเหตุ การให้ความรู้กับประชาชน ถึงปฏิกิริยาทางจิตใจของผู้ประสบภัย ให้พวกเขาเกิดความรู้สึกที่ดีต่อตนเองและสิ่งแวดล้อม ช่วยระดมความช่วยเหลือ ความห่วงใย แนะนำการปฏิบัติตัวสิ่งที่ควรและไม่ควรทำ รวมไปถึงการแนะนำในการรับชมข่าวสารของประชาชนที่ไม่มากจนเกินไป

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ