ส่องประวัติ “อภิสิทธิ์ –นพ.วรงค์” ศึกชิง หัวหน้าพรรคปชป.ก่อนเลือกตั้ง62


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งสนามใหญ่ที่คาดว่าจะเป็นวันที่ 24 ก.พ.2562 พรรคการเมืองในแต่ละพรรคก็จะมีการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ และพรรคที่ถูกจับตามองมากที่สุดคงหนีไม่พ้น พรรคประชาธิปัตย์

การเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จะเปิดโอกาสให้สมาชิกพรรคกว่า 2 ล้านคน มีสิทธิลงคะแนนหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรค โดยผู้ลงชิงตำแหน่งนี้ เบื้องต้นมีอยู่ 3 คน คือ นายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ อดีตนายกฯและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนปัจจุบัน นพ.วงรค์ เดชกิจวิกรม อดีตส.ส พิษณุโลก และ นาย อลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

แต่ดูเหมือนว่าคู่แข่ง ที่สูสีกันจะเป็น นายอภิสิทธิ์ กับหมอวรงค์ ที่มีฐานกำลังหลักค่อยสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง

สำหรับเส้นทางการเมืองของ นายอภิสิทธิ์ เริ่มต้นจากการเป็นอาสาสมัครช่วยหาเสียงให้กับ นายพิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ต่อมาได้เข้าช่วยงานด้านวิชาการในเรื่องแผนพัฒนาเศรษฐกิจให้กับ นายชวน หลีกภัย อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก่อนจะลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งแรกในนามพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 22 มี.ค.2535 ขณะมีอายุได้เพียง 27 ปี และได้รับการเลือกตั้งเป็นส.ส.เพียงคนเดียวของพรรคประชาธิปัตย์  

ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 อภิสิทธิ์เป็นหนึ่งในบุคคลที่ร่วมปราศรัยและคัดค้านการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ. สุจินดา คราประยูร และตัวแทนของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งในครั้งนั้นประกาศไม่เข้าร่วมรัฐบาลสุจินดา

ต่อมาในสมัยรัฐบาล ชวน หลีกภัย เขาได้ดำรงตำแหน่ง รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในปี 2542 เขาได้รับเลือก รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จากนั้นในปี 2548 ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่ง หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนที่ 7 จนถึงปัจจุบัน

ก่อนที่เขาก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯคนที่27 อภิสิทธิ์ ได้เข้ารับตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน หลังแพ้การเลือกตั้งในปลายปี2550 ให้กับ นายสมัคร สุนทรเวช ต่อมาในวันที่ 9 ก.ย.2551 นาย สมัคร ถูกศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และมีการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เป็นผลให้สมชาย วงศ์สวัสดิ์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อมา กระทั่งเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2551 ได้มีการยุบพรรคพลังประชาชน และเป็นเหตุให้สมชาย พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และ ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี จึงทำให้มีการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่อีกครั้ง ผลปรากฏว่า อภิสิทธิ์ ได้คะแนนเสียงในสภามากกว่า จึงได้เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 17 ธ.ค.2551

ในขณะที่ นพ. วรงค์ ก่อนเข้าสู่ชีวิตการเมืองเขาเคย ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลโซ่พิสัย จ.หนองคาย เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลพรเจริญ จ.หนองคาย ต่อมาจึงได้ลาออกจากราชการเพื่อทำงานการเมือง

เริ่มต้นจากการเป็น สมาชิกพรรคไทยรักไทย แต่ก็ต้องลาออก เพราะพรรคไม่ส่งหมอวรงค์ ลงเป็นผู้สมัครส.ส. และได้เปลี่ยนตัวผู้สมัครส.ส.ในเขตพิษณูโลกด้วย ทำให้เขาต้องย้ายมาสังกัดพรรคประชาธิปัตย์แทน จนได้รับเลือกเป็นส.ส.พิษณุโลก ปี 2548 ได้รับเลือกตั้งอีกในปี 2550 และ ปี2554 เคยได้รับแต่งตั้งเป็นรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์

ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร บริหารประเทศ หมอวรงค์ เป็นบุคคลที่เปิดโปงขบวนการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว โดยเขาได้ออกมาเผยถึงบุคคลสำคัญที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการทุจริตอย่าง เสี่ยเปี๋ยง และ เจ๊ด. จนสุดท้ายศาลฯได้มีคำพิพากษาจำคุกน.ส.ยิ่งลักษณ์ และนายบุญทรง เตริยาภิรมย์  

อ่านเพิ่มเติม :ศึกชิง หัวหน้าปชป. เดือด! “กลุ่มวิฑูรย์” เดินสายหาเสียงหนุน “หมอวรงค์”

อ่านเพิ่มเติม: “อภิสิทธิ์” ลั่นไร้อำนาจนอกพรรคแทรกแซง ปชป.รับ “วรงค์-อลงกรณ์” ลงชิงหัวหน้า

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ