“ตะกร้อ” กับ “เซปักตะกร้อ” ชื่อนี้ต่างกันอย่างไร ?


โดย PPTV Online

เผยแพร่




หลายคนยังคงสงสัยว่า “ตะกร้อ” กับ “เซปักตะกร้อ” ชื่อนี้มีความหมายต่างกันอย่างไร ?

วันนี้นิวมีเดียพีพีทีวี จะไขความข้องใจเกี่ยวกับที่มาที่ไปของคำว่า “ตะกร้อ” กับ “เซปักตะกร้อ”

จากข้อมูลของสมาคมตะกร้อแห่งประเทศไทย กล่าวถึงประวัติตะกร้อ ไว้ว่า ปี พ.ศ. 2133-2149 (ค.ศ. 1590-1606) ประเทศไทย เดิมชื่อ "ประเทศสยาม" เมื่อครั้ง "สมเด็จพระนเรศวรมหาราช" ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ในยุคสมัย "กรุงศรีอยุธยา" เป็นเมืองหลวง คนไทยหรือคนสยาม มีการเริ่มเล่นตะกร้อที่ทำด้วย "หวาย" ซึ่งเป็นการเล่น "ตะกร้อวง" (ล้อมวงกันเตะ)

กระทั่งปี พ.ศ. 2199-2231 (ค.ศ. 1656-1688) มีหลักฐานพอจะอ้างอิงได้ว่า ในสมัย "สมเด็จพระนารายณ์มหาราช" ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ในยุคสมัย กรุงศรีอยุธยา เป็นเมืองหลวง มีคณะสอนศาสนาชาว "ฝรั่งเศส" มาพำนักในกรุงศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2205 มีการสร้างวัดนักบุญยอเซฟ นิกายโรมันคาทอริก ซึ่งมีบันทึกของ "บาทหลวง เดรียง โลเนย์" ว่าชาวสยามชอบเล่นตะกร้อกันมาก

ต่อมา ปี พ.ศ. 2315 (ค.ศ. 1771) เป็นช่วงหมดยุค "กรุงศรีอยุธยา" ซึ่งเป็นตอนต้นแห่งยุคสมัย "กรุงธนบุรี" เป็นเมืองหลวง ได้มีชาวฝรั่งเศสชื่อ "นายฟรังซัว อังรี ตุระแปง" ได้บันทึกในหนังสือชื่อ "HISTOIRE DU ROYAUME DE SIAM" พิมพ์ที่ "กรุงปารีส" ระบุว่า "ชาวสยาม" ชอบเล่นตะกร้อในยามว่างเพื่อออกกำลังกาย

ต่อมาปี พ.ศ. 2395 (ค.ศ. 1850) ในยุค "กรุงรัตนโกสินทร์" หรือ กรุงเทพมหานคร เป็นเมืองหลวง ยังมีข้ออ้างอิงในหนังสือชื่อ "NARATIVE OF A FESIDENCE IN SIAM" ของชาวอังกฤษชื่อ "นายเฟรเดอริค อาร์ เซอร์นีล" ระบุว่ามีการเล่นตะกร้อในประเทศสยาม

การเล่นตะกร้อ ของคนไทยหรือคนสยาม มีหลักฐานอ้างอิงค่อนข้างจะชัดเจนว่ามีการเล่นกันมานานแล้ว ตั้งแต่ยุคสมัย "กรุงศรีอยุธยา" เป็นเมืองหลวง พยานหลักฐานสำคัญที่จะยืนยันหรืออ้างอิงได้ดีที่สุด น่าจะเป็นบทกวีในวรรณคดีต่าง ๆ ของแต่ละยุคสมัยที่ร้อยถ้อยความเกี่ยวพันถึง "ตะกร้อ" ไว้ เช่น

ปี พ.ศ. 2276-2301 (ค.ศ. 1733-1758) ในยุคสมัย "พระเจ้าบรมโกศ" ครอง "กรุงศรีอยุธยา" ซึ่งเป็นยุคที่วรรณคดีหรือวัฒนธรรมด้านอักษรศาสตร์เฟื่องฟู ก็มีกวีหลายบทเกี่ยวพันถึง "ตะกร้อ"

ปี พ.ศ. 2352-2366 (ค.ศ. 1809-1823) เป็นยุคตอนต้นของ "กรุงรัตนโกสินทร์" (กรุงเทพมหานคร) เป็นเมืองหลวง สมัย "พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย" (รัชกาลที่ 2) ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ในพระราชนิพนธ์ร้อยกรองของวรรณคดีเรื่อง "อิเหนา" และเรื่อง "สังข์ทอง" มีบทความร้อยถ้อยความเกี่ยวพันถึง "ตะกร้อ" ด้วย

ปี พ.ศ. 2366-2394 (ค.ศ. 1823-1851) ในยุคสมัย "กรุงรัตนโกสินทร์" เป็นเมืองหลวง สมัย "สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว" (รัชกาลที่ 3) ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ ในบทกวีของ "สุทรภู่" กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้เขียนบทกวี นิราศเมืองสุพรรณ ในปี พ.ศ. 2384 (ค.ศ. 1841) มีร้อยถ้อยความเกี่ยวพันถึง "ตะกร้อ" ไว้เช่นกัน

ปี พ.ศ. 2470 (ค.ศ.1927) ได้มีการจดทะเบียนก่อตั้ง "สมาคมกีฬาสยาม" อย่างเป็นทางการ โดยมี "พระยาภิรมย์ภักดี" เป็นนายกสมาคมกีฬาสยาม คนแรก ซึ่งได้จัดให้มีการแข่งขัน "ตะกร้อข้ามตาข่าย" ที่ท้องสนามหลวง เป็นครั้งแรก

ดังนั้น “ตะกร้อ” จึงเป็นการเล่นที่มีมายาวนานของไทย โดยลูกตะกร้อทำจากหวาย

สำหรับกีฬาตะกร้อ เป็นกีฬาของชนชาติเอเชีย ซึ่งมีหลายประเทศนิยมเล่นกัน และแต่ละประเทศก็มีวิธีการเล่นหรือกติกาที่แตกต่างกัน เช่น พม่า เตะกันแบบล้อมเป็นวง (5-6 คน) พม่า เรียกตะกร้อว่า "ชินลง"

มาเลเซีย เล่นตะกร้อข้ามตาข่าย ซึ่งดัดแปลงการเล่นมาจากกีฬาวอลเลย์บอล แต่ได้กำหนดให้สนามเล็กลง และมีผู้เล่นน้อยลง (จาก 6 คน เหลือ 3 คน) เรียกว่า "เซปัก รากา จาริง" โดยแปลความหมายได้ว่า "เตะตะกร้อข้ามตาข่าย" มาเลเซีย เรียกตะกร้อว่า "รากา"

ส่วนการกำเนิดกีฬา “เซปักตะกร้อ”

เริ่มขึ้นระหว่างเดือน มีนาคม-เมษายน 2508 (March-April 1965) สมาคมกีฬาไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดงานเทศกาล "กีฬาไทย" โดยจัดให้มีการแข่งขันว่าว, กระบี่-กระบอง และตะกร้อ ณ ท้องสนามหลวง กรุงเทพมหานคร ซึ่งครั้งนั้น สมาคมกีฬาตะกร้อ จากเมืองปีนัง ประเทศมาเลเซีย ได้นำวิธีการเล่นตะกร้อของ "มาเลเซีย" คือ "เซปัก รากา จาริง" มาเผยแพร่ให้คนไทยรู้จัก ในเชิงเชื่อมสัมพันธไมตรี และได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกติกาของตะกร้อไทยด้วย

ครั้งนั้น สมาคมกีฬาไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดให้มีการสาธิตกีฬาตะกร้อของทั้งสองประเทศ ระหว่างไทย กับ มาเลเซีย โดยผลัดกันเล่นตามกติกาของ "มาเลเซีย" 1 วัน, เล่นแบบกติกา ของไทย 1 วัน

หลังจากวันนั้น ได้ข้อสรุปว่า ...

- วิธีการเล่นและรูปแบบสนามแข่งขัน ให้ถือเอารูปแบบของประเทศ "มาเลเซีย"

- อุปกรณ์การแข่งขัน (ลูกตะกร้อ-เน็ต) และขนาดความสูงของเน็ต ให้ถือเอารูปแบบของประเทศ "ไทย"

- และได้ตั้งชื่อกีฬาตะกร้อนี้ว่า "เซปัก-ตะกร้อ" เป็นภาษาของ 2 ชาติรวมกัน กล่าวคือคำว่า "เซปัก" เป็นภาษามาเลเซีย แปลว่า "เตะ" คำว่า "ตะกร้อ" เป็นภาษาไทย หมายถึง ลูกบอล

ปี พ.ศ. 2508 (ค.ศ. 1695) ประเทศมาเลเซีย เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน "กีฬาเซียพเกมส์" ครั้งที่ 3 ได้บรรจุ "กีฬาเซปักตะกร้อ" เข้าแข่งขันระดับชาติเป็นครั้งแรก โดยมีการแข่งขันประเภททีมชุดเพียงประเภทเดียว (แข่งขัน 2 ใน 3 ทีม) ซึ่งมีทีมส่งเข้าร่วมการแข่งขัน 3 ชาติ ได้แก่ มาเลเซีย, ไทย และสิงคโปร์ การแข่งขันครั้งนั้น ทีมไทยกับทีมมาเลเซีย เป็นคู่ชิงชนะเลิศ ผลของการแข่งขันปรากฏว่า ทีมมาเลเซีย ได้ครองเหรียญทอง

อ่านข่าว : “ตะกร้อทีมชุดชาย” ชนะ “มาเลเซีย” คว้าเหรียญทอง  6 สมัยติด ศึกเอเชียนเกมส์ 2018

ขอบคุณข้อมูลจาก สมาคมตะกร้อแห่งประเทศไทย http://www.sepaktakrawworld.com/index.php/2014-01-17-04-10-4

ติดตามข่าววันนี้ได้ที่นี่ >>> //www.pptvhd36.com/special/ข่าววันนี้

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ