ผอ.ตั้งข้อสังเกต กทม.ไม่อนุมัติงบอุดหนุน เห็นหอศิลป์ฯทำเลทอง หวังฮุบปล่อยสัมปทานเอกชน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ผอ.หอศิลป์ฯ เผยขณะนี้มีงบประมาณอยู่ได้ถึงแค่กลางปี 2562 พร้อมตั้งข้อสังเกต สภากทม.ไม่อนุมัติงบประมานสนับสนุน อาจเพราะหวังฮุบบริหารเอง แล้วปล่อยสัมปทานเอกชน เนื่องจากหอศิลป์ฯเป็นทำเลทอง

วันนี้ (27 ก.ย.61)นายปวิตร มหาสารินันท์ ผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงกรณีที่ทางกรุงเทพมหานคร หรือ กทม. ตัดงบประมาณค่าน้ำ-ค่าไฟ กับหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ผ่านรายการเป็นเรื่องเป็นข่าว ทางสถานีโทรทัศน์พีพีทีวี โดยระบุว่า เรามีเงินแต่ไม่ได้ตั้งงบประมาณส่วนค่าน้ำค่าไฟไว้ ซึ่งถ้าจ่ายตอนนี้ก็จะไม่สามารถอยู่ถึงกลางปี 2562 ได้ ตอนนี้รัดเข้มขัดทุกอย่างแล้ว เราก็ยังอยู่ได้แค่ถึงกลางปีหน้า ถ้าจ่ายค่าน้ำค่าไฟน่าจะอยู่ได้ถึงแค้ต้นปีหน้า

โดยตั้งแต่เดิมปี 2554 ทางมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ที่มาจัดการบริหารหอศิลป์ฯ ได้เซ็นสัญญาโอนสิทธิ์จากทาง กรุงเทพมหานคร หรือกทม. และในสัญญามีเงื่อนไขระบุไว้ เช่น ถ้ามีผู้มาเข้าชมงานนิทรรศการ ทางหอศิลป์ฯจะเก็บค่าเข้าชมไม่ได้ หรือถ้าจัดกิจกรรม คอนเสิร์ต ละครเวที และอ่านบทกวี เป็นต้น ก็เก็บค่าเข้าชมไม่ได้ เพราะอันนี้เป็นบริการสาธารณะที่ กทม.จัดให้กับประชาชนผู้เสียภาษี แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2554 – 2560 ทาง กทม.ได้อนุมัติงบสนับสนุนให้ทางหอศิลป์ฯ ปีละประมาณ 40-45 ล้านบาท ซึ่งไม่พอค่าใช้จ่ายทั้งหมด และค่าใช้จ่ายในส่วนที่เหลือ มูลนิธิหอศิลป์ฯได้จัดการบริหารพื้นที่ให้มีร้านค้าเช่า เก็บค่าจอดรถ และรับเงินบริจาค ซึ่งเงินในส่วนนี้ก็จะนำมาบริหารหอศิลป์ฯ  

สำหรับสาเหตุที่งบประมาณของปี 2561 หายไปนั้น คือ ตั้งปี 2560 ตอนที่งบประมาณของปี 2561 สภากทม.ท้วงติงเรื่องรายละเอียดสัญญาโอนสิทธิ์ในข้อ 8 มีใจความว่า บรรดาค่าใช้จ่าย ค่าธรรมเนียม หรือค่าภาษีใด ๆ ที่เกิดจากการ บริหารจัดการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ตกเป็นความรับผิดชอบของผู้รับสิทธิ์ และผู้รับสิทธิ์มีหน้าที่ต้องชำระค่าใช้จ่าย ค่าธรรมเนียม หรือค่าภาษีให้ทันตามเวลาที่กำหนดโดยข้อตกลงหรือกฎหมายแล้วแต่กรณี ซึ่งนั่นหมายความว่าทางมูลลนิธิฯ จะต้องจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าจ้างรปภ. ค่าแม่บ้าน ค่าเจ้าหน้าที่เทคนิค ค่าพนักงาน ด้วยตนเอง แต่เดิมปี 2554 - 2560 ทาง กทม.มีงบประมาณอุดหนุนให้ก้อนหนึ่ง แล้วหอศิลป์ฯจะนำไปบริหารจ่ายค่าต่าง ๆ ตามที่ระบุ รวมถึงค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการทำกิจกรรมการศึกษา และกิจกรรมทางศิลปะ แต่อยู่ ๆ สภากทม.กลับท้วงติงว่าไม่ค่อยถูกต้องเท่าไหร่ เหมือนกับว่า กทม.ต้องจ่ายค่าใช้จ่ายส่วนนี้ให้อยู่ดี จึงเสนอให้ กทม.ประชุมกับทางหอศิลป์ฯ เพื่อหาทางแก้ไขรายละเอียดสัญญาข้อ 8 ให้ถูกต้องตามระเบียบงบประมาณสนับสนุนที่เพิ่งออกมาใหม่ ซึ่งการแก้ไขสัญญาสามารถทำได้ เพราะสุดท้ายแล้ว หอศิลป์ฯก็เป็นของ กทม.และเป็นของประชาชนทุกคน

“สมมติคุณไปยืมหนังสือ แล้วให้ยืมครั้งละ 7 วัน แล้วก็ต่อเวลาได้ครั้งหนึ่ง แล้วปรากฏว่าคุณไปวิ่งมาราธอนที่ต่างประเทศ แล้วลืมมาคืน เราปรับ ปรับก็ไม่ได้ เราก็ต้องบอกว่า เราปรับคุณไม่ได้นะ แต่ว่าคุณบริจาคตามจำนวนค่าปรับได้ นี่คือเหมือนกับเราโดนล็อกข้อมือ หรืออีกประเด็นที่ชอบพูดกันว่า หอศิลป์ฯบริหารขาดทุน คือ เราโดนล็อกด้วยเงื่อนไขต่าง ๆ” ผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรม กล่าว

ขณะเดียวกันมีประชาชนถามมาว่า เหตุใด กทม.มีงบประมาณของปี 2562 จำนวน 80,000 ล้านบาท แล้ว 40 ล้านบาท ซึ่งไม่ถึง 0.5 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณ ทำไม กทม.จะสนับสนุนศิปวัฒธรรมไม่ได้ ตามจริงแล้วในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ภารกิจของรัฐ ทั้งรัฐบาลท้องถิ่น และรัฐบาลกลาง คือการสนันสนุนกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรมของประชาชน

ทั้งนี้ที่ ผู้ว่าราชการ กทม. โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวานนี้ (26 ก.ย.61) ที่ระบุว่า เสนองบประมาณของปี 2562 เข้าไป 3 รอบแล้ว แต่สภากทม.ไม่อนุมัติ ตนมองว่า เสนอเข้าไป 29 รอบ สภากทม.ก็ไม่อนุมัติ เพราะกทม.ยังไม่ได้ทำตามที่สภากทม.เสนอ คือการแก้ไขสัญญาในข้อ 8 โดยประชาชนหลาย ๆ คนตั้งคำถามมาว่า กทม.เห็นว่าหอศิลป์ฯเป็นทำเลทองหรือเปล่า ถ้าเกิดว่าเอาไปให้สัมปทานเอกชน แทนที่จะเสียปีละ 40 -45 ล้านบาท ทางกทม.อาจจะหารายได้เป็น 300 ล้านบาทหรือเปล่า และประชาชนก็ยังตั้งข้อสังเกตว่าในบรรดาของพื้นที่ ๆ เป็นของกทม.ทั้งหมด หอศิลป์ฯเป็นทำเลทองที่สุดแล้ว

ชมรายการเต็ม : ผอ. แฉแผน กทม. หวังฮุบ “หอศิลป์ฯ” ปล่อยเอกชนเช่าร้อยล้าน เพราะเป็นทำเลทอง

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ