ประวัติ “ทักษิณ ชินวัตร” จาก “ตำรวจ-นักธุรกิจ” สู่วิบากกรรม ทางการเมือง


โดย PPTV Online

เผยแพร่




วลีเด็ด “เกาะโต๊ะขอเป็นผบ.ทบ.” ของนาย ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เหน็บแนมพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม สร้างความสะทือนไปทั้งโซเชียลและสื่อกระแสหลัก อีกทั้งยังสร้างอุณหภูมิทางการเมืองเริ่มร้อนแรงยิ่งขึ้น

นักวิชาการ หลายคนวิเคราะห์ว่าที่ นายทักษิณ ออกมาตอบโต้ พล.อ.ประวิตร ในช่วงนี้ เป็นการส่งสัญญาณเริ่มต้นการต่อสู้ กระตุ้นให้กลุ่มผู้สนับสนุน และสมาชิกเพื่อไทยว่า อุดมการณ์ยังคงเหมือนเดิม และปราม อดีต ส.ส. ที่คิดจะย้ายพรรค

สำหรับนาย ทักษิณ ถือเป็นบุคคลสำคัญในวงการเมืองไทย เขาจะถูกขนานนามทุกครั้งเมื่อช่วงมีการเคลื่อนไหวทางการเมือง และในช่วงก่อนการเลือกตั้ง แม้การปรากฎตัวของเขาผ่านโลกโซเชียล ก็ยังมีการหยิบยกมาเป็นประเด็นทางการเมืองทุกครั้งด้วย อ่านเพิ่มเติม: “ทักษิณ” โต้ “ประวิตร” ทำท่าทีขึงขัง ไม่เหมือนตอนเกาะโต๊ะขอเป็น ผบ.ทบ.

โดยเส้น ทางการเมืองของนายทักษิณ เขาสนใจเรื่องการเมืองตั้งแต่เด็ก ตัวเขาเกิดที่ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ เป็นบุตรคนที่ 2 ของนายเลิศ ชินวัตร และนางยินดี ชินวัตรเป็นครอบครัวนักธุรกิจระดับกลางเชียงใหม่ ซึ่งมีกิจการค้าขายหลากหลายชนิด เช่นผ้าไหม กิจการรถเมล์ โรงภาพยนตร์ พ่อของเขาเคยเป็น ส.ส.จังหวัดเชียงใหม่ สมัยแรกในยุครัฐบาลของจอมพลถนอม กิตติขจร หลังวางมือ ทางการเมืองได้สนับสนุนให้น้องชาย คือ นายสุรพันธ์ ชินวัตร หรือ อาของนายทักษิณ ลงสมัครรับเลือกตั้งแทน

ในระหว่างที่ “ ทักษิณ” เป็นนักเรียนเตรียมทหาร พ่อของเขา มักจะพาไปสัมผัสบรรยากาศการประชุมพรรคและการประชุมสภาฯอยู่เสมอ  โดย “ทักษิณ” สอบติดนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 10 รุ่นเดียวกับบุคคลสำคัญๆหลายคน เช่น พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย และ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต อดีตรมว.กลาโหม ในสมัยเป็นนักเรียนเตรียมทหารเพื่อนๆมักจะเรียกเขาว่า “แม้ว” เนื่องจากเพื่อนไม่รู้จักชื่อเล่น แต่จริงๆแล้วชื่อเล่นของทักษิณ คือ “น้อย”

หลังจากจบจากโรงเรียนเตรียมทหารในปี 2512 ได้เลือกศึกษาต่อในเหล่าตำรวจ เป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นที่ 26 และ สำเร็จการศึกษาในปี 2516 จากนั้นจึงเข้ารับราชการตำรวจ และได้ทุนไปเรียนอยู่ต่างประเทศด้วย

ในปี 2517 ได้แต่งงานกับคุณหญิง พจมาน ณ ป้อมเพชร และรับราชการตำรวจจนถึงปี 2527 จึงหันเหชีวิตเข้าสู่วงการธุรกิจอย่างเต็มตัว สำหรับวิธีการคิดแบบนักธุรกิจ แบบกล้าได้กล้าเสีย กล้าตัดสินใจทันที พร้อมที่จะเผชิญการเปลี่ยนแปลง ซึ่งได้รับการฝึกฝนและซึมซับมาแต่วัยเยาว์จากผู้เป็นพ่อจึงได้ถูกนำมาใช้อย่างเต็มที่ โดยได้เริ่มธุรกิจแรก คือ การจัดตั้ง “ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไอซีเอสไอ”

 ต่อมาขยายกิจการเป็น “บริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ จำกัด” โดยได้ใช้พื้นฐานความรู้ทางด้านคอมพิวเตอร์ที่ได้ศึกษามาในระดับปริญญาเอก ประกอบกับความเข้าใจในระบบราชการ ดำเนินธุรกิจขาย – บริการให้เช่าเครื่องคอมพิวเตอร์แก่หน่วยงานราชการ จนประสบความสำเร็จมาเป็นลำดับ และได้ขยายพัฒนาธุรกิจเรื่อยมาโดยเปิดบริษัทย่อยเพื่อดูแลธุรกิจหลากหลายประเภทมากขึ้น แต่ช่วงหนึ่งของการดำเนินธุรกิจเคยประสบปัญหาทางธุรกิจอย่างหนักบ้าง แต่ก็สามารถฟันผ่าอุปสรรค์ต่าง ๆ มาได้ด้วยดี จนในยุคนั้นถือได้ว่าธุรกิจในเครือชินวัตร ครอบคลุมเกือบจะครบทุกด้านของธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมและสารสนเทศ

ในช่วงที่เขาเป็นนักธุรกิจ ได้รู้จักกับ “พล.ต.จำลอง ศรีเมือง” อดีตหัวหน้าพรรคพลังธรรม และแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ โดยตัวเขามักจะพูดคุยเสวนาเรื่องสถานการณ์บ้านเมืองกับพล.ต.จำลอง อยู่บ่อยครั้ง จนพล.ต.จำลอง ลองเอ่ยปากชวนลงสนามการเมือง แต่ยังปฏิเสธเพราะคุณหญิงพจมาน ไม่เห็นด้วย จนเวลาล่วงเลยมาสักระยะ พล.ต.จำลอง กลับไปชวนมาเล่นการเมืองอีกครั้งคราวนี้เขาจึงตอบตกลง

โดยครั้งแรกสนามการเมืองเขามาดำรงตำแหน่งรมว. ต่างประเทศ เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2537 ในสมัยรัฐบาลของนายชวน หลีกภัย สมัยนั้น เป็นที่ฮือฮาในแวดวงทางการเมืองเป็นอย่างมาก ทุกสายตาต้องจับจ้องมาที่เขาเพราะเป็นนักธุรกิจแนวคิดใหม่ไฟแรง แต่ก็ทำงานในตำแหน่งนี้ได้เพียง 101 วัน ก็ต้องลาออกจากตำแหน่งก่อนเนื่องจากรัฐธรรมนูญขณะนั้น ระบุว่ารัฐมนตรีต้องไม่มีกิจการสัมปทานกับรัฐ

จากนั้นเมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2538 ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังธรรม และลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. เขต 2 กรุงเทพมหานคร และผ่านการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.ค. 2538 โดยมีคะแนนเสียงเป็นลำดับที่ 1 ในเขตดังกล่าว ซึ่งในครั้งนั้นพรรคพลังธรรมได้เก้าอี้ ส.ส.ในสภาฯจำนวน 23 ที่นั่ง ทักษิณ จึงได้รับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี โดยรับผิดชอบงานด้านการจราจรและระบบขนส่งมวลชนในสมัยรัฐบาลของ นายบรรหาร ศิลปอาชา แต่ความขัดแย้งระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล และ ขัดแย้งภายในพรรคพลังธรรม ทำให้ ทักษิณ ตัดสินใจลาออกจากการร่วมรัฐบาล และลาออกจากพรรคพลังธรรมด้วย

ในปี 2540 สมัยรัฐบาลของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ได้กลับมารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง เมื่อมีการปรับครม.ใหม่ เมื่อวันที่ 15 ส.ค.ปี 2540 แต่ก็เป็นเพียงระยะเวลาสั้น ๆ เนื่องจาก พล.อ.ชวลิต ประกาศลาออกจากตำแหน่ง ในวันที่ 6 พ.ย. 2540 และนายชวน หลีกภัย ได้รับการสนับสนุนให้เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน

ในปี2541 หลังจากที่ได้ลาออกจากพรรคพลังธรรม เขาได้ก่อตั้งพรรคไทยรักไทยขึ้น โดยมีคำขวัญของพรรคที่ได้รับความสนใจจากประชาชนคือ “คิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อไทยทุกคน”

เลือกตั้งม.ค. 2544 พรรคไทยรักไทยได้รับชัยชนะโดยกวาดส.ส.ได้ 248 ที่นั่ง ทักษิณ ในฐานะหัวหน้าพรรค และผู้สมัครบัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 ของพรรค จึงได้รับการสนับสนุนให้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของประเทศ

“การบริหารงานของเขาตลอด 4ปี ก็เริ่มมีคำครหาหลายๆเรื่อง เช่น เอื้อผลประโยชน์ให้แก่พวกพ้อง ครหาเรื่องการเข้าไปแทรกแซงกองทัพ โดยในช่วงนั้นเขาได้ย้าย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ผบ.ทบ.ไปดำรงตำแหน่งผบ.สส. แล้วดึง พล.อ. สมทัต อัตตะนันทน์ มาเป็นผบ.ทบ.จนในปี 2546 เขาได้ดัน พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร ญาติผู้พี่ ขึ้นดำรงตำแหน่งผบ.ทบ. แต่ก็ดำรงตำแหน่งได้แค่ 1ปีเขาได้ย้ายพล.อ.ชัยสิทธิ์ ไปนั่งตำแหน่งผบ.สส. แล้วให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ขึ้นดำรงตำแหน่งผบ.ทบ.แทน

จนรัฐบาลทักษิณอยู่ครบวาระ 4ปี และกำหนดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 6 ก.พ.2548 ครั้งนั้นพรรคไทยรักไทย ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย เป็นพรรคการเมืองเดียวที่ได้เก้าอี้ ส.ส.มากถึง 377 ที่นั่ง และ การบริหารประเทศในสมัยที่ 2 ของทักษิณ ถูกคำครหาหลายเรื่องจนกระแสสังคมไม่ยอมรับอย่างรุนแรงมีการกดดันจากหลายฝ่าย

ประจวบเหมาะกับสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3จังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วงนั้นก็ปะทุความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง และ พล.อ.ประวิตร ผบ.ทบ. ก็เกษียณอายุราชการในเดือนต.ค.2548 เขาจึงแต่งตั้ง พล.อ.สนธิ บุญยกลิน ขึ้นมาเป็นผบ.ทบ. เพราะเชื่อว่าสามารถเข้ามาแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัด และ 4อำเภอ ของจ.สงขลาได้

ในปี2549 กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นำโดยนายสนธิ ลิ้มทองกุล ได้ชุมนุมขับไล่ สุดท้าย ทักษิณ ก็ต้องประกาศยุบสภาฯ ในวันที่ 24 ก.พ. 2549  และได้จัดเลือกตั้งใหม่ในเดือนเม.ย.2549 แต่พรรคฝ่ายค้าน อย่างพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย และ พรรคมหาชน ร่วมมือกันไม่ส่งผู้สมัครเข้ารับการเลือกตั้ง สุดท้ายผลการเลือกตั้งในครั้งนั้นเป็นโมฆะ

ท้ายที่สุด 19 ก.ย. 2549 ก่อนที่จะมีการจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ตามคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ รัฐบาลรักษาการของทักษิณ ก็ถูกยึดอำนาจการปกครอง โดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ที่มีพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ.เป็นหัวหน้าคณะถือเป็นจุดสิ้นสุดรัฐบาลของทักษิณ ชินวัตร 

อ่านเพิ่มเติม : “ทักษิณ” โพสต์12 ปีรัฐประหาร อโหสิกรรม “คนให้ร้าย-กลั่นแกล้ง”

ภาพ : FB Thaksin Shinawatra

ข้อมูลประกอบบางส่วนจาก สถาบันพระปกเกล้า

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ