การเมืองในอนาคตกับมุมมอง “กปปส.-นปช.” อะไร? คือ “ระบอบทักษิณ”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




บรรยากาศทางการเมืองในช่วงนี้ก็เริ่มจะสีสันขึ้นมาบ้าง เพราะใกล้เวลาที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)จะลั่นระฆังคลายล็อกการเมือง ทำให้บรรดาฝ่ายการเมืองจากพรรคต่างๆก็เริ่มมีความเคลื่อนไหวกันมากขึ้น โดยเฉพาะ “นายทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เคลื่อนไหวทั้งทางโซเชียลมีเดีย และสื่อแสหลักอยู่เป็นเนืองๆ

การประกาศพรรคเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้งในปี 2562 อย่างถล่มทลายเหมือนหิมะถล่ม ของนายทักษิณ เป็นการกระตุ้นสมาชิกพรรค และส่งสัญญาณไปยังสมาชิกที่ยัง 2จิต 2ใจ หากทิ้งเพื่อไทยไปร่วมกับ "กลุ่มสามมิตร" เลือกตั้งปี2562อาจต้องสอบตก และ ทำให้การเมืองขั้วตรงข้ามมองว่า “ระบอบทักษิณ” ฟื้นคืนชีพกลับมาหลอกหลอนวงการเมืองไทยอีกครั้ง

อย่าง “นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย” อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และแกนนำกปปส. มองว่า เป้าหมายการต่อสู้ของกปปส. ก่อนการรัฐประหารมี 2 ระดับ คือ 1.การคัดค้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรมซึ่งก็ได้ทำสำเร็จแล้ว  2. คือการสู้กับระบอบทักษิณ ซึ่งตัวแทนในเวลานั้น คือ น.ส. ยิ่งลักษณ์ และ ในที่สุด น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็ถูกดำเนินคดีเรื่องจำนำข้าวก็ถือว่าจบไป และการเคลื่อนไหวของกปปส.จบลงตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.2557 ทุกคนต่างแยกย้ายกัน

 แต่การต่อสู้กับระบอบทักษิณยังไม่จบ ณ วันนี้ก็ยังไม่จบ เพราะนายทักษิณ และคนในพรรคการเมืองในระบอบทักษิณยังคิดจะกลับมามีอำนาจอีกครั้ง ทำให้คนในกปปส.ส่วนหนึ่งจึงคิดตั้งพรรคการเมืองขึ้นมา และการกลับมาต่อสู้กับระบอบทักษิณ ต่างคนต่างมีช่องทางของตัวเองแล้ว เช่นตนเป็นนักการเมืองก็ต้องกลับมาที่พรรคประชาธิปัตย์ และจะลงสมัคร ส.ส.ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ แนวทางการต่อสู้กับระบอบทักษิณก็เปลี่ยนไปด้วย อย่างน้อยที่สุดก็มีเวทีรัฐสภา รออยู่ในวันข้างหน้า มีเวทีการต่อสู้ผ่านทางโซเชียลมีเดีย ผ่านทางกระบวนการช่องทางวิชาการ ทำให้คิดว่ายังไม่มีช่องทางที่จะพูดถึงเรื่องการชุมนุมใหญ่

“ถ้าเราไปศึกษาประชาธิปไตยในโลก ถึงจุดหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยนำไปสู่แนวทางประชานิยม คือ ต้องการคะแนนเสียง แต่เมื่อถึงจุดที่ประชานิยมให้คนเยอะๆโดยไม่คิดถึงความยั่งยืนก็จะเป็นแบบประเทศเวเนซุเอลา แต่บังเอิญระบอบทักษิณทำประชานิยมมาถึงจุดหนึ่งที่ใกล้ครึ่งของเวเนซุเอลา ก็คือ โครงการรับจำนำข้าว แต่ก็ถูกหยุดยั้งก่อน ประชานิยมมีส่วนหนึ่งที่ตอบสนองชาวบ้านได้จริง แต่อีกด้านหนึ่งทำให้เกิดความเสียหายให้กับประเทศ” นายสาทิตย์กล่าว

นายสาทิตย์ ยังระบุอีกว่า ที่ผ่านมา “นาย อภิสิทธิ์ เวชาชีวะ” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พูดถึงประชาธิปไตยสามก๊ก  คือ “ก๊กทักษิณ-ก๊กคสช. –ก๊กประชาธิปัตย์”  แต่ถ้าพูดในทางการเมืองคือ 1. เราจะไม่เอาประชาธิปไตยแบบทักษิณ ประชาธิปไตยแบบรวมศูนย์ ควบรวมอำนาจทั้งนิติบัญญัติ บริหารเข้าด้วยกันแล้วแทรกแซงทุกส่วนเพื่อให้ศูนย์กลางมีอำนาจ และเราไม่เอาประชาธิปไตยแบบเผด็จการทหาร ซึ่งทุกอย่างก็อยู่ในศูนย์กลางอำนาจเหมือนกัน แต่เราต้องการประชาธิปไตยที่มีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง อย่างที่พรรคประชาธิปัตย์พยายามดำเนินการ

ด้าน นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย มองว่า ต้องพูดให้ชัดว่าคนไทยจำนวนมากมีความรู้สึกว่าระบอบทักษิณ คือวิธีที่เอามาใช้ในการเมือง ใช้บริหารราชการแผ่นดินที่เสียหายสำหรับประเทศ และ ไม่ยอมให้ระบอบนี้กลับมาเกิดขึ้นอีกไม่ได้

ส่วนที่นาย ทักษิณ พูดไปว่าเพื่อไทยจะชนะเลือกตั้งอย่างหิมะถล่มทลาย ส่วนตัวคิดว่าคนไทยเขาคิดได้ ในอดีตประชาชนอาจมองเห็นไม่ค่อยชัด แต่ปัจจุบันประชาชนมองเห็นอะไรหลายๆอย่างชัดเจน เห็นความเสียหายที่เกิดขึ้น เช่น เรื่องจำนำข้าว ที่เห็นชัดเจนว่าต้องเสียงบประมาณไปหลายแสนล้านบาท ถ้าเกิดแบบนี้บ่อยๆประเทศอาจล่มจม

นายสุเทพ ยังยืนยันว่า ในอนาคตจะไม่มีการเป่านกหวีดเรียก กปปส.มาชุมนุม แต่จะต่อสู้ตามกฎกติกาของรัฐธรรมนูญ ถึงเวลาแล้วที่การเมืองจะกลับเข้าสู่ระบบ เชื่อว่าไม่มีใครกล้าปลุกมวลชนออกมาชุมนุมเพราะประชาชนไม่เอาด้วย

แต่ฟากของ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) อย่าง นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำนปช. อธิบายว่า ความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทยไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ใช่ความขัดแย้ง ระหว่างเสื้อแดง เสื้อเหลือง หรือ กลุ่มนกหวีด และก็ไม่ใช่ความขัดแข้งของนปช.กับคณะรัฐประหาร แต่เป็นเรื่องหลักการแนวคิดอุดมการณ์ทางการเมือง ระหว่าง “กลุ่มเสรีนิยม” กับ “กลุ่มอนุรักษ์นิยม” ถ้าเรามองภาพตรงนี้ชัด และยอมรับความเป็นจริง คำว่า “ทักษิณ” จะเป็นเรื่องเล็ก

ระบอบทักษิณไม่ได้มีอยู่จริงมันอธิบายเป็นหลักการ เป็นทฤษฎีไม่ได้ ในวันนี้มีแต่ระบอบประชาธิปไตยกับระบอบเผด็จการ ใครก็ตามที่พยายามอธิบาย “ระบอบทักษิณ” ก็เป็นเพียงการเปิดพื้นที่ความชอบธรรมถ้าต้องไปยืนข้างระบอบเผด็จการ ในสังคมทั่วโลกเขาถือว่าเผด็จการเป็นภัยร้าย สำหรับอำนาจอธิปไตยของประชาชน ดังนั้นถ้าให้เลือกระหว่างประชาธิปไตยกับเผด็จการ คนทั่วโลกตัดสินใจไม่ยาก แต่ในสังคมไทยเนื่องจากมีความซับซ้อนของอำนาจ และซับซ้อนต่อสถานการณ์จึงมีคนสร้างปีศาจขึ้นมาอีกตัวหนึ่ง ขึ้นมา นั่นก็คือคำว่า “ระบอบทักษิณ” แล้วชี้ว่า “ระบอบทักษิณ” เลวร้ายกว่าเผด็จการ เพื่อจะได้ไปจับมือกับทางนั้นได้ง่ายขึ้น

“ ในระบอบเผด็จการบอกว่าระบอบทักษิณ มีสภาทาส สภาชุดปัจจุบันเขาทำหน้าที่อย่างไร เคยมีใครยกมือตั้งกระทู้ถามรัฐบาลไหม พิจารณางบประมาณ3ล้านล้านมีการตั้งคำถามไหม เขาบอกว่าครอบงำองค์กรอิสระ แล้วสภาพองค์กรอิสระในปัจจุบันเป็นอย่างไรตั้งได้ถอดได้ขาดคุณสมบัติก็ยังสามารถอยู่จนครบวาระได้ บอกว่ามีแต่พวกพ้องเข้ามามีอำนาจ หลังจากรัฐประหาร มีครอบครัวไหน ตระกูลใดบ้างที่เข้ามาสู่อำนาจ บอกว่ามีการทุจริตคอรัปชันแล้วไม่มีการตรวจสอบ อำนาจเผด็จการในปัจจุบันตรวจได้ หรือไม่” แกนนำนปช.ระบุ

ในขณะที่ นาย จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานนปช. มองว่า ความขัดแย้งในทางการเมืองทุกวันนี้ไม่มีใครถูก ไม่มีใครผิด แต่เราจะทำอย่างไรเพื่อให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้าได้ เราต้องยอมรับความจริงว่าบ้านเมืองบอบช้ำมานาน โดยปกติแล้วสถานการณ์ในช่วงปลายของรัฐประหาร ประชาชนจะมีความหวังในซีกของฝ่ายการเมือง แต่ปัจจุบันทางซีกการเมืองกลับเดินกันจนเละ จนเกิดภาวะที่น่าห่วงใย คือ วิกฤตศัทธาของประชาชน ที่อาจมองว่า คณะรัฐประหาร และการเมือง ต่างก็ไม่มีความหวังด้วยกันทั้งคู่

นายจตุพร ยังมองว่า ในอนาคตแม้จะมีการเลือกตั้ง ได้นายกรัฐมนตรีที่มาจากคนนอก หรือ นายกฯคนใน ก็จะเกิดปัญหาวิกฤตทางการเมืองเหมือนกันหมด ได้นายกฯคนในก็ต้องมาเจอกลไกวุฒิสภา เจอองค์กรอิสระ อยู่ได้ 3 เดือน หรือ 6 เดือน เท่านั้น ส่วนนายกฯคนนอกถ้าเป็นคนเดิม ที่มีเสื้อเกราะ เสื้อกายสิทธิ์ สามารถชี้อะไรได้ทั้งหมด แต่ถ้านายกฯคนนอกที่ไม่มีของวิเศษเหล่านี้ ก็จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ในสภา จนท้ายที่สุดก็ทนไม่ได้

ดังนั้นก่อนเลือกตั้งปี 2562 ทุกฝ่ายพูดคุยต้องมาคุยกันก่อนว่าจะยึดตามผลเลือกตั้ง เพื่อสุดท้ายจะได้ไม่ต้องจบด้วยผลการตายของประชาชน

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ