น้ำตาครูวิภา !! ค้ำศิษย์กู้เงิน กยศ. สุดท้ายโดนยึดทรัพย์


โดย PPTV Online

เผยแพร่




น้ำตา “ครูวิภา” เซ็นค้ำศิษย์กู้เงิน กยศ. หวังให้การศึกษา แต่ศิษย์เบี้ยวหนี้ ทำครูโดนยึดทรัพย์ ด้าน กยศ.เผย อีก 17 รายถ้าไม่มาชำระหนี้ ครูวิภา อาจถูกบังคับทางคดี

วันนี้ (25 ก.ค.61) นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เปิดเผยถึงกรณีที่ น.ส.วิภา บานเย็น ผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดกำแพงเพชร ได้ค้ำประกันให้แก่นักเรียนที่เป็นผู้กู้ยืมตั้งแต่ปี 2541-2542 จำนวน 60 ราย แต่มีลูกศิษย์ที่ค้างชำระหนี้ กยศ. จนถึงขั้นบังคับคดีกับครูที่เป็นผู้ค้ำประกัน กองทุนได้ตรวจสอบสถานะคดีของผู้กู้ยืมที่ครูวิภาได้เป็นผู้ค้ำประกันแล้ว พบว่า มีจำนวน 60 ราย จากจำนวนดังกล่าวมีผู้กู้ที่ชำระหนี้ปิดบัญชีเรียบร้อยแล้ว 29 ราย ชำระหนี้ตามปกติ 10 ราย ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีทั้งสิ้น 21 ราย ในจำนวนคดีที่ถูกฟ้องร้องมีการยึดทรัพย์แล้ว 4 ราย ซึ่งทั้ง 4 ราย ครูวิภาได้มาชำระหนี้ในส่วนที่ค้ำประกันเรียบร้อยแล้วซึ่งทางกองทุนจะดำเนินการถอนการยึดทรัพย์ต่อไป ในส่วนคดีอีก 17 คนที่เหลืออยู่ในขั้นตอนการบังคับคดี ซึ่งทั้ง 17 รายนี้คิดเป็นเงินต้นที่ค้ำประกันประมาณ 190,000 บาท สำหรับการช่วยเหลือครูวิภาในส่วนของคดีที่รอการบังคับคดีนั้น กองทุนจะดำเนินการไกล่เกลี่ยก่อนการยึดทรัพย์ ซึ่งภาระหนี้ดังกล่าวจะไม่ถึงขั้นล้มละลาย

อ่านข่าวเพิ่มเติม :

ครูร้อง เกือบ ถูกยึดบ้าน-ที่ดิน หลังศิษย์เกือบ 30 คนเบี้ยวจ่าย กยศ.

กยศ.แถลงกรณี “ครู” ถูกลูกศิษย์เบี้ยวหนี้ กยศ.วันนี้

นายชัยณรงค์ กล่าวต่อว่า ถ้าผู้กู้ยืมเงิน กยศ. ทั้ง 17 รายไม่อาจตามตัวได้ ก็ต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย คือ ยึดทรัพย์ผู้ค้ำประกัน ในหลักการการให้กู้เงิน กยศ. คือ ใครจนก็ให้กู้ และไม่ได้ดูความสามารถของคนที่ค้ำประกัน และไม่ได้มีการกำหนดจำนวนคนที่จะให้เซ็นคำประกัน ซึ่งตนชื่นชมครูที่ช่วยเหลือลูกศิษย์ให้มีโอกาสทางการศึกษา แนวทางป้องกันในอนาคตจะกำหนดวงเงินการค้ำประกันและจำนวนคน

นายชัยณรงค์ กล่าวว่า กยศ.มีกฎหมายใหม่แล้ว เดือนนี้เป็นเดือนแรกที่เริ่มหลักเงินเดือนของข้าราชการของกรมบัญชีกลาง โดยปีนี้เริ่มหักเงินเดือนผู้กู้ยืม กยศ.ของราชการก่อน ปีหน้าจะเริ่มหักเงินเดือนของพนักงานเอกชน แต่ถ้ายังชำระหนี้ไม่หมดภายใน 10 ปี กยศ.ก็ต้องดำเนินการบังคับคดี

สำหรับกลุ่มที่ค้างชำระหนี้มี 3 กลุ่มใหญ่ คือ 1.กลุ่มคนเรียนจบแล้วแต่ยังยากจนไม่มีงานทำ 2.กลุ่มคนที่มีเงินแต่ไม่ชำระหนี้ และ3.กลุ่มคนที่ขาดวินัยทางการเงินโดยนำเงินไปใช้ในส่วนอื่นก่อน เช่น ซื้อโทรศัพท์ จนไม่มีเงินมาชำระหนี้

นายชัยณรงค์ กล่าวว่า กรณีทั้ง 17 รายที่ครูวิภา ค้ำประกันให้ ทางกยศ.จะรีบสืบหาที่อยู่เพื่อติดตามหักเงินชำระหนี้ กยศ. และรีบดำเนินการตามกระบวนการ

นายชัยณรงค์ กล่าวว่า น้องๆ ทั้ง 17 คน เมื่อ กยศ.ให้โอกาส เมื่อคุณครูให้โอกาส ขอให้มาชำระหนี้เพื่อแบ่งเบาภาระของคุณครู และให้โอกาสกับน้องๆ ถ้าไม่มีเงินให้มาหารือกับ กยศ.

น.ส.วิภา บานเย็น ผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดกำแพงเพชร กล่าวว่า หลังเป็นข่าวออกไปมีลูกศิษย์โทรมาหาแล้วและจะชำระหนี้ กยศ. โดยส่วนตัวไม่รู้เลยว่าลูกศิษย์ที่กู้ยืมเงิน กยศ. ได้ชำระหนี้ตามปกติหรือไม่ ซึ่งส่วนตัวอยากให้ทาง กยศ. ช่วยแจ้งข้อมูลลูกหนี้ที่ผู้ค้ำประกันให้ได้ทราบด้วย

น.ส.วิภา กล่าวว่า เมื่อเช้าลูกศิษย์โทรศัพท์มาหาและขอโทษพร้อมถามแนวทางการชำระหนี้ ซึ่งวันนี้ลูกศิษย์พูดแบบนี้ แต่เมื่อถึงวันนั้นก็ไม่ทราบได้ ทั้งนี้ ตนได้รับหมายศาลตั้งแต่ปี 2551 ก็ไม่รู้จะอย่างไร ต้องรอเวลา รอหมายศาล รอการยึดทรัพย์ ครูก็ฝากนักเรียน เพราะครูก็ไม่รู้ว่าอีก 17 คน ไม่รู้ว่าอีกกี่ปีต้องมารับภาระตรงนี้

“ความเป็นครูไม่อยากทำร้ายลูกศิษย์ เราไม่อยากฟ้องเด็ก ที่เขาทำแบบนี้เราไม่โกรธ แต่เราน้อยใจ ในเมื่อเขามีงานทำแล้ว เขาจะแก้ปัญหาให้ครูคนนี้อย่างไร”

ทั้งนี้ กองทุน กยศ.ฝากเรื่องการค้ำประกันการกู้ยืมใดๆ ผู้ค้ำประกันจะต้องตระหนักว่าจะเป็นภาระผูกพันทางกฎหมาย และฝากผู้กู้ยืมให้ชำระหนี้เป็นปกติ เพื่อไม่ให้ถูกฟ้องร้องจนเดือดร้อนถึงผู้ค้ำประกัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบิดา มารดา ญาติ หรือครู อาจารย์ เพราะหากค้างชำระเป็นระยะเวลานานจะทำให้เกิดเบี้ยปรับเป็นจำนวนมาก

ปัจจุบัน กองทุน กยศ. ได้ปล่อยเงินกู้ยืมให้แก่นักเรียน นักศึกษาไปแล้วจำนวนกว่า 5.4 ล้านราย คิดเป็นเงินกว่า 5.7 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้มีผู้กู้ยืมที่ชำระหนี้เสร็จสิ้นแล้วจำนวน 8 แสนราย อยู่ระหว่างปลดหนี้ 1 ล้านราย อยู่ระหว่างชำระหนี้ 3.5 ล้านราย แบ่งเป็นผู้ชำระหนี้ปกติ 1.4 ล้านราย ผิดนัดชำระ 2.1 ล้านราย โดยมีผู้ที่ถูกดำเนินคดีแล้วกว่า 1 ล้านราย

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ