“อ.เจษฎา” ถามมหา’ลัยดังให้ทุนเรียนฟรีทำไม ชี้เกี่ยวข้องอะไรกับ “ทีมหมูป่า”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




‘รศ.เจษฎา’ เผยกรณีมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งให้ทุนการศึกษาทีมหมูป่าอะคาเดมี่ 13 คน ถือว่ามากเกินไป เหตุเพราะไม่ได้มีความเชื่อมโยงกัน ‘แพทย์เพื่อสังคมสื่อสารเพื่อคุณธรรม’ ชี้ การเยียวยาต้องเป็นสิ่งที่ทำให้ ทีมหมูป่าอะคาเดมี่ ดำรงชีวิตได้ดีขึ้น แนะผู้ปกครองเด็กควรพิจารณาว่าสิ่งของเหล่านั้นเหมาะสมกับวัยหรือไม่

กรณีเมื่อวานนี้ (13 ก.ค.61) มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เรื่อง การสนับสนุนทุการศึกษาให้กับโค้ชและนักฟุตบอลทีมหมูป่าอะคาเดมีแม่สาย โดยระบุว่า มหาวิทยาลัยนเรศวร มีความยินดีช่วยเหลือและสนับสนุนทุนการศึกษาให้กับโค้ชและนักฟุตบอลทีมหมูป่าอะคาเดมี ทั้ง 13 คน หากทั้งหมดมีความต้องการเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี หรือ ปริญญาโท หรือ ปริญญาเอก ของมหาวิทยาลัยนเรศวร ทั้งนี้ต่อมากลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์บนโลกโซเชียลจำนวนมาก เนื่องจากคนส่วนใหญ่มองว่า โค้ชและนักฟุตบอลทีมหมูป่าอะคาเดมี เป็นแค่ผู้ประสบภัย จึงไม่เหมาะสมที่จะได้รับการสนับสนุนดังกล่าว รวมถึงอาจทำให้เด็กถูกตำหนิได้

โดยผู้สื่อข่าวพีพีทีวีได้สอบถามไปยัง ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กาญจนา เงารังษี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งไม่สามารถติดต่อได้ แต่คนใกล้ชิด ระบุว่า ทุกอย่างยังเหมือนเดิม ถ้าโค้ชเอกและน้อง ๆ ต้องการขอทุน สามารถทำเรื่องเข้ามาที่มหาวิทยลัยได้จากประกาศฉบับนี้ นอกจากนี้แหล่งข่าวของมหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวพีพีทีวีว่า อยากให้มองเจตนาที่ดีของมหาวิทยาลัย คือ ตั้งใจสนับสนุนการศึกษาทีมหมูป่า มองว่าเป็นผู้ประสบภัย เป็นการให้ที่ยั่งยืน ฟื้นฟูจิตใจทางการเรียน เป็นการให้อนาคต และทุนเรียนฟรีนี้ก็มาจากภาครัฐและเอกชน ไม่เกี่ยวกับกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา

ล่าสุด วันนี้ (13 ก.ค.61) รศ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวผ่านรายการเป็นเรื่องเป็นข่าว ว่า การเยียวยาควรไปเยียวยาในลักษณะไหน แน่นอนว่าการรักษาพยาบาล และการเยียวยาจิตใจ เป็นสิ่งที่สำคัญ แต่การเยียวยาด้วยการให้ของรางวัล หรือการให้ของที่เป็นสิ่งที่เขาไม่ต้องการโดยตรง ถือว่ามากเกินไป และส่งผลให้คนอื่นมองได้ว่าไม่ใช่การเยียวยา แต่เป็นการพยายามเข้ามาโหนกระแส และสร้างภาพลักษณ์ขององค์กรณ์ตัวเอง เช่น มหาวิทยาลัยหนึ่งจะมาให้การศึกษา ถ้ามองโลกในแง่ดี มันก็ฟังดูดี การบอกจะให้ทุนการศึกษาเป็นสิ่งที่เป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ แต่ถามว่าให้ทำไม เด็กทีมหมูป่าบอกหรือไม่ว่าอยากจะเข้ามหาวิทยาลัยนั้น หรือกลุ่มของทีมหมูป่า เป็นคนในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยนั้น ซึ่งจากการที่ผู้บริหารมหาวิทยาดังกล่าวบอกว่า เด็กทีมหมูป่าเป็นเพชร เป็นคนที่เก่งกาจ และเป็นทุนในเชิงที่กลับมาถึงบ้านเกิด แต่มหาวิทยาลัยนั้นซึ่งอยู่ในพื้นที่พิษณุโลก กับเด็กที่อยู่เชียงราย อยู่คนละที่กันใช่หรือไม่ ดังนั้นถ้าหากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมาพูดว่าจะให้ทุน ตนก็คงพูดในมุมที่ไม่เห็นด้วยกับมหาวิทยาลัยตนเองว่า จุฬาฯเกี่ยวข้องอะไร เด็กเป็นคนในสังกัดของจุฬาฯ หรือเป็นลูกหลานของบุคลากรในจุฬาฯ ซึ่งถ้าจะให้ได้ก็ต้องมีความเชื่อมโยงบางอย่าง

“ถ้าผมพูดกลับข้างในของทีมที่มากู้ภัยทั้งหมด แล้วใครมีลูกหลานเรียนอยู่ในเขตจังหวัดเดียวกับที่หน่วยงานนั้นเข้าไปช่วย มันฟังดูมีเหตุผล แต่น้อง ๆ ไม่ได้มีเกี่ยวอะไรกับมหาวิทยาลัยนั้น ผมมองว่าไม่เมคเซ้นส์ และจะทำให้คนอื่นเนี่ยวิจารณ์ตัวหน่วยงานในเชิงลบ แถมคนวิจารณ์ไปถึงน้องอีก” รศ.เจษฎา กล่าว

ชมรายการเต็ม >> อ.เจษฎา” เตือน อย่าใช้ “ทีมหมูป่า” ประชาสัมพันธ์องค์กรตัวเอง หวั่นเสียงวิจารณ์กระทบ “เด็ก”

อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา กล่าวต่อว่า อย่างของจุฬาฯ หรือของที่อื่น จะมีทุนการศึกษาเพื่อให้นิสิตของในสังกัด เมื่อเขาเข้ามาอยู่ในสังกัดแล้ว นั่นคือ ตั้งใจอยู่กับเราแล้วเขามีปัญหา เช่น กลุ่มหนึ่งเป็นผู้ยากจนเราก็ช่วยหาทุนให้ หรืออีกกลุ่มเป็นพวกเรียนดี เป็นคนที่เก่งมีความสามารถ เราก็มีเหตุผลเพียงพอว่าคนในสังกัดของเราควรจะให้ทุนเขา แต่เมื่อเขาไม่ได้เป็นคนในสังกัดของเรา แล้วเราไปเขียนล่วงหน้าว่าถ้าอยากจะเข้ามาอยู่ด้วยแล้วจะให้ทุน ใคร ๆ ก็มองว่าเป็นการโฆษณา นี่คือการโหนกระแส ไม่ใช่มองว่าเป็นการช่วยเหลือ เพราะฟังดูไม่ใช่ภาพบวกเท่าไหร่กับองกรค์

นพ.สิทธา ลิขิตนุกูล แพทย์เพื่อสังคมสื่อสารเพื่อคุณธรรม ระบุว่า ทีมฟุตบอลหมูป่าทั้ง 13 คน เป็นผู้ประสบภัยไม่ใช่ฮีโร่ แต่คนที่เป็นฮีโร่จริง ๆ คือ คนที่ไปช่วยเหลือเขา ส่วนการให้ทุนการศึกษา มองว่าขึ้นอยู่กับน้ำใจของแต่ละคน ที่มีการปลอบขวัญ ให้เป็นสินน้ำใจสำหรับคนที่ประสบภัยที่แทบจะเอาตัวเองไม่รอด แต่ว่าโชคดีที่รอดชีวิตออกมาได้ เพราะฉะนั้นไม่ได้หมายความว่า ถ้าทุกคนอยากจะได้แบบนี้ต้องไปเข้าถ้ำ โดยสิ่งของที่ให้นั้น ถ้าเป็นสิ่งที่ทำให้เขาดำรงชีวิตได้ดีขึ้น ไม่ได้ก่อให้เกิดกิเลส ความโลภ หรืออยากได้ต่อเนื่อง และถ้าผู้ปกครองของเด็กเหล่านั้นคิดว่าเหมาะสมไม่เกินวัยของเด็ก ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีสำหรับพวกเด็ก เช่น การศึกษา ถือเป็นเรื่องที่ดี

“ถามว่าต้องให้รางวัลไหม มันขึ้นอยู่กับผู้ให้ ผู้ให้เขาเห็นว่าน่าจะเป็นการปลอบขวัญ น่าจะเป็นสินน้ำใจกับผู้ที่รอดชีวิตออกมาได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนต้องให้ตามกัน ให้เป็นกระแส เพื่อเป็นสื่อ พ่อแม่อาจจะเป็นส่วนสำคัญ ในการจะคิดพิจารณาว่าอันนี้เป็นสิ่งที่เกินวัยเขาหรือเปล่า สมมติรถยนต์จะให้น้องเขา อันนี้มันเกินวัยแล้วนะ อันนี้มันเป็นสิ่งฟุ่มเฟือย ไม่ใช่การศึกษา กีฬา และการพัฒนาตนเอง”  นพ.สิทธา กล่าว

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ