กระแส "เงินดิจิทัล" มาแรง! ลงทุนอย่างไรไม่ให้โดนหลอก


โดย PPTV Online

เผยแพร่




"เงินสกุลดิจิทัล" กำลังได้รับความนิยมในหมู่นักลงทุนจำนวนมากและมีหลากหลายสกุลเงิน ซึ่งผู้ลงทุนมีทั้งได้รับผลตอบแทนที่ดีขณะเดียวกันก็มีหลายกรณีที่ไม่เป็นอย่างที่คาดหวังไว้แถมยังสูญเงินจำนวนมหาศาล

จากกรณีการจับกุมนักแสดงชื่อดัง "บูม จิรัชพิสิษฐ์" หรือ นายจิรัชพิสิษฐ์ จารวิจิต (คลิกอ่าน รู้จัก “บูม จิรัชพิสิษฐ์” ) และตกเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับในข้อหา "ร่วมกันฟอกเงิน" ฐานหลอกลวงให้ร่วมลงทุนเงินสกุลดิจิทัลร่วมกับพี่ชายและพี่สาว (อ่านเพิ่ม “พี่สาวบูม” ดอดเข้ามอบตัวตำรวจคดีฟอกเงินบิทคอยน์ 700 ล้านจนได้รับความเสียหายเป็นมูลค่ากว่า 797 ล้านบาท (อ่านเพิ่ม ตร.เผย หัวโจก “แก๊งตุ๋นบิทคอยน์” กว่า 700 ล้าน เผ่นหนีเกาหลีใต้! ) ทำให้กระแสการพูดถึงเงินสกุลดิจิทัลกลับมาอีกครั้ง

และเพื่อเป็นการไม่เกิดการซ้ำรอย ทาง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ชี้แจงความชัดเจนเกี่ยวกับ การประกอบธุรกิจ สินทรัพย์ดิจิทัลหลังจากที่ กฎหมายลูกเพื่อรองรับ พ.ร.ก. การประกอบธุรกิจ สินทรัพย์ดิจิทัล มีผลในวันที่ 14 พฤษภาคม 2561 ระบุว่า ก.ล.ต.ประกาศรายชื่อคริปโทเคอร์เรนซี 7 ตัว ได้แก่ Bitcoin, Bitcoin cash, Ethereum, Ethereum Classic, Litecoin, Ripple และ Steller เป็นเพียงคริปโทเคอร์เรนซีที่ให้นำมาใช้ซื้อไอซีโอในตลาดแรกได้ เมื่อมีไอซีโอที่ได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. แล้ว รวมทั้งเป็นคริปโทเคอร์เรนซีที่ศูนย์ซื้อขายสามารถนำไปใช้คานวณการซื้อขายแลกเปลี่ยน หรือการกำหนดราคาสินทรัพย์ดิจิทัลอื่น ๆ (base trading pair) เท่านั้น 

"ไม่ได้เป็นการรับรองฐานะทางกฎหมายของคริปโทเคอร์เรนซี 7 ตัวนี้ รวมทั้งผู้ลงทุน ก็ยังสามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลตัวอื่นๆ ในศูนย์ซื้อขายได้"

ส่วนเกณฑ์ที่จะออกไม่ว่าจะเป็นเกณฑ์การออกโทเคนดิจิทัล เกณฑ์อนุญาตไอซีโอพอร์ทัล และต่อด้วยเกณฑ์การให้อนุญาต เป็นผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ไม่ว่าจะศูนย์ซื้อขาย (exchange) หรือตัวกลางอื่นๆ  ในระหว่างนี้ ขอขีดเส้นใต้ว่าการออกไอซีโอยังทำไม่ได้ ต้องรอให้เกณฑ์ออกและ ก.ล.ต. ให้ความเห็นชอบไอซีโอพอร์ทัลแล้วจึงจะเริ่มพิจารณาไอซีโอใดๆได้ 

ดังนั้น หากมีข่าวว่ามีโทเคนดิจิทัลที่ ก.ล.ต. อนุมัติแล้ว หรือถูกใครมาชักชวนให้ซื้อโทเคนดิจิทัลตอนนี้โดยอ้างว่ายื่นกับ ก.ล.ต. หรือ ก.ล.ต.อนุมัติแล้ว ต้องเช็คดีๆ ก่อน เพราะมีสิทธิที่จะโดนหลอก

สำหรับรายชื่อคริปโทเคอร์เรนซีทั้ง 7 ตัวที่ให้นำมาใช้ซื้อไอซีโอในตลาดแรกได้ ประกอบด้วย

1.Bitcoin (BTC) หรือ บิทคอยส์ เงินสกุลดิจิทัลที่นักโปรแกรมเมอร์ชาวญี่ปุ่น ซาโตชิ นากาโมโต้ สร้างขึ้นในปี 2552 ซึ่งได้รับการยอมรับจากนักลงทุนในการซื้อขายแลกเปลี่ยนมากที่สุด

2.Bitcoin Cash (BCH) หรือ บิทคอยน์ แคช แยกตัวออกมาจาก บิทคอยส์ เพราะต้องการแก้ปัญหาเรื่องค่าโอนให้ถูกลงแต่รวดเร็วขึ้น ในปี 2560

3.Ethereum (ETH) หรือ อีทีเรียม ถูกพัฒนาขึ้นในปี 2556 โดย Vitalik Buterin จนเป็นที่ยอมรับ มีจุดเด่นที่ใช้ได้หลากหลายธุรกรรม ซึ่งเป็นฐานการระดมทุนทำ ICO (Initial Public Offering)

4.Ethereum Classic (ETC) หรือ อีทีเรียม คลาสสิค แยกออกมาจากสกุลอีทีเรียมอีกที โดยถูกพัฒนาในปี 2559

5.Litecoin (LTC) หรือ ลิทคอยส์ มีจุดเด่นที่การประมวลผลทางธุรกรรมทางการเงินที่รวดเร็ว ค่าธรรมเนียมถูกกว่า ถูกพัฒนาในปี 2554 โดยวิศวกรของ Google

6.Ripple (XRP) หรือ ริปเปิล สกุลเงินดิจิทัลที่ค่อนข้างเป็นที่ยอมรับของสถาบันการเงิน เช่น Standard Chartered , Seagate รวมถึงธนาคารไทยพาณิชย์ของไทย

และ 7.Stellar (XLM) หรือ สเตลลาร์ พัฒนาโดย  Jed McCaleb เป็นสกุลเงินที่พัฒนาขึ้นจาก ริปเปิล เพื่อแลกเปลี่ยนสกุลเงินหลัก แตกต่างที่รองรับการใช้งานของคนทั่วไปจำนวนเงินไม่มาก ขณะที่ ริปเปิล เน้นที่กลุ่มสถาบันการเงินเป็นหลัก

นอกจากนี้ จาก พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 อนุญาตให้ผู้ที่ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่แล้วก่อนวันที่กฎหมายมีผล ได้ยื่นคำขออนุญาตต่อ ก.ล.ต. ภายในกำหนด 90 วัน (ภายในวันที่ 14 สิงหาคม 2561) สามารถประกอบธุรกิจดังกล่าวต่อไปได้จนกว่าจะมีคำสั่งไม่อนุญาต โดยจนถึงวันที่ 14 สิงหาคม 2561 มีผู้ประกอบธุรกิจรายเดิมที่ยื่นขออนุญาตตามบทเฉพาะกาลซึ่งจะสามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้ มีจำนวน 7 ราย คือ

ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Exchange) 5 ราย ได้แก่
1.บริษัท บิทคอยน์ จำกัด (BX) เว็บไซต์ : bx.in.th
2.บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด (BITKUB) เว็บไซต์ : bitkub.com
3.บริษัท แคชทูคอยน์ จำกัด (Cash2coin) เว็บไซต์ : cash2coins.com
4.บริษัท สตางค์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (TDAX) เว็บไซต์ : tdax.com
5.บริษัท คอยน์ แอสเซท จำกัด (Coin Asset) เว็บไซต์ : coinasset.co.th

ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล (Dealer) 2 ราย ได้แก่
1.บริษัท คอยส์ ทีเอช จำกัด (Coins TH) เว็บไซต์ : Coins.co.th
2.บริษัท ดิจิทัลคอยน์ จำกัด (ThaiWM) เว็บไซต์ : thaiwm.com

นอกจากนี้ ก.ล.ต. อยู่ระหว่างสอบทานข้อมูลของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลอีก 2 ราย ที่ได้ยื่นคำขออนุญาตตามบทเฉพาะกาล เพื่อยืนยันว่าได้มีการประกอบธุรกิจอยู่ก่อนวันที่ 14 พฤษภาคม 2561 หรือไม่ และจะเปิดเผยข้อมูลบนเว็บไซต์ ก.ล.ต. www.sec.or.th/digitalasset  ต่อไป

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากระแสความนิยมของสกุลเงินดิจิทัลจะมีมากขึ้น แต่ในทุกๆ การลงทุนไม่ว่าจะรูปแบบใดย่อมมีความเสี่ยง ดังนั้น จึงควรศึกษาข้อมูลหรือสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียดเพื่อประกอบข้อมูลการตัดสินใจลงทุน

ติดตามข่าววันนี้ได้ที่นี่ >> //www.pptvhd36.com/special/ข่าววันนี้

ภาพ เอเอฟพี 

ข้อมูล สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ , เว็บไซต์ investing.com , ธนาคารแห่งประเทศไทย

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ