ประวัติ “โค้ชเอก” ผู้อยู่เคียงข้างทีมหมูป่า


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เหตุการณ์ทีมฟุตบอลเยาวชน 13 ชีวิตติดอยู่ในถ้ำหลวง อ.แม่สาย จ.เชียงราย ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการช่วยเหลือนำตัวออกจากถ้ำ ปฏิเสธไม่ได้ว่า หนึ่งในผู้ที่มีส่วนช่วยการทำให้การค้นหาประสบความสำเร็จ คือ “โค้ชเอก” หรือนาย “นายเอกพล จันทะวงษ์” ผู้ช่วยผู้ฝึกสอนทีม “หมูป่าอะคาเดมี่” ที่สามารถดูแลนักฟุตบอลเยาวชนวัย 11-16 ปี ทั้ง 12 คนให้ยังอยู่รอดปลอดภัย รอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ได้โดยที่ไม่มีใครเป็นอะไรเลย

จากข่าวที่มีการนำเสนอ พบว่า โค้ชเอกเสียสละอาหารให้เด็ก ๆ ได้ทานเป็นส่วนมาก และยังคอยสอนและควบคุมเด็กให้เคลื่อนไหวร่างกายให้น้อยที่สุดเพื่อเป็นการประหยัดพลังงานที่ร่างกายจะเผาผลาญ ซึ่งความมีสตินี้ส่วนหนึ่งเพราะโค้ชเอก-นายเอกพลเคยบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดแห่งหนึ่งในจังหวัดลำพูน ได้ศึกษาพระธรรมและฝึกดำรงสติ ทำให้ในสถานการณ์ที่ดูเลวร้ายก็ยังสามารถรักษาสติไว้ได้

(อ่านข่าว : หน่วยซีล ชม “โค้ชเอก” ควบคุมสถานการณ์ และดูแลทีมหมูป่าได้ดี )

แม้จะมีข้อถกเถียงกันมากมายว่าการนำเด็กเข้าไปในถ้ำเป็นเรื่องสมควรหรือไม่ แต่ก็เป็นเรื่องน่าชื่นชมที่โค้ชเอกสามารถดูแลเด็ก ๆ ที่อยู่ด้วยกันให้คุมสติได้ ไม่ตื่นตระหนกและเสียขวัญ บริหารจัดการใช้เสบียงอาหารและแหล่งกำเนิดแสงที่มีอย่างประหยัด รวมถึงสอนให้เด็ก ๆ ใช้พลังงานร่างกายให้น้อยที่สุด อาจด้วยการนั่งสมาธิหรือการอยู่นิ่ง ๆ เพื่อเป็นการประหยัดพลังงาน เช่นเดียวกับภิกษุสามเณรบางรูปที่แม้ไม่ได้ทานอาหารเป็นเวลานานก็ยังสามารถมีชีวิตอยู่ได้

ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่าหลังลาสิกขาบท โค้ชเอก-นายเอกพลได้เดินตามเส้นทางความชื่นชอบในด้านกีฬาฟุตบอล โดยตัดสินใจสมัครเป็นโค้ชให้ “ทีมหมูป่าอะคาเดมี่”แน่นอนว่าเส้นทางนี้ไม่ง่ายนัก เนื่องจากผู้ที่จะเป็นโค้ชฟุตบอลที่ถูกต้องอย่างเป็นทางการได้จะต้องผ่านการอบรมหลักสูตรเฉพาะ ซึ่งมีหลายระดับ คือ เอ บี และซี ไลเซนส์ โดยการอบรมแต่ละครั้งมีต้นทุนคือเงิน ด้วยความที่มีปัญหาด้านทุนทรัพย์ โค้ชเอก-นายเอกพลจึงไม่มีโอกาสได้เข้าอบรมหลักสูตรโค้ชอย่างเป็นทางการ

อย่างไรก็ตาม ความมานะของโค้ชเอก-นายเอกพลทำให้ครั้งที่มีการจัดอบรมโค้ช ณ โรงเรียนเทศบาล 1 วัดพรหมวิหาร เขาได้นำทีมหมูป่ามาฝึกซ้อมใกล้สถานที่จัดอบรบ ทำให้วิทยากรหลายท่านในการอบรมได้เห็นความพยายามและความตั้งใจที่จะเป็นโค้ชของเขา เมื่อทราบว่าโค้ชเอก-นายเอกพลขัดสนเรื่องกำลังทรัพย์และไม่เคยเรี่ยไรเงินจากเด็กในทีมเลย จึงได้ตัดสินใจอบรมให้ตามหลักสูตรโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และจะมีการมอบ ซี ไลเซนส์ เพื่อยืนยันฐานะว่านายเอกพลกำลังจะกลายเป็น “โค้ชเอก” อย่างเป็นทางการในไม่กี่เดือนข้างหน้านี้

นอกจากจะทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยโค้ชแล้ว ปัจจุบัน นายเอกพลยังทำงานอยู่ที่วัดพระธาตุดอยเวา อ.แม่สาย จ.เชียงราย โดยทำงานให้วัดมาประมาณ 3 ปี แม้ไม่ได้มีเงินเดือนให้ แต่โค้ชเอกยังคงช่วยเหลืองานวัดอยู่ตลอด หรับตัวโค้ชเอกเป็นชาวเมียนมาร์ เชื้อสายไทใหญ่ ซึ่งจะเดินทางไปกลับไทย-เมียนมาร์อยู่เป็นประจำเพื่อกลับไปดูแลย่า ทำให้บางครั้งต้องอาศัยนอนพักผ่อนที่วัดแห่งนี้ ซึ่งทางวัดก็ได้มีการหาที่ทางไว้ให้นอน

กิจวัตรประจำวันของโค้ชเอก คือ ช่วงเช้าจะมาช่วยงานที่วัดจนถึงบ่าย แล้วจึงออกไปฝึกสอนฟุตบอลให้ทีมหมูป่าฯ ส่วนในช่วงค่ำ ถ้าที่วัดมีงานก็จะกลับมาช่วยเหลือ แต่ถ้าไม่มี บางวันก็จะเดินทางกลับไปดูแลย่าที่ฝั่งเมียนมาร์

ในส่วนของการฝึกสอนให้ทีมหมูป่านั้น นอกจากจะฝึกสอนเรื่องฟุตบอลทั่วไปแล้ว โค้ชเอกยังได้มีการจัดกิจกรรมสำหรับทีมหมูป่า เสมอเพื่อให้มีความอดทนและแข็งแรงอยู่ตลอดเวลา โดยกิจกรรมที่โค้ชเอกและเด็ก ๆ ทำร่วมกันบ่อยครั้งคือการปั่นจักรยาน ทั้งระยะสั้นระยะไกลหรือทางที่ชันลำบากต่าง ๆ เพื่อฝึกให้น้อง ๆ ในทีมแข็งแรงและอดทน

ด้วยการฝึกและประสบการณ์ส่วนตัวของโค้ชเอกเป็นเหตุผลหนึ่งซึ่งทำให้ทั้ง 13 ชีวิตสามารถมีชีวิตรอดมาได้ถึง 10 วันเต็มก่อนที่เจ้าหน้าที่จะเข้าไปพบตัว หากไม่มีโค้ชเอกอยู่ในถ้ำหลวงร่วมกับเด็ก ๆ ผลลัพธ์ที่ออกมาอาจไม่สวยงามและเปี่ยมไปด้วยความหวังอย่างที่เรากำลังเห็นอยู่นี้

ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก : เอกพล จันทะวงษ์ (เอฟ เอฟ อะคาเดมี่)

ข่าวที่น่าสนใจ:

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ