เตือน “น้ำโขง” ยังขึ้นต่อเนื่อง จับตาฝนตกอีก วันที่ 5 - 7 ส.ค.นี้


โดย PPTV Online

เผยแพร่




แม้ว่าก่อนหน้านี้เจ้าพายุเซินติญจะแค่เข้ามาเฉียดๆประเทศไทย แต่ก็สร้างความเสียหายไว้ในหลายจุด โดยเฉพาะทางฝั่งที่อยู่ติดริมแม่น้ำโขง ตอนนี้ยังมีหลายจังหวัดได้รับผลกระทบ 

ผลกระทบหลักของพี่น้องทางฝั่งภาคอีสานวันนี้ ยังมีสาเหตุมาจาก 2 ปัจจัยหลัก นั่นคือปริมาณฝนที่ยังตกต่อเนื่องในหลายพื้นที่ และระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่เพิ่มสูงขึ้น จนน้ำที่ยังค้างในลำน้ำสายต่างๆไม่สามารถระบายออกได้ตามปกติ

หากดูจากแผนที่การระบายน้ำนี้ จะเห็นว่าทิศทางการไหลของน้ำทางภาคอีสานลุ่มน้ำชีและน้ำมูล จะไหลมาบรรจบกันตรงจุดที่เรียกว่า สบชี-มูล ก่อนจะไหลออกไปลงแม่น้ำโขง ที่บริเวณ “ปากมูล” แต่สถานการณ์น้ำล่าสุดขณะนี้ ระดับน้ำในแม่น้ำโขง กับแม่น้ำมูล ตรง อ.โขงเจียม มีระดับเท่าๆกัน ดังนั้นน้ำโขงจึงเอ่อท้นเข้าท่วมบริเวณพื้นที่ อ.โขงเจียม เช่นเดียวกับพื้นที่ริมน้ำ อ.เมืองจังหวัดมุกดาหาร ที่อยู่ติดแม่น้ำโขงเหมือนกัน ส่วนริมโขง ที่ จ.นครพนม ยังไม่ล้นตลิ่ง

นอกจากส่วนที่อยู่ติดแม่น้ำโขงแล้ว ยังมีอีกจุดที่ได้รับผลกระทบ นั่นคือ บริเวณที่ลุ่มติดลำน้ำยัง ตรง อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งได้รับน้ำจาก จ.สกลนคร  สำนักชลประทานที่ 6 ให้ข้อมูลว่า ระดับน้ำ อยู่สูงกว่าตลิ่งถึง 2.20 เมตร แต่ฝั่งขวาของแม่น้ำซึ่งเป็นชุมชน มีพนังกั้นน้ำเป็นทางยาวประมาณ 21 กิโลเมตร ก็เลยยังพอรับมือได้ แต่ส่วนฝั่งซ้าย หรือจุดที่ไม่มีพนังกั้น น้ำก็เอ่อท้นเข้าท่วมไปแล้ว สำหรับน้ำจากลำน้ำยัง จะไหลไปรวมกับแม่น้ำชี ก่อนจะระบายลงสู่แม่น้ำโขง ซึ่งโจทก์ใหญ่ของกรมชลประทานก็คือต้องเร่งระบายมวลน้ำก้อนนี้ออกโดยเร็ว ก่อนที่ฝนจะตกลงมาเพิ่ม เพราะด้วยปริมาณน้ำขณะนี้ พนังกั้นน้ำที่มีก็แทบจะเอาไว้อยู่แล้ว

กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ปริมาณฝน 7 วันข้างหน้านี้ว่า ช่วงวันที่ 1 - 4 สิงหาคมนี้ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทยจะอ่อนกำลังลง ทำให้ฝนลดน้อยลงไปด้วย ก่อนที่วันที่ 5 - 7 สิงหาคมนี้ มรสุมจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้มีฝนตกหนักในบางแห่งร้อยละ 70 - 80 ของพื้นที่

สำหรับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ กรมอุตุฯยังคงคาดการณ์ว่าจะเป็นพื้นที่ติดริมชายขอบของประเทศ ภาคเหนือ ที่จังหวัดเชียงราย น่าน แม่ฮ่องสอน ภาคอีสาน ที่จังหวัดหนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร และทางฝั่งตะวันตกของประเทศ อย่างกาญจนบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์

ถ้าดูจากการคาดการณ์ของกรมอุตุแล้ว จะเห็นว่าฝนที่จะตกลงมารอบใหม่นี้ ก็จะคงกระจายอยู่ในพื้นที่เดิม ที่เคยตกหนักไปรอบที่แล้ว เพราะฉะนั้นประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ขอให้ระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม ที่อาจเกิดซ้ำได้ ที่สำคัญ ปริมาณฝนรอบนี้ก็เป็นโจทย์ใหญ่ของกรมชลประทานที่จะนำมาคำนวนว่าสามารถรองรับน้ำรอบใหม่นี้ได้แค่ไหน

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ