“ฉางชุน”จุดกำเนิดโลกภาพยนตร์และการวางผังเมืองที่น่าทึ่ง


โดย Kochaphan Suksujit

เผยแพร่




พีพีทีวี นิวมีเดีย จะพาไปบุกเมืองฉางชุน ในมณฑลจี้หลิน สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งจุดเด่นอยู่ที่การวางผังเมืองโดย ฝั่งซ้ายถูกเนรมิตรให้เป็นเมืองแห่งอุตสาหกรรม ฝั่งขวาเป็นเมืองของสิ่งแวดล้อม ขณะที่ตรงกลางเป็นศูนย์ราชการ ซึ่งการจัดวางผังเมืองในลักษณะนี้นำไปสู่ระบบการจัดการเรื่องพื้นที่อยู่อาศัย มลพิษ และพื้นที่เพื่อการอุตสาหกรรมได้เป็นอย่างดี

"เมืองฉางชุน" เมืองทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน เมืองที่ได้รับการขนานนามว่า "เมืองแห่งฤดูใบไม้ผลิ" และยังถูกยกให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมที่ผสมผสานกันอย่างลงตัวระหว่างอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับยานยนต์ เทคโนโลยีดาวเทียม ไปจนถึงอุตสาหกรรมศิลปะบันเทิงอย่างอุตสาหกรรมภาพยนตร์

อย่างล่าสุด ได้จัดงานเทศกาลภาพยนต์ระดับชาติฉางชุน ครั้งที่ 14 ขึ้น ซึ่งในปีนี้จะมีภาพยนตร์เข้ารอบ 15 เรื่องจาก 156 เรื่อง เช่น เรื่อง Shock Wave, Dying to Survive ผู้กำกับคนเดียวกับภาพยนตร์เรื่อง lost in Thailand  เพื่อชิงรางวัลจินลู่ หรือ รางวัลกวางทอง ซึ่งเป็นรางวัลใหญ่ที่สุด

ภายในงานได้มีการแสดงของเหล่านักแสดง ศิลปินชื่อดัง โดยไฮไลต์อยู่ที่ การเชิญ เทียนหัว นักแสดงอาวุโสจีนวัย 90 ปี ซึ่งถูกจัดให้เป็น 1 ใน 22 นักแสดงผู้ทรงอิทธิพลของจีน จากผลงานการแสดงในอดีตที่โด่งดัง พร้อมบอกเล่าเรื่องราวสมัยที่เธอได้ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องแรกเมื่อ 68 ปีที่แล้ว ที่เมืองฉางชุน

และสถานที่จัดงานครั้งนี้มีขึ้นที่ "พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ฉางชุน" จุดเริ่มต้นของอุตสาหกรรมภาพยนตร์และนักแสดงชื่อดังของจีนหลายคนจนได้รับการขนานนามว่า “ฮอลลีวูดแห่งตะวันออก”

พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ฉางชุน

เป็นการแปลงโฉมพื้นที่อาคารเก่าของสมาคมหนังแมนจูเรีย สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2480 ภายในฉางชุนฟิล์มสตูดิโอ และถูกเนรมิตรให้เป็นพิพิธภัณฑ์ ด้านหน้ามีอนุสาวรีย์ท่านประธานเหมา เจ๋อ ตุง ตั้งตระหง่านเด่นชัด ภายในพิพิธภัณฑ์บอกเล่าเรื่องราวพัฒนาการของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่เกิดขึ้น ตั้งแต่ช่วงที่ญี่ปุ่นเข้ามามีอิทธิพลใน พ.ศ.2473 ร้อยเรียงเรื่องราวตั้งแต่การพากษ์เสียง จนถึงยุคของภาพยนตร์ขาวดำและภาพยนตร์สีแบบในปัจจุบัน

โดยจะจัดแสดงตัวอย่างภาพยนตร์ในยุคแรกๆ ที่เนื้อหาส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นไปที่วิถีชีวิตของคนจีน การประกอบอาชีพเกษตรกรรม การต่อสู้ดิ้นรนเพื่อหลีกหนีความยากจน ไปจนถึงเรื่องราวบ้านเมืองในยุคของ เหมา เจ๋อ ตุง ถัดมาเป็นทำเนียบรายชื่อดารา นักแสดง ที่มีชื่อเสียงตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

นอกจากนั้น ยังได้ปรับรูปแบบสตูดิโอที่ใช้ถ่ายทำจริง มาจัดแสดงอุปกรณ์ เช่น กล้องสำหรับถ่ายภาพยนตร์ พร็อพประกอบฉาก เสื้อผ้า เครื่องประดับ หลายแสนชิ้น ถ้าใครสายฟิล์ม สายภาพยนตร์ ก็แวะเวียนมาชมความคลาสสิคกันได้ โดยค่าเข้าชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้อยู่ที่ 90 หยวน หรือประมาณ 450 บาท

หลังจากใช้เวลาซึมซับโลกของภาพยนตร์อยู่ราวๆ 1 ชั่วโมง ก็ถึงเวลาของการออกเดินทางไปทำความรู้จักเมืองนี้ผ่าน "พิพิธภัณฑ์ผังเมือง"

อาคารรูปทรงแปลกตาสีทอง ถูกแบ่งออกเป็น 3 ยุค "อดีต ปัจจุบัน และอนาคต" ในชั้นแรกของอาคารทำให้รู้สึกเหมือนได้ย้อนเวลากลับไปเมื่อประมาณเกือบ 100 ปีก่อน เพราะพื้นที่ทั้งชั้นถูกจำลองให้เป็นบ้านเรือนของชาวเมืองฉางชุน เช่น ที่ทำการไปรษณีย์ ร้านค้า ธนาคาร ร้านขายยา การขนส่งมวลชน

แต่เมื่อเดินขึ้นไปชั้นที่ 2 จะได้พบกับเมืองที่กำลังจะกลายเป็นศูนย์กลางการค้า ตามเส้นทางยุทธศาสตร์ของเมือง ที่ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ จุดเชื่อมต่อเส้นทางสายไหม (One Belt One Road) อันเป็นเส้นทางการค้าตามแนวคิดของประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง มีเส้นทางบกชื่อเป็นทางการว่า “แถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหม” (Silk Road Economic Belt: SREB) ส่วนเส้นทางมหาสมุทร เรียกว่า “เส้นทางสายไหมทางทะเล” (Maritime Silk Road)

แต่ที่น่าทึ่งที่สุดคือ ชั้น 3 ที่เขามองภาพเมืองฉางชุนไปจนถึงปี 2080 เมืองที่ไปด้วยหุ่นยนต์และการอยู่รวมกันของเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ที่อยู่อาศัยเป็นสัดส่วนท่ามกลางธรรมชาติที่แทรกซึมอยู่ด้วยกันอย่างสมดุล

หลังจากทำความรู้จักโลกบนแผ่นฟิล์มและผังเมืองโดยรวมแล้วในตอนต่อไป จะไปทำความรู้จัก "การชุบชีวิตแม่น้ำจากบ่อมลพิษสู่เมืองที่เขียวขจีด้วยสวนสาธารณะอันโดดเด่น" โดยมีการวางระบบกรองน้ำของเมืองให้เหมือนการทำงานเหมือน "ไต" ในร่างกายมนุษย์ รวมถึงการจัดการพื้นที่อาศัยของชาวชุมชนที่เห็นแล้วแทบอยากเก็บกระเป๋าบินลัดฟ้ากลับไปอีกครั้ง

 

ติดตามข่าววันนี้ได้ที่นี่ >> //www.pptvhd36.com/special/ข่าววันนี้

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ