“เภสัชกร” เดินหน้าค้าน พ.ร.บ. ยา ฉบับใหม่


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ข้อถกเถียงเรื่อง การเพิ่มอำนาจให้บุคคลอื่นนอกจากเภสัชกรสามารถจ่ายยาได้ ใน ร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ. .... (ฉบับใหม่ กรกฎาคม 2561) เป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้ “เภสัชกร” เดินหน้าแสดงจุดยืนคัดค้านอย่างต่อเนื่องตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา

ภญ.ศิริรัตน์ ตันปิชาติ นายกสมาคมเภสัชกรรมชุมชนเภสัชกร มองว่า ผู้ที่จะจ่ายยาให้ผู้ป่วยต้องมีความรู้เรื่องโครงสร้างยา เพราะหากผู้ป่วยแพ้ยา การจ่ายยาจะต้องหลีกเลี่ยงยาในกลุ่มชนิดเดียวกันทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะยาตัวที่แพ้เท่านั้น โดยการเรียนรู้เรื่องโครงสร้างยา พยาบาลหรือวิชาชีพอื่นๆ ไม่ได้เรียนรู้แบบลึกซึ้ง แม้ที่ผ่านมาจะพบว่า ตามร้านขายยามีบุคคลอื่นที่ไม่ใช่เภสัชกรเป็นผู้จ่ายยาให้ผู้ป่วย แต่หากดูตามข้อกฎหมายเดิม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 ฉบับเดิม กำหนดไว้ว่า หากบุคคลอื่นที่ไม่ใช่เภสัชกร จ่ายยาให้ผู้ป่วยโดยไม่ได้รับอนุญาต จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 10,000 บาท แต่การแก้ไขกฎหมายรอบนี้ เป็นไปตามเนื้อหาของร่างกฎหมายที่เผยแพร่ออกมา ก็จะทำให้มีบุคลากรในสายสุขภาพได้รับข้อยกเว้นนี้ และอาจทำให้การจ่ายยาโดยบุคคลอื่นที่ไม่ใช่เภสัชกร กลายเป็นเรื่องถูกกฎหมาย ทั้งที่มีความเสี่ยงตกอยู่กับประชาชน ( อ่านข่าว : “เภสัชกร” ยืนยัน ค้านร่างพ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ เพราะกระทบ “ผู้ป่วย” มากที่สุด )

วันนี้ (3 ก.ย.61) เวลา 16.30 น. กลุ่มศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมแสดงพลังและแสดงจุดยืนคัดค้าน (ร่าง) พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ เพื่อสนับสนุนการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ปกป้องคุ้มครองประชาชนให้ปลอดภัยจากการใช้ยา ที่ลานหน้าสหกรณ์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

และในช่วงวันหยุดที่ผ่านมา ชมรมเภสัชกรภาคใต้และ 8 เครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรม ได้ออกแถลงคัดค้าน (ร่าง) พระราชบัญญัติยา พ.ศ...... (ฉบับใหม่) เมื่อวันนี้ 2 กันยายน 2561 ที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ชมรมเภสัชกรภาคใต้และ 8 เครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรม รวมเป็น 9 องค์กรวิชาชีพเภสัชกรรม อันได้แก่ ชมรมเภสัชกร 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้, ชมรมเภสัชกรชุมชนจังหวัดสงขลา, ชมรมเภสัชกรชุมชนจังหวัดภูเก็ต, สมาคมศิษย์เก่าคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, สำนักวิชาเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ , คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ , ชมรมเภสัชสาธารณสุขจังหวัดแห่งประเทศไทย และสมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) ร่วมกับสโมสรนักศึกษาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้นัดหมายแสดงออกซึ่งการคัดค้าน (ร่าง) พ.ร.บ.ยา  และออกแถลงการณ์คัดค้าน โดยมีเภสัชกรจากหลายพื้นที่ในภาคใต้รวมตัวใส่ชุดฟอร์มเภสัชกรรวมตัวกันแสดงออกถึงการคัดค้านไม่ต่ำกว่า 200 คน

ทั้งนี้ ภญ.สุจิตา กุลถวายพร ประธานชมรมเภสัชกรภาคใต้ ได้เป็นตัวแทน 9 องค์กรวิชาชีพเภสัชกรรมในภาคใต้อ่านแถลงการณ์แสดงจุดยืน โดยสาระสำคัญในแถลงการณ์ได้ระบุเหตุผลที่จำเป็นต้องมีการคัดค้าน ดังนี้ เนื่องจาก (ร่าง) พระราชบัญญัติยา พ.ศ.....ดังกล่าวมีข้อบกพร่องร้ายแรงขัดกับหลักการของร่างกฎหมาย อันได้แก่ การขาดหลักความเป็นสากลโดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดประเภทยา  ขาดหลักการคุ้มครองผู้บริโภคในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ  อันได้แก่ การยกเว้นให้ผู้ไม่เชี่ยวชาญ ผลิต แบ่งบรรจุ และจ่ายยา โดยไม่ต้องขออนุญาต การไม่ทบทวนทะเบียนตำรับยา  ขาดหลักความยุติธรรมจากบทลงโทษผู้รับอนุญาตสูงกว่าผู้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขออนุญาตในลักษณะความผิดเดียวกัน  ขาดหลักการตรวจสอบความผิดพลาดจากการใช้ยาระหว่างวิชาชีพ มุ่งเน้นการจัดการเบ็ดเสร็จในตัวเอง โดยคำนึงถึงเพียงประนีประนอมผลประโยชน์ระหว่างวิชาชีพ ไม่คำนึงว่าจะทำลายระบบยาและเพิ่มความไม่ปลอดภัยในการใช้ยาของประชาชนอย่างร้ายแรงที่สุด พร้อมทั้งเรียกร้องต่อเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา “ให้ถอนร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ...... (ฉบับเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2561 :ฉบับ  ลับ  ลวง  พราง) ออกไป ไม่เสนอต่อรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข  ภายใน 15 วัน

ส่วนองค์กรประชาชนอีสาน ออกมาแสดงจุดยืนคัดค้าน พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ เมื่อวันที่ 1 กันยายน  2561 ที่ห้องประชุมอาคาร 1 คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดกิจกรรมแสดงจุดยืน “คัดค้าน (ร่าง) พ.ร.บ.ยา” โดยเครือข่ายเภสัชกร ชมรมเภสัชกรชุมชน , ชมรมเภสัช สสจ., ชมรมเภสัช รพท.,เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคอีสาน , สมาคมผู้บริโภค จ.ขอนแก่น,สมาคมผู้สูงวัยภูมิปัญญาไทย จ.ขอนแก่น, ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน จ.ขอนแก่น, เครือข่ายคนพิการ จ.ขอนแก่น,เครือข่ายแรงงานนอกระบบภาคอีสานและชมรมผู้ประกอบการวิทยุ จ.ขอนแก่น มีการรวมตัวกันทั้งภาคประชาชนและเครือข่ายเภสัชแสดงสัญญลักษณ์และอ่านแถลงการณ์ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนจากนั้นมีการเสวนาในห้องประชุมเพื่อวิเคราะห์ร่างกฎหมายดังกล่าว  ซึ่งจะเข้าสู่ สนช.ช่วงเดือนธันวาคมนี้ 

นายปฏิวัติ  เฉลิมชาติ  ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคอีสาน  กล่าวว่า  เมื่อช่วงปี 2557 ที่ผ่านมาเราก็ร่วมคัดค้านกฎหมายนี้  ที่อำนาจรัฐเป็นใหญ่หรือ เพิ่มอำนาจรัฐ ลดอำนาจประชาชนมีการออกกฎหมายและแก้ไขกฎหมายที่กระทบต่อประชาชน  เช่น การแก้ไขกฎหมาย  พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  พ.ศ.2561 ที่ยิ่งแก้ยิ่งแย่  ต้องยุติเพราะเจอแรงต้านจากประชาชน ,เหตุการณ์ต่อมาคือให้รัฐบาลยกเลิกการใช้สารเคมีทางการเกษตร รัฐบาลเอาใจแต่นายทุนไม่กล้าแบนสารเคมี ที่กำลังผลักดัน  รณรงค์อยู่ในขณะนี้และการแก้ไข พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่นี้ โดยเนื้อหาแล้วไม่ได้เกิดประโยชน์กับประชาชน

อ่านข่าว :

ฟังชัดๆ ทำไมการจ่ายยาต้องเป็น “เภสัชกร” เท่านั้น !!

ร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ เอื้อประโยชน์ร้านสะดวกซื้อจริงหรือ ?

เปิดใจนายกสภาเภสัชฯ แก้กฎหมายยา เอื้อประโยชน์ร้านสะดวกซื้อจริงหรือไม่

เภสัชกร-พยาบาล เห็นต่าง แก้ไข พ.ร.บ.ยา ให้บุคลากร สธ.ด้านอื่นจ่ายยาได้

ยังเสียงแตก !! พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ “เภสัชกร-พยาบาล”

ติดตามข่าววันนี้ได้ที่นี่ >>> //www.pptvhd36.com/special/ข่าววันนี้

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ