แคนนอน EOS R ทิศทางธุรกิจชัดเจน มุ่งครองตลาดมิเรอร์เลสฟูลเฟรม


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เป็นเรื่องร้อนแรงที่สุดในวงการถ่ายภาพอีกครั้งหนึ่ง เมื่อแคนนอนเปิดตัวกล้องมิเรอร์เลสฟูลเฟรม (Mirrorless Fullframe) รุ่นแรกออกมาสยบข่าวลือ ภายใต้ชื่อ EOS R พัฒนาจากแนวคิด Reimagine Optical Excellence โดยก่อนหน้านี้แคนนอนปล่อยให้คู่แข่งอย่างโซนี่ออกสตาร์ททำส่วนแบ่งการตลาดในกลุ่มกล้องมิเรอร์เลสฟูลเฟรม Hi-End มาสักระยะหนึ่งแล้ว รวมถึงนิคอนที่เพิ่งเปิดตัวมิเรอร์เลสฟูลเฟรม ซีรีย์ Z รุ่นแรกของตัวเองไปสดๆ ร้อนๆ ก่อนหน้าแคนนอนประมาณ 2 อาทิตย์ EOS R จะเป็นน้องใหม่มาทีหลังแต่ดังกว่าหรือไม่

เชิญสื่อทั่วโลกเยือนอาณาจักรแคนนอน ประเทศญี่ปุ่น

หลังจากเปิดตัว EOS R ไปได้ไม่กี่วัน แคนนอนก็ส่งหนังสือเชิญสื่อจากหลายประเทศไปเยี่ยมชมสำนักงานใหญ่ที่ประเทศญี่ปุ่น ภายใต้ชื่องาน Canon World Press 2018  เพื่อสื่อสาร อธิบายภาพรวมของแคนนอนในอนาคต เทคโนโลยีใหม่ล่าสุด ทิศทางการตลาด แผนกลยุทธ์ รวมถึงตอบคำถามมากมายจากทั่วโลกเรื่อง EOS R พร้อมเลนส์ RF ชุดใหม่ ไม่บ่อยครั้งที่แคนนอนจะเชิญสื่อจากทั่วโลกไปที่สำนักงานใหญ่ นั่นหมายถึง EOS R คือ กล้องที่แคนนอนทุ่มเทอย่างเต็มที่ทั้งในเรื่องเทคโนโลยี นวัตกรรมและการช่วงชิงที่ 1 ในกลุ่มมิเรอร์เลสฟูลเฟรม

สำนักงานใหญ่แคนนอน กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

เช้าวันแรกของการมาเยือนดินแดนจุดเริ่มต้นของกล้องแคนนอน โปรแกรมวันนี้ค่อนข้างแน่น เริ่มจากการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์จัดแสดงผลิตภัณฑ์ บอกเล่าประวัติความเป็นมา เทคโนโลยี่ของแคนนอน จวบจนปัจจุบันที่พัฒนาล้ำหน้าไปถึงอวกาศ พื้นที่จัดแสดงประกอบด้วยกล้องและอุปกรณ์ถ่ายภาพนิ่งภาพเคลื่อนไหว เครื่องพิมพ์ที่ทันสมัย ระบบรักษาความปลอดภัยด้วยกล้องวงจรปิด และอุปกรณ์ทางการแพทย์ซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจที่แคนนอนใช้เงินลงทุนจำนวนมหาศาลเพื่อควบรวมกิจการที่น่าสนใจ สอดคล้องกับกลยุทธ์หลักในเรื่องธุรกิจใหม่

นอกจากเรื่องผลิตภัณฑ์ที่จัดแสดงแล้ว แคนนอนยังนำเสนอ เรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม การเข้าไปมีส่วนร่วมอนุรักษ์ธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม ทั้งหมดนี้ดำเนินไปตามหลักปรัชญา “เคียวเซ” ที่แคนนอนยึดถือปฎิบัติในการประกอบธุรกิจ มุ่งเน้นเรื่อง การใช้ชีวิตและการทำงานร่วมกัน เพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวม

พิพิธภัณฑ์แคนนอน แสดงผลิตภัณฑ์ทั้งหมดตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน

โชว์วิสัยทัศน์และทิศทางธุรกิจในอนาคต

ในช่วงบ่ายผู้บริหารระดับสูงของแคนนอน โดยนายโก โทคูระ ประธานกรรมการบริหารส่วนงาน Image Communication Business Operation และกลุ่มผู้บริหารระดับสูง เล่าถึงวิสัยทัศน์และทิศทางของแคนนอนในอนาคต

กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของแคนนอนต่อจากนี้ คือ การเพิ่มศักยภาพของระบบ EOS และสร้างธุรกิจใหม่ (Enhance EOS Systme and New Business) เพื่อเป็นแนวทางของแคนนอนที่จะรักษาความเป็นหนึ่งด้านกล้องและอุปกรณ์ถ่ายภาพ ส่วนการสร้างธุรกิจใหม่ เพื่อสร้างการเติบโตของบริษัทและกระจายความเสี่ยงจากธุรกิจหลักกล้องถ่ายรูป และอุปกรณ์สำนักงาน ที่มีสัญญาณการเติบโตลดลง

แคนนอนศึกษาและทำ R&D ตลอดเวลาเพื่อเตรียมพร้อมที่จะก้าวเข้าสู่ยุคดิจิตอลอย่างเต็มรูปแบบ ในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้า กลุ่มคนที่เกิดและเติบโตในยุคเทคโนโลยีดิจิตอล คุ้นเคยกับการใช้คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ดิจิตอล และอินเตอร์เนต หรือ Digital Native จะเพิ่มขึ้นกว่า 8.5 พันล้านคนทั่วโลก เป็นสิ่งที่ท้าทายแคนนอนอย่างยิ่งในการคิดค้นผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของพวกเขา

ในปีนี้แคนนอนทดลองออกผลิตภัณฑ์ใหม่สำหรับกลุ่มคนยุคดิจิตอลโดยเฉพาะ ได้แก่ กล้องขนาดเล็กที่มีระบบ AI ภายใต้แนวคิด "Follow your Movement" เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มนี้ให้ได้มากที่สุด

นอกจากนี้แคนนอนพบว่า ยังมีโอกาสที่ดีมากในการขยายตลาดกล้องลงไปในกลุ่มคนที่ใช้โซเชี่ยลมีเดีย แม้ว่ากล้องในกลุ่ม Compact จะลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่องจากการเกิดขึ้นของสมาร์ทโฟน  แต่จากข้อมูลในปี 2017 พบว่า ทั่วโลกมีการถ่ายภาพทั้งหมดถึง 1.3 พันล้านรูป เติบโตจากปี 2016 ถึง 18% และไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของกลุ่มคนใช้โซเชี่ยลมีเดียยังมีความต้องการที่จะใช้กล้องถ่ายภาพคุณภาพสูงสำหรับโพสต์ภาพขึ้นโซเชี่ยลมีเดียมากกว่าการใช้สมาร์ทโฟน

EOS R มากกว่าความเป็นกล้อง

EOS R กล้องตัวใหม่ล่าสุด พัฒนาจากแนวคิด “Reimagine optical excellence” มุ่งเน้นสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งใน 3 องค์ประกอบหลักสำคัญ ที่เป็นจุดแข็งที่สุดของแคนนอน คือ เลนส์, โปรเซสเซอร์และเซนเซอร์ เพื่อทำให้การผลิตกล้องและอุปกรณ์ถ่ายภาพมีคุณภาพสูงที่สุดโดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีของแคนนอนเอง มีเป้าหมายให้เป็นไปตามปรัชญาของ EOS คือ ความเร็วของชัตเตอร์สูง ง่ายต่อการใช้งาน และรูปถ่ายคุณภาพสูง

ฟีเจอร์หลักและเทคโนโลยี

สิ่งที่โดดเด่นมาที่สุดของ EOS คือ เมาท์กล้องมีเส้นผ่าศูนย์กลางขนาดใหญ่ถึง 54 มม. มีระยะท้ายเลนส์ถึงเซนเซอร์ที่สั้นกว่า ทำให้การส่งต่อข้อมูลรวดเร็วขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพในการถ่ายภาพสูงขึ้น และยังเปิดตัวเลนส์ใหม่สำหรับเมาท์ RF 4 ตัวพร้อมทั้งอแดปเตอร์สำหรับใช้งานกับเลนส์ EF

ด้วยเทคโนโลยี เซ็นเซอร์ Full Frame ความละเอียดของภาพที่ 30.3 ล้านพิกเซล ระบบประมวลผล Digic 8 ระบบ โฟกัสภาพแบบ Dual Pixel CMOS AF รวมถึงจุดโฟกัส 5,655 จุด ครอบคลุมพื้นที่ 88% ในแนวตั้งและ 100% ในแนวนอน ซึ่งทำได้เหนือกว่าคู่แข่งมาก

ส่วนดีไซน์กล้องมีขนาดกระทัดรัดจัดถนัดมือ น้ำหนัก 660 กรัม วิวไฟน์เดอร์แบอิเล็คทรอนิกส์ ความละเอียด 3.69 ล้านจุด ตัวกล้องทนทาน ผลิตจากแมกนีเซียมอัลลอยพร้อมชีลกันละอองน้ำและฝุ่น น่าจะถูกใจกลุ่มผู้ใช้แนวแอดเวนเจอร์ 

รายละเอียดเพิ่มเติม https://snapshot.canon-asia.com/thailand/article/th/reimagine-optical-excellence-with-eos-r?gclid=EAIaIQobChMI3pnmkaPJ3QIVww0rCh3-LQ9yEAAYASAAEgLR_fD_BwE

กว่าจะมาเป็นเลนส์คุณภาพอันดับหนึ่งของโลก

การมาเยือนอาณาจักรแคนนอน นอกจากเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์กล้อง ฟังวิสัยทัศน์และสัมภาษณ์ผู้บริหารระดับสูงแล้ว สื่อมวลชนยังได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมโรงงานผลิตเลนส์ของแคนนอนที่เมืองอุซึโนมิยะ จังหวัดโทจิงิอยู่ห่างจากกรุงโตเกียวประมาณ 100 กิโลเมตร

โรงงานผลิตเลนส์แคนนอนที่เมืองอุซึโนมิยะ จังหวัดโทจิงิ ประเทศญี่ปุ่น

เมื่อรถบัสที่นำตัวแทนสื่อแต่ละประเทศมาจอดที่ประตูทางเข้า ผู้บริหารระดับสูงพร้อมด้วยพนักงานมายืนเข้าแถวรอต้อนรับอย่างอบอุ่น สร้างความประทับใจให้กับผู้มาเยือนในเรื่องมารยาท ความเป็นระเบียบ ความอ่อนน้อมถ่อมตนของชาวญี่ปุ่น แม้จะมีตำแหน่งสูงขนาดไหนก็ตาม พวกเขาก็ทำหน้าที่เจ้าของบ้านและให้เกียรติอย่างดีที่สุด คุณนาโอยะ คาเนดะ ผู้บริหารกลุ่มธุรกิจเลนส์กล่าวต้อนรับพร้อมกับบอกว่านี่ถือเป็นครั้งแรกที่แคนนอนเปิดโรงงานให้คณะสื่อเข้าเยี่ยมชม

ด้วยความเป็นระเบียบของชาวญี่ปุ่น การต้อนรับและการพาผู้มาเยือนมากกว่า 20 คนเข้าเยี่ยมชมโรงงานจึงมีการวางแผนมาเป็นอย่างดี เป็นระบบและตรงต่อเวลาที่สุด โรงงานผลิตเลนส์แห่งนี้แทบจะไม่เคยเปิดให้คนนอกเข้าชม ส่วนงานหลายแผนกเป็นความลับทางธุรกิจ พวกเราไม่ได้รับอนุญาตให้ถ่ายภาพในโรงงาน

โรงงานแห่งนี้มีพนักงานประมาณ 700 คน ทำงาน 3 ช่วงเวลา มีบางส่วนที่ต้องทำงานในช่วงวันหยุดเสาร์ - อาทิตย์ด้วย ที่นี่ผลิตเลนส์ตระกูล EF และแน่นอนค่ะผลิต RF ด้วย เมื่อในปี 2017 แคนอนเพิ่งฉลองยอดการผลิตเลนส์ EF จำนวน 130 ล้านเลนส์ และ กล้องตระกูล EOS ครบ 90 ล้านตัว โดยแคนนอนเริ่มผลิตกล้องและเลนส์ในระบบ EOS ตั้งแต่ปี 1987 เลนส์ทั้งหมดนี้ไม่ได้ผลิตจากโรงงานที่อุซึโนมิยะที่เดียว ยังมีโรงงานอีก 3 แห่ง คือ โรงงานทางตอนใต้ของญี่ปุ่น, ไตหวันและมาเลเซีย

การผลิตเลนส์ของแคนนอน เป็นงานฝีมือที่เต็มไปด้วยความประณีตทุกขั้นตอน ไม่ใช่การผลิตแบบจำนวนมาก (Mass Product) ก่อนที่เราจะเข้าไปในบริเวณอาคารที่เป็นทั้งโรงงานและออฟฟิต ทุกคนต้องปฎิบัติเหมือนกันคือ ใส่ถุงเท้าป้องกันฝุ่น สิ่งที่ต้องระมัดระวังอย่างยิ่งในการผลิตเลนส์คือ ฝุ่นละออง ความสะอาดจึงสำคัญที่สุด ส่วนการเข้าชมขั้นตอนการประกอบเลนส์นั้น จะเข้มงวดเป็นพิเศษ ทุกคนจะต้องสวมหมวก ผ้าปิดหน้า สวมเสื้อคลุม ใส่ถุงมือ และเปลี่ยนรองเท้า มีการพ่นลมใส่เพื่อขจัดฝุ่นออกจากตัวของทุกคนให้หมดก่อนจึงจะเดินเข้าไปในจุดที่ประกอบเลนส์ได้

ก่อนที่จะเข้าไปเยี่ยมชมการผลิตเลนส์ ผู้บริหารในสายงานธุรกิจเลนส์ พูดถึงนโยบายการทำงาน และสายการผลิตเลนส์ เริ่มตั้งแต่การหาแหล่งวัตถุดิบ คือ ชิ้นแก้วที่จะนำมาผลิตเป็นเลนส์ จนกระทั่งถึงการนำชิ้นส่วนทุกชิ้นมาประกอบกันจนได้เลนส์ช่วงต่างๆ ซึ่งในทุกขั้นตอนล้วนแล้วแต่ทำด้วยมือเกือบทั้งสิ้น และสิ่งหนึ่งที่เป็นความฝันสูงสุดของผู้ผลิตเลนส์ หรือ Ideal Lens คือ การสร้างเลนส์ที่มีจุดโฟกัสคลาดเคลื่อนน้อยที่สุด

ไปดูการผลิตเลนส์คุณภาพสูงของแคนนอนกัน แบ่งกระบวนการผลิต 3 ขั้นตอน

1.ขั้นตอนการผลิตเลนส์ (Lens Processing) เป็นการนำชิ้นแก้วมาขัดโดยใช้เครื่องขัดเงา (Polishing) ทุกขั้นตอนต้องใช้ฝีมือเพื่อขึ้นรูป ต้องขัดจนกว่านื้อแก้วจะละเอียดและเรียบขึ้นจะต้อง ควบคุมความหนา ความเว้าความโค้งของเลนส์ ให้ได้ตามขนาดและมาตรฐาน

ขั้นตอนการขัดเลนส์ (Polishing)

ขั้นตอนการขัดเพื่อให้เกิดความเว้าโค้ง ความหนาของเลนส์

ที่อุซึโนมิยะ มีผู้เชี่ยวชาญพิเศษในเรื่องการขัดเงาเลนส์ให้ผิวของแก้วมีความใส (Takumi Skills) ชื่อคุณโทชิโอะ ไซโตะ ทำงานให้กับแคนนอนมามากกว่า 37 ปี เป็นพนักงานคนเดียวที่ถือว่าเป็นสุดยอดฝีมือ (Master) ในการขัดเงาชิ้นเลนส์ ซึ่งขั้นตอนที่คุณโทชิโอะ ดูแลถือเป็นหัวใจของการทำให้เลนส์มีคุณภาพ ปัจจุบันคุณโทชิโอะ ก็ยังคงทำงานที่เขารักในส่วน Super High Precision Lens และมีการฝึกพนักงานรุ่นใหม่ให้เข้ามารับหน้าที่แทน แต่ทักษะนี้ไม่ได้ฝึกฝนกันง่ายๆ ต้องใช้เวลาอย่างยาวนาน แม้จะมีการอบรมพนักงานเพิ่มขึ้น แต่คุณโทชิโอะ ก็เลือกทายาทของตนเองไว้แล้วเพียง 1 คนที่จะได้รับการฝึกฝนเป็นพิเศษ ถือว่าเป็นทายาทของเขาที่จะสืบทอดงานฝีมือนี้ต่อไป

การขัดเงาเลนส์ให้เรียบในขั้นตอนสุดท้ายต้องใช้ทักษะในการทำงานที่สูงมาก (Takumi Skills)

2.การเคลือบผิวเลนส์ (Sub-Wavelength coating หรือ SWC) เทคโนโลยีนี้เป็นลิขสิทธิ์เฉพาะของแคนนอนเท่านั้น การเคลือบผิวเลนส์ด้วยสารเคมีเพื่อป้องกันและลดการสะท้อนของแสงบนพื้นผิวเลนส์ (Anti Reflection Coating)

การหยดสารเคมีเคลือบผิวเลนส์
ขั้นตอนการเคลือบสารเคมีเพื่อลดแสงสะท้อนบนเลนส์ (SWC)
 

3.การประกอบเลนส์ (Lens Assembly) เลนส์ที่เคลือบสารเสร็จเรียบร้อย พร้อมจะเข้าสู่กระบวนการสุดท้ายคือ การประกอบเลนส์กับกระบอกเลนส์ ในส่วนการประกอบกระบอกเลนส์จะใช้เครื่องจักรเข้ามาช่วย แต่การประกอบเลนส์แต่ละชิ้นลงไปจะทำด้วยมือ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะใช้ผู้หญิงเป็นผู้ประกอบซึ่งถือเป็นขั้นตอนที่ปราณีตมาก

หลังจากผ่านกระบวนการประกอบและทดสอบโฟกัสตามมาตรฐานแล้ว จะเข้าสู่ขั้นตอนตรวจสอบคุณภาพอีกครั้ง ในขั้นตอนสุดท้ายนี้ต้องใช้ทั้งสายตาตรวจสอบฝุ่น เขย่าเพื่อฟังเสียงไม่ให้มีสิ่งแปลกปลอมเข้าไป เมื่อประกอบเสร็จแล้วจะต้องลงชื่อผู้รับผิดชอบ ดังนั้นเลนส์ที่ส่งถึงมือช่างภาพจึงเป็นเลนส์ที่มีคุณภาพสูงใช้คนเป็นองค์ประกอบสำคัญในการผลิตทั้งสิ้น

ขั้นตอนการประกอบเลนส์

ขั้นตอนประกอบกระบอกเลนส์

ใช้เครื่องจักรช่วยในการประกอบเลนส์บางขั้นตอน

การตรวจสอบเลนส์ให้ตรงตามมาตรฐาน

จากการรับฟังสิ่งที่ผู้บริหารในงาน Canon World Press 2018 ทุกคนพูดและแสดงออกในทิศทางเดียวกัน จุดมุ่งหมายสูงสุดขององค์กรแคนนอน คือ ความมุ่งมั่น พิถีพิถันที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนให้มีคุณภาพ มีประสิทธิ์ภาพสูงสุดด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีของตนเอง แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ซึ่งปรัชญาการทำงานด้วยความตั้งใจมุ่งมั่นสะท้อนออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรมจากอุปกรณ์ทั้งหมดของแคนนอน

What is light ? เป็นคำถามที่ถูกทิ้งไว้ในพรีเซ็นต์หน้าสุดท้าย สิ่งสำคัญที่สุดการจะได้มาซึ่งรูปที่สวยงาม ก็คือ “แสง” นั่นเอง คำถามสั้นๆ ที่ก่อให้เกิดจินตนาการได้อีกมากมาย เพราะการเดินทางของแสงผ่านเลนส์ไม่สิ้นสุด แคนนอนจึงไม่หยุดที่จะพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการถ่ายภาพ เพื่อตอบสนองความต้องการถ่ายภาพที่มีหลากหลายมากยิ่งขึ้นในโลกอย่างต่อเนื่อง

เกี่ยวกับแคนนอน

แคนนอน ก่อตั้งเมื่อปีพ.ศ. 2480 ด้วยวิสัยทัศน์ที่มุ่งมั่นจะผลิตกล้องที่ดีที่สุดในโลกด้วยเทคโนโลยีของตนเอง (We will build the best cameras in the world with our own technology.) ผลิตภัณฑ์ของแคนนอนไม่ได้มีแค่กล้องเท่านั้นยังประกอบด้วย อุปกรณ์ด้านภาพดิจิตอลอื่นๆ (Imaging) ได้แก่ พริ้นเตอร์ เครื่องถ่ายเอกสาร รวมถึงอุปกรณ์ด้านการแพทย์ ปัจจุบันมีสำนักงานมากกว่า 200 แห่งทั่วโลกและพนักงานมากกว่า 1.6 แสนคนทั่วโลก ด้วยความมุ่งมั่นที่จะสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีของตนเอง ทำให้แคนนอนได้รับสิทธิบัตรจากสหรัฐอเมริกาแล้ว 19,902 สิทธิบัตร

ติดตามข่าววันนี้ได้ที่นี่ >>> //www.pptvhd36.com/special/ข่าววันนี้

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ