ประมวลภาพตลอดภารกิจช่วย "13 ชีวิตทีมหมูป่า" ติดถ้ำหลวง


โดย PPTV Online

เผยแพร่




"ปฏิบัติการช่วย 13 ชีวิต นักฟุตบอลเยาวชนทีมหมูป่า อะคาเดมี่ ติดถ้ำหลวง" ถือเป็นเหตุการณ์ที่ทั่วโลกไม่อาจละสายตาได้ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้ายของภารกิจรวมแล้ว 18 วัน 400 กว่าชั่วโมง มีเรื่องราวเกิดขึ้นที่ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงรายมากมาย ซึ่ง 36 ภาพนี้เป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำที่โลกไม่อาจลืม

1. “หน่วยซีล” ปฏิบัติการชุดแรกที่เดินทางไปถึงถ้ำหลวงในคืน วันที่ 23 มิ.ย.2561 วันแรกที่ทีมนักฟุตบอลเยาวชนทีมหมูป่าอะคาเดมี่ทั้ง 12 คน และโค้ชอีก 1 คน ติดอยู่ภายในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน ซึ่งในภาพคือเจ้าหน้าที่ทหาร ทีมกู้ภัย นับร้อยชีวิตเร่งติดตั้งอุปกรณ์ค้นหาบริเวณปากถ้ำก่อนที่ปฏิบัติการช่วยชีวิตได้เริ่มต้นขึ้น

2. จักรยาน 11 คัน ที่จอดไว้บริเวณหน้าถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน คือ เบาะแสแรกที่ทำให้รู้ว่าเด็ก ๆ ทั้ง 12 คนและโค้ช เดินทางเข้าไปในถ้ำนอกจากนั้นยังมีรถจักรยานยนต์อีก 1 คัน ซึ่งช่วงแรกที่เจ้าหน้าที่วนอุทยานฯ ไปเจอคือช่วงเวลากลางคืน จึงช่วยกันระดมกำลังออกค้นหาในถ้ำลึกประมาณ 3 กิโลเมตร แต่ก็ยังไม่พบตัว ซึ่งหลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ชุดค้นหาพบรองเท้าที่ถอดทิ้งไว้ภายในถ้ำ ทั้งหมด 12 คู่ และพบกระเป๋าลอยน้ำออกมาอีก 3 ใบ แต่การค้นหาต้องหยุดลงชั่วคราว เพราะช่วงนั้นมีฝนตกหนักทำให้ระดับน้ำในถ้ำสูงขึ้น

3. เจ้าหน้าที่ทหารเร่งมือกันช่วยแบกเครื่องสูบน้ำเข้าถ้ำหลวง เพราะ “น้ำ” ได้กลายเป็นอุปสรรคสำคัญของการค้นหาทีมหมูป่าฯ เนื่องจากปริมาณฝนที่ตกลงมาต่อเนื่องรวมกับต้นน้ำบนเขาไหลเข้าภายในถ้ำ ทำให้ระดับน้ำสูงขึ้นจนถึงปากทางเข้าถ้ำ ปฏิบัติการสูบน้ำออกจากถ้ำจึงเริ่มต้นขึ้น โดยทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชนระดมเครื่องสูบน้ำและอุปกรณ์การค้นหาต้นน้ำ ตาน้ำ มาช่วยเสริมทัพเป็นจำนวนมาก

4. ท่อสูบน้ำสีส้มสดยาว 1,500 เมตรกำลังถูกลำเลียงเพื่อสนับสนุนการสูบน้ำออกจากถ้ำหลวงโดยเป็นท่อแก๊สขนาด 4 นิ้ว ที่ ปตท.ส่งมาเพื่อประยุกต์ต่อเข้ากับเครื่องสูบน้ำโดยมีคุณสมบัติพิเศษแข็งแรงกว่าท่อทั่วไป ซึ่งการทำงานของท่อนี้จะใช้การทำงานแบบ “กาลักน้ำ” ดูดจากโถงที่ 2 ออกมาที่โถงที่ 1 เพื่อให้เครื่องสูบน้ำที่อยู่ด้านนอกสูบน้ำออกไปต่อซึ่งวิธีการนี้จะเป็นการเร่งสูบน้ำจากด้านในออกไปด้านนอกได้เร็วขึ้น

5. เมื่อปริมาณน้ำที่มาจากฝน และต้นน้ำมีปริมาณมากกว่าน้ำที่ถูกระบายออก ท่อจำนวนมากจึงถูกนำมาต่อออกจากถ้ำในทุกๆทิศทางไม่ว่าจะเป็นท่อขนาดเล็กหรือใหญ่ หวังลดระดับน้ำให้ได้มากที่สุด ซึ่งถือเป็นการต่อสู้กับทั้งธรรมชาติ และเวลาที่มีชีวิตเป็นเดิมพันซึ่งไม่เพียงแค่ชีวิตของทั้ง 13 คน แต่เป็นชีวิตของทีมค้นหาหลายร้อยชีวิต ที่ต้องเสี่ยงอันตรายกับระดับน้ำ ความขุ่นข้นของน้ำ และกระแสน้ำเชี่ยวกรากภายในถ้ำ

6.“อย่าปล่อยให้เสียเปล่า”

ที่นาเต็มไปด้วยมวลน้ำที่ระบายจากถ้ำหลวง ชาวบ้านจึงใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ด้วยการตกปลา ซึ่งเหตุการณ์ช่วยชีวิตครั้งนี้ สิ่งที่มากกว่ามวลน้ำในถ้ำคือ “น้ำใจ” จากคนไทย เมื่อเกษตรกรและชาวบ้านใน 3 ตำบลของ อ.แม่สาย ยอมเสียสละพื้นที่นา 1,600 ไร่ เพื่อใช้เป็นที่รับน้ำที่ระบายจากถ้ำหลวงเพื่อช่วยเหลือเด็กทั้ง 13 คน อย่างไรก็ตาม นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เตรียมแนวทางการช่วยเหลือจ่ายเงินชดเชยจำนวนไร่ละ 1,100 บาท

7.“มองหาปล่อง”

นอกจากการค้นหา 13 ชีวิตติดถ้ำหลวง จะต้องใช้วิธีการดำน้ำเข้าทางปากถ้ำแล้วอีกหนึ่งหนทางที่อาจมีความเป็นไปได้ คือ การหาปล่องโพรงบนเขา ซึ่งจุดเริ่มต้นมาจาก นาย“มาร์ติน เอลลิส” นักสำรวจถ้ำชาวอังกฤษ ซึ่งเป็นผู้ที่วาดแผนที่ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน เพราะเข้าเคยสำรวจถ้ำแห่งนี้หลายครั้ง เป็นผู้ส่งข้อมูลให้กับทางการไทยว่ามีความเป็นไปได้ที่จะมี “ปล่องด้านบนท้ายถ้ำ” ที่สามารถเชื่อมต่อเข้าไปภายในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน

8. "เชือก" คืออุปกรณ์สำคัญมากที่ใช้ในปฏิบัติการครั้งนี้เพราะทีมนักดำน้ำต้องใช้ในการวางไลน์เชือก เพื่อเป็นเส้นนำทางให้กับทีมกู้ภัยซึ่งครั้งหนึ่งมีการเปิดรับบริจาคเชือกยาว 2,000 เมตร ขนาดใหญ่เท่ากับนิ้วชี้ ซึ่งในเวลาเพียงไม่นานน้ำใจจากคนไทยก็ทำให้ได้รับครบตามที่ต้องการ และเรื่องราวของเชือกนี้เองที่ทำให้ได้พบกับทั้ง 13 ชีวิต ตามการให้สัมภาษณ์ของ เวอร์นอน อันส์เวิร์ธ นักสำรวจถ้ำชาวอังกฤษ ที่เล่าให้ฟังว่าช่วงเวลาที่จอห์น โวลันเธน และ ริชาร์ด วิลเลียม สแตนตัน สองนักดำน้ำในถ้ำพบเด็กนักฟุตบอลกลุ่มนี้และโค้ชนั้น เกิดจากโชคช่วย เมื่อเชือกที่ใช้ปักวางแนวนำทางหมดลงตรงนั้นพอดี ซึ่งหากเชือกหมดเร็วกว่านั้นสัก 15 ฟุต พวกเขาคงต้องหันหลังกลับและจะไม่ได้เจอเด็กๆ อยู่ตรงนั้น ซึ่งทีมหมูป่าก็จะต้องอยู่ท่ามกลางความมืดมิดอีก 1 คืนโดยไม่รู้ว่าจะมีใครมาช่วยหรือไม่ ขณะเดียวกัน เชือก ก็มีความสำคัญกับทีมสำรวจปล่องบนเขาที่ใช้เชือกเพื่อทดสอบวัดระดับความลึกของปล่องว่าสามารถใช้เป็นช่องทางเข้าสู่โถงภายในถ้ำได้หรือไม่

9. "เหนื่อยแค่ไหนก็สู้”

หนึ่งในทีมปีนเขาสำรวจปล่องกำลังออกปฏิบัติภารกิจค้นหาปล่องบนผาหมี ขณะที่ข้อมูลของ มาร์ติน เอลลิส นักสำรวจถ้ำชาวอังกฤษซึ่งเป็นผู้ที่วาดแผนที่ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน ที่ระบุถึง “ปล่องด้านบนท้ายถ้ำ” ว่า สามารถเชื่อมต่อเข้าไปภายในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอนได้นั้น กรมทรัพยากรธรณีนำไปตรวจสอบและพบว่า “พิกัดนี้มีอยู่จริง”

10. ภาพของทีมค้นหาที่เดินออกมาจากถ้ำหลวง ซึ่งมีทั้งเจ้าหน้าที่ทหาร ทีมวิศวกร ทีมกู้ภัย ทีม รปภ. ฯลฯ ซึ่งทุกส่วนล้วนปฏิบัติหน้าที่อย่างประสานสอดรับซึ่งกันและกัน โดยในช่วงของการค้นหาวันแรก ๆ หลายอย่างยังมืดแปดด้าน แต่ในที่สุดหลังการระดมสมองวางแผนและความช่วยเหลือจากทั่วทุกสารทิศ ก็ทำให้สามารถเดินหน้าปฏิบัติการได้อย่างราบรื่น

11.ต่อให้ต้องลุยน้ำ ลุยป่า แค่ไหนทีมสำรวจปล่องบนเขาก็ไม่หวั่นพร้อมที่จะเดินหน้าไปตามจุดพิกัดที่ได้รับแจ้งมา เพราะทุกเสี้ยววินาทีย่อมหมายถึง 13 ชีวิตในถ้ำหลวงที่ยังไม่รู้ชะตากรรม ณ ขณะนั้น

12. เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานมีเพียงไฟฉายดวงเล็ก ๆ ติดบนศีรษะให้แสงสว่าง แต่ภารกิจไม่สามารถรอได้ การวางสายไฟเพื่อต่อเข้าเครื่องสูบน้ำ การวางท่อออกซิเจนอากาศ เป็นต้น ซึ่งต้องทำกันตลอด 24 ชั่วโมง ล้วนแต่ต้องทำท่ามกลางความมืดสนิทภายในถ้ำ

13. ตลอดระยะเวลาของการค้นหาร่วม 10 วัน ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอนมีสายฝนตกลงมาแทบจะตลอดทุกวัน หนักบ้างเบาบ้างแต่การปฏิบัติภารกิจกู้ภัย 13 ชีวิตติดถ้ำหลวง ครั้งประวัติศาสตร์ไม่อาจหยุดได้ การทำงานท่ามกลางสายฝนและแข่งกับเวลาจึงกลายเป็นสิ่งที่เจ้าหน้าที่ทุกคนไม่เคยหวั่น

14. เมื่อระดับน้ำภายในถ้ำหลวงเริ่มลดระดับลงจนเป็นที่น่าพอใจ การลำเลียงถังอากาศก็เริ่มต้นขึ้นทันที โดยทีมเจ้าหน้าที่ต่างต้องใช้เพื่อช่วยในการดำน้ำภายในถ้ำ นับว่าเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญที่สุดของปฏิบัติการครั้งนี้ โดยถังอากาศเหล่านี้จะถูกลำเลียงโดยอาสาสมัครนับร้อยชีวิตเพื่อให้หน่วยซีลนำไปติดตั้งภายในถ้ำตามจุดต่างๆ เพื่อใช้เป็นอากาศสำหรับทั้ง 13 ชีวิตในวันที่ค้นหาพวกเขาเจอและพาออกมาจากถ้ำ

15. "ริค สแตนตัน และ จอห์น โวลันเธน" สองนักดำน้ำชาวอังกฤษ ที่ค้นพบน้องๆทีมหมูป่าและโค้ช ถือเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านการดำน้ำในถ้ำที่เก่งที่สุดคนหนึ่งของยุโรป และของโลก มีประสบการณ์ทำงานมานานกว่า 35 ปี และเคยได้รับรางวัลจากการปฏิบัติภารกิจช่วยชีวิตคนติดถ้ำด้วย

16. "เหนื่อยนักพักดื่มน้ำแล้ว ลุยต่อ!"

เจ้าหน้าที่ทหารกำลังดื่มน้ำให้สดชื่นเพื่อให้ร่างกายได้มีกำลังปฏิบัติภารกิจตรงหน้าในการช่วยทั้ง 13 ชีวิต ให้สำเร็จโดยเร็ว

17. สองเจ้าหน้าที่กู้ภัยใช้พื้นที่บนรถกู้ภัยพักทานอาหารกลางวันเพื่อเติมพลังและเพื่อความพร้อมในการปฏิบัติภารกิจทันที เมื่อท้องอิ่มก็พร้อมเดินหน้าลุยเพื่อทีมหมูป่า อะคาเดมี่

18. อีกหนึ่งวิธีช่วยเหลือคือใช้การขุดเจาะ แต่ด้วยความยากลำบากของการขนส่ง จึงได้มีการนำเฮลิคอปเตอร์ MI 17 มาใช้ขนส่งเครื่องขุดเจาะ ซึ่งตัวเครื่องขุดเจาะมีน้ำหนักมากกว่า 2 ตัน แต่เฮลิคอปเตอร์ลำนี้สามารถรับน้ำหนักได้ถึง 4 ตัน เรียกได้ว่าเป็นพาหนะที่มีประสิทธิภาพอย่างมากและน่ายินดีที่มันถูกนำมาใช้ในปฏิบัติการครั้งนี้

19. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางลงพื้นที่ถ้ำหลวงขุนนางนอน เพื่อให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วน ทั้งใน และที่มาจากต่างประเทศ รวมถึงครอบครัวของทีมหมูป่าทั้ง 13 ชีวิต โดยนั่งพูดคุยให้กำลังใจ และบอกด้วยว่า เหตุการณ์นี้ถือเป็นประสบการณ์ครั้งหนึ่งของประเทศ ทำให้เห็นน้ำใจของคนไทยและจากต่างประเทศที่เข้าให้การช่วยเหลือโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ขอให้ทุกคนมีความหวังอย่าท้อแท้ ขอให้เชื่อมั่นว่าเด็กทุกคนจะปลอดภัย

20. ยังมีความหวังรอลูกหมูป่า

หนึ่งในผู้ปกครองของทีมหมูป่าทั้ง 13 ชีวิต เฝ้าภาวนาอย่างมีความหวังเพื่อให้ลูกหลานปลอดภัย ถือเป็นความสบายใจและกำลังใจอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้เชื่อมั่นว่าภารกิจค้นหาครั้งนี้จะประสบความสำเร็จ

21. ผ่านมา 10 วัน ในที่สุดวันที่ 2 ก.ค. 2561 สัญญาณที่ทำให้หลายคนรับรู้ว่าจะได้รับข่าวดีคือ การสวมกอดกันของ นายณรงค์ศักดิ์ โอสภธนากร ผู้บัญชาการ ศอร. และ พล.ร.ต.อาภากร อยู่คงแก้ว ผบ.หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ (SEALs) ด้วยใบหน้ายิ้มแย้มซึ่งเพียงไม่กี่นาทีหลังจากนั้น คนทั้งโลกก็ได้รับข่าวดีว่า “พบทั้ง 13 ชีวิตแล้ว และทุกคนปลอดภัย”

22. "ซักซ้อมพาหมูป่าหาคุณหมอ"

เมื่อการค้นหาเด็ก ๆ ทั้ง 13 คนประสบความสำเร็จ ลำดับต่อไปคือการลำเลียงทั้ง 13 ชีวิต ออกมาจากถ้ำหลวงอย่างปลอดภัยที่สุด โดย นายณรงค์ศักดิ์ โอสภธนากร ผู้บัญชาการ ศอร. ได้ทำการวางแผนซักซ้อมอย่างเต็มรูปแบบในช่วง 2-3 วัน เพื่อให้เกิดความพร้อมที่สุด เช่น การเตรียมโรงพยาบาลสนาม ทีมแพทย์ การหน่วยแพทย์ ในการลำเลียงทั้ง 13 คนไปยังโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์

23. รถพยาบาลฉุกเฉินกำลังเคลื่อนตัวออกจากถ้ำหลวงเพื่อลำเลียงหนึ่งในทีมหมูป่าไปยังลานเฮลิคอปเตอร์และส่งต่อไปยังโรงพยาบาลประชานุเคราะห์ รวมทั้งสิ้น 13 คัน ใน 3 วัน โดยการนำน้อง ๆ ทั้ง 13 คนออกมานั้นเริ่มตั้งแต่ วันที่ 8 ก.ค.61 จำนวน 4 คน วันที่ 9 ก.ค.61 จำนวน 4 คน และ วันที่ 10 ก.ค.61 อีก 5 คนรวมโค้ชเอก และทันทีที่รถพยาบาลฉุกเฉินคันสุดท้ายถึงโรงพยาบาลเสียงโห่ร้องดีใจได้ดังขึ้น เพราะนั้นหมายความว่าภารกิจช่วยชีวิต 13 คนทีมหมูป่า สำเร็จไปได้ด้วยดี

24. หลังจากนำผู้ประสบภัยขึ้นรถพยาบาลฉุกเฉินลำดับต่อไปของการช่วยเหลือคือการลำเลียงขึ้นเฮลิคอปเตอร์เพื่อย่นระยะเวลาในการส่งตัวไปโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ โดยใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที

25. หนึ่งในเฮลิคอปเตอร์ที่ช่วยลำเลียงผู้ประสบภัยทีมหมูป่าส่งโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ติดเครื่องพร้อมยกตัวขึ้นทันทีที่ผู้ประสบภัยมาถึงซึ่งการจัดเตรียมเฮลิคอปเตอร์ จะอยู่ที่ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ บริเวณทางขึ้นดอยผาหมี ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ มีเฮลิคอปเตอร์ เตรียมพร้อมทั้งหมด 4 ลำ และยังมีที่ลานกีฬาบ้านจ้องอีก 1 จุด

26."สม หน่อคำ" พ่อค้าขายก๋วยเตี๋ยว ชาว อ.แม่สาย หยุดขาย 1 วัน มุ่งสู่ถ้ำหลวงทำอาหารแจก จนท. อีกหนึ่งพลังน้ำใจช่วยค้นหา 13 ชีวิต ทีมหมูป่าอะคาเดมี

 

27. “ยังรอเพื่อนเสมอ”

บรรยากาศภายในห้องเรียนของน้องๆทีมหมูป่าเต็มไปด้วยความหวังและความคิดถึงเพื่อนๆยังคงคอยให้ทีมหมูป่ากลับมานั่งเรียนด้วยกัน

28. เพื่อน ๆ นักเรียน และครูร่วมกันสวดมนต์ นั่งสมาธิ เพื่อเป็นอีกแรงใจส่งให้ทีมกู้ภัยช่วยเหลือและเพื่อน ๆ ทีมหมูป่าปลอดภัย

29. ภารกิจครั้งนี้ถือเป็นการรวมสำนักข่าวจากทุกมุมโลกไม่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้นและในเมื่อทันทีที่มีการแถลงข่าวความคืบหน้าเพื่อให้ได้เสียงที่ชัดเจนข้อมูลไม่ผิดพลาด ต้นไม้จึงกลายเป็นที่สำหรับวางไมค์ในแบบของแต่ละสำนักข่าวในทันที

30. “จ่าสมาน” ฮีโร่ของถ้ำหลวงที่จะอยู่ในความทรงจำ

ในภารกิจนำ 13 ชีวิต ทีมฟุตบอล “หมูป่าอะคาเดมี่” ออกจากถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ได้สูญเสียผู้กล้าที่เสียสละอุทิศตนให้กับภารกิจครั้งนี้คือ “จ่าเอกสมาน กุนัน” นักทำลายใต้น้ำจู่โจม หรือ SEALs นอกราชการ ที่อาสามาช่วยเป็นส่วนสนับสนุนหน่วย SEALs ซึ่งจ่าสมานหมดสติ และเสียชีวิตในเวลาต่อมา ระหว่างการดำน้ำออกมาที่โถง 3 หลังนำขวดอากาศเข้าไปที่เนินนมสาว โดยผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ ยืนยันว่า หน่วยซีล ไม่เสียขวัญ และจะเดินหน้าทำภารกิจให้สำเร็จต่อไป

31. หลังจากที่นายณรงค์ศักดิ์ โอสภธนากร ผู้บัญชาการ ศอร.แถลงการปฏิบัติภารกิจช่วย 13 ชีวิตทีมหมูป่าสำเร็จ ได้ชักชวนสื่อมวลชนหลายร้อยสำนักข่าวทั้งไทยและต่างชาติที่เกาะติดภารกิจนี้มาตลอด 18 วัน ถ่ายภาพร่วมกัน ด้วยรอยยิ้ม และมิตรภาพ

32. ภารกิจช่วย 13 ชีวิตทีมหมูป่าติดถ้ำครั้งนี้ ถือเป็นการระดมความช่วยเหลือจากนานาชาติทั่วโลก แต่ละประเทศต่างส่งผู้เชี่ยวชาญ และความช่วยเหลือมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเมื่อถึงวันที่ได้ฟังข่าวดีว่าพบทั้ง 13 ชีวิตแล้วอย่างปลอดภัยพวกเขาต่างแสดงรอยยิ้มด้วยความดีใจ และยินดีอย่างยิ่ง

33. สายรุ้งบริเวณถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอนในวันหนึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีของการปฏิบัติการค้นหา 13 ชีวิตทีมหมูป่าติดถ้ำ

34. การทำงานของสื่อมวลชนเพื่อให้ได้ข้อมูล และการรายงานข่าวที่ชัดเจน ถูกต้อง แม้ท่ามกลางสายฝน

35.แม่นางนอน

ภาพสันเขาที่ดูคล้ายหญิงสาวนอนทอดยาวอันเป็นที่มาของชื่อ “ขุนน้ำนางนอน” และวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน นักธรณีวิทยาได้จัดลำดับให้ถ้ำหลวงเป็นถ้ำที่ยาวเป็นอันดับที่ 4 ของประเทศไทย ด้วยความยาวทั้งหมด 10,316 เมตร ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดอยนางนอน ตำบลโป่งผา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย หน่วยงานที่ดูแลหลักคือ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 เชียงราย  มีส่วนที่เป็นพื้นที่ท่องเที่ยว 2 ส่วน คือ ส่วนของวนอุทยานถ้ำหลวง และส่วนของขุนน้ำนางนอน บนเนื้อที่ราว 5,000 ไร่ สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 453 เมตร

36.“รอยยิ้มของความสำเร็จ”

“เราทำในสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิด ทำได้ครั้งแรกในโลก มันคือ mission possible ผมอยากให้โป่งผาเป็นโมเดลของคนไทยทั้งประเทศ”

ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้บัญชาการ ศอร.

ขอให้เหตุการณ์ที่ "ถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน" ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยแห่งนี้อยู่ในความทรงจำของคนทั่วโลกตลอดไป

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ