แพทย์โรคผิวหนัง ชี้การติดเชื้อ HIV จากการสักมีโอกาสน้อย


โดย PPTV Online

เผยแพร่




แพทย์โรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ชี้ ความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อเอชไอวี (HIV) จากการสักผิวหนัง มีโอกาสน้อยมาก แต่ก็มีความเสี่ยง ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง

สืบเนื่องจากกรณี หญิงสาววัยรุ่น อายุ 22 ปี เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) และฌาปนกิจศพเมื่อช่วงเย็นของวันที่ 2 กันยายนที่ผ่านมา หลังจากเสร็จสิ้นงานฌาปนกิจศพ ผู้เป็นพ่อได้นำหลักฐานใบรับรองแพทย์จากโรงพยาบาลนครพิงค์มาให้ดู ซึ่งใบรับรองแพย์ระบุว่า ผู้ตายติดเชื้อเอชไอวี ขั้นที่ 3 พร้อมกับนำหนังสือรับรองการตายที่โรงพยาบาลเลยออกให้ โดยโรคที่เป็นสาเหตุการตายมีด้วยกัน 3 โรค คือ โรคภาวะการช็อกเพราะความดันเลือดผิดปกติ  (Hypovolemic Shock) ซึ่งเป็นมาได้ 14 วัน  โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน (Acute diarrhea)เป็นมาได้ 14 วัน และติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ซึ่งเป็นมาได้ 1 ปีแล้ว ทว่า พ่อของสาววัย 22 ปีที่เสียชีวิตยังเชื่อในคำพูดของลูกสาวที่บอกก่อนเสียชีวิต ว่า การสักลายที่ข้อเท้าของลูกสาวจะเป็นสาเหตุของการติดเชื้อ แต่ไม่อยากให้เรื่องบานปลายไปมากกว่านี้ และขอหยุดการให้ข่าวแค่นี้

อ่านข่าว : พ่อเชื่อลูกสาวติดเชื้อ “HIV” จากการสักลาย แต่ไม่โทษใคร ขอจบเรื่องแค่นี้

วันนี้ (4 ก.ย.61) พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงว่าหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อเอชไอวี จากการสักผิวหนัง คืออุปกรณ์ที่ใช้ โดยเฉพาะการใช้เข็มซ้ำหลายคน แต่ยอมรับว่ามีโอกาสน้อยมาก เพราะถึงแม้จะใช้เข็มเดียวกัน แต่การจะได้รับเชื้อจากคนสู่คน เชื้อเอชไอวี ต้องมีปริมาณมากพอ คุณภาพเชื้อต้องแข็งแรงด้วย ซึ่งตามหลักแล้ว เมื่อเชื้อสัมผัสอากาศ หรือสัมผัสกับหมึก ก็จะทำให้เชื้อค่อยๆเสื่อมสภาพ จึงยากที่จะติดไปยังอีกคนได้

ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง ยืนยันว่า นอกจากโอกาสการติดเชื้อจากการสักผิวหนังจะน้อยแล้ว ในกรณีที่ได้รับเชื้อเอชไอวี ตามหลักการแล้ว เป็นไปไม่ได้ ที่ผู้ติดเชื้อเอชไอวี จะเสียชีวิตภายในระยะเวลา 3-4 เดือน เพราะในช่วงนี้ร่างกายอยู่ในช่วงสร้างภูมิคุ้มกัน จะยังไม่มีอาการที่แสดงออกมาทางร่างกาย

รู้ว่าติดเชื้อ HIV สามารถสักได้หรือไม่?

พญ.มิ่งขวัญ กล่าวว่า สามารถสักได้ ถ้ามีการดูแลเรื่องการทำให้ปราศจากเชื้อได้อย่างดี เหมือนกับคนที่มีเชื้อ HIV มาผ่าตัดมาคลอดหมอก็จะดูแลอย่างดี แต่ร้านสักอาจดูแลได้ไม่ดีเท่ากับสถานพยาบาล แต่ก็แนะนำว่าคนที่ติดเชื้อ HIV ไม่ควรจะสัก เพราะอาจเป็นแหล่งแพร่เชื้อให้คนอื่น และหลังจากการสักจะมีปัญหาตามมา เช่น การติดเชื้อ เพราะภูมิคุ้มกันของคนติดเชื้อ HIV จะต่ำ

พญ.มิ่งขวัญ กล่าวต่อว่า การสักมีความเสี่ยงติดเชื้อ HIV ถึงแม้ว่าจะน้อย แต่ก็มีความเสี่ยง ดังนั้นเสี่ยงอย่างอื่นยังพอว่า แต่เสี่ยงติดเชื้อ HIV แม้จะน้อยแต่ก็อยู่ในขั้นที่ยอมรับไม่ได้ คือ ห้ามมีความเสี่ยงนี้ดีกว่า

พญ.มิ่งขวัญ กล่าวต่อว่า ที่มีความเสี่ยงน้อย เนื่องจากโดยทั่วไปเลือดไม่ได้ออกเยอะ ไม่เหมือนเวลาแพทย์โดนเข็มจากคนไข้ แต่การสักเป็นการที่เลือดติดจากเข็มเดิมที่เคยใช้กับคนสักคนก่อน ซึ่งก็จะผ่านระยะเวลามาพอสมควร ความแข็งแรงของเชื้อก็จะไม่ได้มากเหมือนกับโดนเข็มโดยตรงทันที ความเสี่ยงก็ไม่เหมือนกับแพทย์ที่โดนเข็มตำโดยตรง

พญ.มิ่งขวัญ กล่าวว่า เรื่องของการสักเป็นความชอบเฉพาะตัว เป็นเรื่องของแฟชั่น แนะนำว่า ก่อนที่จะสักขอให้ทบทวนและถามตัวเองสัก 2-3 รอบ ว่าชอบจริงๆ เพราะกระบวนการหลังจากที่สักไปแล้วกลับคืนยาก แม้จะมีการลบรอยสักแล้วก็ตาม และพบว่ามีงานวิจัยหลายงานทั้งในไทยและต่างประเทศ พบว่า คนที่สักไปแล้วเสียใจที่สัก ซึ่งเป็นเปอร์เซ็นต์มากพอสมควร ที่บอกว่าถ้ามีโอกาสคิดใหม่จะไม่สัก ถ้าทบทวนตัวเองดีแล้วว่าจะสัก ขอให้เลือกร้านสักที่ได้มาตรฐาน และตอนจะสักต้องขอดูเข็มที่ใช้สักให้ดีว่าเพิ่งฉีกออกจากถุงเป็นเข็มใหม่ และดูกระบวนการทำความสะอาดเครื่องมือในการสัก รวมทั้งเรื่องของสีที่ใช้ในการสัก เพราะปัญหาของคนที่สักทางผิวหนังคือการแพ้สีที่ใช้ แนะนำให้ใช้สีระดับสีผสมอาหารซึ่งสามารถรับประทานได้ แต่ในช่วงหลังมีการใช้สีในอุตสาหกรรมมากขึ้นเพราะจะได้สีที่ชัดกว่า โดยสีพวกนี้มีส่วนผสมของโลหะหนักอยู่ ร่างกายก็จะต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอม ทำให้เป็นอันตรายต่อผิวหนัง หลังจากสักเสร็จแล้วต้องดูแลแผลให้เหมือนกับดูแลแผลปกติทั่วไป

ติดตามข่าววันนี้ได้ที่นี่ >>> //www.pptvhd36.com/special/ข่าววันนี้

PR-โปรแกรมผลบอล-2_B PR-โปรแกรมผลบอล-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ