ย้อนความทรงจำ “สวนสัตว์ดุสิต” สถานที่สุดฮิตไม่เสื่อมคลายของครอบครัว


โดย PPTV Online

เผยแพร่




หลังจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกรู ได้พระราชทานโฉนดที่ดิน จำนวน 300 ไร่ ในพื้นที่ คลอง 6 อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ให้องค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ดูแลเพื่อจัดตั้งเป็นสวนสัตว์แห่งใหม่ ตอนนี้ก็มีการเปิดเผยออกมาแล้วว่า “สวนสัตว์ดุสิต” จะเปิดให้บริการประชาชนเข้าไปท่องเที่ยวได้ตามปกติจนถึงสิ้นสิงหาคมนี้เท่านั้น วันนี้ทีมนิวมีเดียพีพีทีวี จะพาไปย้อนความทรงจำเกี่ยวกับ “สวนสัตว์ดุสิต” สวนสัตว์แห่งแรกในประเทศไทย สถานที่ท่องเที่ยวสุดฮิตของคนทุกเพศทุกวัย

“สวนสัตว์ดุสิต” หรือที่เรียกกันแต่เดิมว่า “สวนดุสิต” หรือ “เขาดินวนา” สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2438 หรือเมื่อ 123 ปีมาแล้ว หลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นหลังจากที่พระองค์ได้ทอดพระเนตรกิจการสวนพฤกษชาติของต่างประเทศและพบว่าสวนพฤกษชาติเป็นสถานที่ที่ให้ความรู้ความเพลิดเพลิน และเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน จึงมีพระราชดำริให้จัดสร้างขึ้นในประเทศไทย

ทำไมถึงเรียก “เขาดินวนา” ?

รัชกาลที่ 5  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในพื้นที่ราบทางด้านทิศตะวันออกติดคลองเปรมประชากร (ถนนพระราม 5)  ด้วยการขุดสระน้ำใหญ่ ประกอบคูคลองระบายน้ำ และถนน แล้วนำดินขึ้นมาเป็นเนินเขาเกาะกลางน้ำเรียกว่า “เขาดิน” และรอบๆเขาดินนั้น ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ปลูกพรรณไม้นานาชนิด สร้างขึ้นเป็นสวนพฤกษชาติส่วนพระองค์ เรียกว่า “วนา” รวมอาณาเขตส่วนนี้ทรงโปรดเรียกว่า “เขาดินวนา” ในขั้นต้นพระองค์ให้สร้างขึ้นสำหรับ เป็นที่ประพาส ทรงพระเกษมสำราญส่วนพระองค์ และข้าราชบริภารฝ่ายในก่อน ดังนั้นแต่เดิม สวนดุสิต หรือ เขาดินวนา จึงเป็นส่วนหนึ่งในเขตพระราชฐานพระราชวังดุสิต



ต่อมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงมีพระราชดำริที่จะทำนุบำรุงสวนแห่งนี้ให้กว้างขวาง และดีกว่าที่เป็นอยู่ และเปิดให้ประชาชนมาเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ ภายหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 แล้ว คณะรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานสวนดุสิต ให้ดำเนินการจัดทำเป็นสวนสาธารณะ และเป็นที่พักผ่อน หย่อนใจของประชาชน ในเวลานั้นพระองค์เจ้าทิพอาภาเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้พระราชทานอนุมัติในนามของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลรัชกาลที่ 8 ให้เทศบาลนครกรุงเทพรับบริเวณสวนดุสิต หรือ เขาดินวนา สนามเสือป่า และสวนอัมพร มาจัดเป็นสวนสาธารณะได้



จากนั้นทางเทศบาลนครกรุงเทพ ได้จัดการย้ายกวางดาว และสัตว์ชนิดต่างๆ มาจากสวนอัมพร และ ย้ายสัตว์บางชนิด เช่น จระเข้ ลิง จากสวนสราญรมย์ มาไว้ที่เขาดินวนา และได้ขอให้ทางสำนักพระราชวัง ส่งช้างหลวงมาให้ประชาชนได้ชมในวันอาทิตย์ และเมื่อปรับปรุงสิ่งก่อสร้างต่างๆ เรียบร้อยแล้วทางเทศบาล นครกรุงเทพจึงเปิดสวนดุสิตให้ประชาชนเที่ยวชม และพักผ่อนหย่อนใจได้เมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2481 และให้เรียกสวนดุสิตนี้ว่า “สวนสัตว์ดุสิต” ซึ่งถือได้ว่าเป็นสวนสัตว์แห่งแรกในประเทศไทย จนถึงตอนนี้ก็มีอายุ 80 ปีแล้ว

พื้นที่กว่า 118 ไร่ ในกรุงเทพมหานคร ของสวนสัตว์ดุสิต เป็นแหล่งท่องเที่ยวในความทรงจำของใครหลายคน จากเด็ก วัยรุ่น วัยทำงาน หรือวัยผู้สูงอายุ ก็ต่างผูกพันกับสถานที่แห่งนี้  ขณะที่สัตว์ดาวเด่นของที่นี่ย่อมหนีไม่พ้น “แม่มะลิ” ฮิปโปโปเตมัส ที่จะครบรอบอายุ 52 ปีในปีนี้ เป็นหนึ่งในสัตว์ที่หลายคนต้องมายลโฉม โดยสวนสัตว์ดุสิตได้รับแม่มะลิมาจากสวนสัตว์ทีลเบิร์ก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2510 อายุ 1 ปี จนปัจจุบันแม่มะลิมีอายุครบ 52 ปี โดยมีลูกมาแล้วถึง 14 ตัว และถูกจัดส่งไปตามสวนสัตว์ขององค์การฯทั่วประเทศ นอกจากแม่มะลิแล้วยังมีสัตว์อีกจำนวนมากที่อยู่ภายในสวนสัตว์แห่งนี้

นอกจากการชมสัตว์ในสวนสัตว์แล้ว ยังมีการสาธิตการให้อาหารสัตว์หน้าส่วนแสดงด้วย และอีกหนึ่งกิจกรรมที่ที่ใครหลายคนต้องนึกถึงนั่นก็คือ “เรือจักรยานนาวา” ที่หลายคนมาที่นี่แล้วไม่ควรพลาด รวมทั้งการนั่งรถพ่วงชมสวนสัตว์

ปัจจุบันคิดค่าเข้ามาเที่ยวชม ผู้ใหญ่ 100 บาท , ปวส. – มหาวิทยาลัย 50 บาท  , เด็กเล็ก - ปวช. 20 บาท , ข้าราชการ (ในเครื่องแบบ)50 บาท และผู้สูงอายุ 60ปีขึ้นไป คนพิการ ภิกษุ-สามเณร ชมฟรี เปิดบริการทุกวัน 08.00 - 18.00 น. โดยจะเปิดบริการจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคมนี้เท่านั้นเพื่อทยอยดำเนินการเคลื่อนย้ายสัตว์ออกไปจัดแสดง ณ สวนสัตว์ต่าง ๆ ภายใต้การบริหารขององค์การสวนสัตว์ จำนวน 6 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ สวนสัตว์เปิดเขาเขียว สวนสัตว์เชียงใหม่ สวนสัตว์นครราชสีมา สวนสัตว์สงขลา สวนสัตว์อุบลราชธานี และสวนสัตว์ขอนแก่น อย่าลืมมาทบทวนความทรงจำวัยเด็กกันได้ที่ “สวนสัตว์ดุสิต”

 

อ่านต่อ...

ติดตามข่าววันนี้ได้ที่นี่ >> //www.pptvhd36.com/special/ข่าววันนี้

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ