เปิดแนวทางเสียงระฆัง “วัด-คอนโด” อยู่ร่วมกัน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เป็นประเด็นร้อนที่สังคมให้ความสนใจอย่างมาก กรณีมีลูกบ้านคอนโดมีเนียม ร้องเรียนสำนักงนเขตว่า วัดไทรตีระฆังเสียงดัง

สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 61 ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Last Stand  ได้โพสต์ว่า “เรียนรู้​คําว่า​ประเพณี​และวัฒนธรรม​ สิ่งที่ทํากันมาเป็นร้อยๆ ปี​ การที่คนไปร้องเรียนแล้วจะมาให้วัดปรับปรุง​สิ่งที่เคยทํามามันคงจะบ้ากันไปแล้ว​ ถ้าวัดตีระฆัง​ดังท่านก็เอาเครื่องวัดมาวัดระดับ​เสียง​ได้เลย​ จากหอระฆัง​ถึงคอนโดน่าจะประมาณ​ 800​ เมตร​ จะทําอะไรก็คิดก็ถามหรือมานั่งดูก็ได้ถ้ากลัวผี​ เดียวจะไปนั่งเป็นเพื่อน​ เรียนกันมาเสียดาย​เงิน​ ปล.วัดสร้างมา 300 กว่าปี​ คอนโด สร้างมาไม่ถึง ​10 ปี​ ปวดหัวกับพวกเอ็งจริงๆ​” เนื่องจากมีผู้ร้องเรียนไปยังสำนักงานเขต ว่า วัดไทร ตีระฆังรบกวน ตั้งแต่เวลา 03.30 น. – 04.00 น. เป็นประจำทุกวัน สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้พักอาศัย ภายในวันเดียวกันเจ้าของเฟซบุ๊กได้ลบโพสต์ดังกล่าวไปแล้ว

กรณีที่เกิดขึ้นด้านหนึ่งทำให้เห็นถึงการกระทบสิทธิระหว่างผู้อยู่อาศัยในคอนโดมิเนียมกับวัด ซึ่งแต่ละคนก็มีมุมมองต่อเรื่องนี้แตกต่างกันไป แต่เมื่อต้องอยู่ร่วมกันจะทำอย่างไร

วันนี้ (4 ต.ค.61) รองศาสตราจารย์ดนัย ปรีชาเพิ่มประสิทธิ์ อาจารย์ประจำโครงการปริญญาโท สาขาวิชาพุทธศาสนศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์กับพีพีทีวีว่า ประเด็นนี้ค่อยข้างละเอียดอ่อน ในทางกฎหมายมองว่าเป็นเรื่องคดีสายลมแสงแดด ไม่ใช่แค่วัด ยังมีร้านอาหาร ผับ บาร์ ในทางกฎหมายก็ให้เจ้าหน้าที่มาตรวจสอบก่อนว่าเสียงดังเกินเดซิเบลที่กำหนดหรือไม่ เพื่อให้ชัดเจน ซึ่งในส่วนของเขตก็อาจเร่งดำเนินการทั้งที่ยังไม่ได้มาตรวจสอบ

รองศาสตราจารย์ดนัย กล่าวว่า ถ้าจะบอกว่าฝ่ายไหนผิดชัดเจน ก็ต้องมองผู้ที่ซื้อคอนโดว่าต้องรับทราบบริเวณที่ตนเองอยู่มีพื้นที่อะไรรายล้อมบ้าง ส่วนเรื่องกฎหมายเรื่องการวางผังเมืองก็ต้องคิดให้รอบคอบ ตามข่าวมีคนเดือดร้อนท่านเดียว ก็ไม่ใช่ไม่ฟัง คนอื่นอาจเดือดร้อนแต่ไม่ได้มาแจ้งก็ได้ แต่เจ้าหน้าที่ต้องเข้ามาตรวจสอบก่อนว่าเสียงระฆังดังกี่เดซิเบล

ทั้งนี้ กรณีนี้ไม่ได้เกิดกับวัดศาสนาพุทธอย่างเดียว ในศาสนาอื่นก็มีกรณีแบบนี้ ในจารีตของศาสนาระฆังอาจเป็นเครื่องบอกเสียงในอดีตกาล ในวันที่ยังไม่มีนาฬิกา โดยระฆังอาจเป็นเครื่องบอกชุมชนให้มาทำกิจกรรมร่วมกัน แต่พอยุคสมัยเปลี่ยนพระก็มีนาฬิกาปลุก มีนาฬิกา ซึ่งจารีตแบบนี้ก็ยังเป็นการรักษารากฐานทางวัฒนธรรมประเพณีศาสนาอันดีงาม ส่วนการกระทบกระทั่งกันของโลกสมัยใหม่กับโลกสมัยเก่าก็ต้องพยายามหาจุดที่อยู่ร่วมกัน เช่น มัสยิดหลายที่ก็พยายามลดเสียงเพื่ออยู่ร่วมกับชุมชน ซึ่งดูคลิประฆังก็ไม่เห็นว่าดังอะไร ขณะเดียวกับคอนโดที่อยู่ใกล้รถไฟฟ้าผู้บริโภคที่จะซื้อก็ต้องคิดแล้วว่าจะอยู่ได้ไหม ซึ่งโลกสมัยใหม่ต้องยอมรับความต่าง ถ้ามีกฎหมายที่ชัดเจนก็จะเป็นทางออกร่วมกันที่ดี แต่ก็ต้องดูจารีตประเพณีด้วย

รองศาสตราจารย์ดนัย กล่าวว่า วัฒนธรรมวันนี้เปลี่ยนไป บางคนฟังเสียงระฆังอาจรู้สึกดี แต่บางคนก็อาจไม่ได้อินและอาจเป็นการรบกวน แต่ก็ต้องตรวจสอบก่อนว่าเสียงระฆังดังรบกวนจริงหรือไม่ ส่วนที่พระวัดไทรตีระฆังให้เสียงเบาลงก็เป็นท่าทีที่ดี ซึ่งเคยได้ยินมาว่าหลายวัดมีกิจกรรมงานบุญก็เปิดเสียงดัง ซึ่งสังคมสมัยใหม่พระเองก็ต้องคิดถึงความเหมาะสม จะโทษฝ่ายที่ร้องเรียนอย่างเดียวไม่ได้

หลายฝ่ายแสดงความคิดเห็นกรณีได้รับเสียงรบกวนจากวัดไทรตีระฆัง

พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีผู้อาศัยในคอนโดฯ แห่งหนึ่งได้รับความเดือดร้อนจากวัดไทรตีระฆัง โดยระบุว่า  ยุคสมัยเปลี่ยน บริบทเปลี่ยน อะไรหลายอย่างมันก็เปลี่ยน คุณค่าทางวัฒนธรรมบางเรื่องมันก็ไปด้วยกันไม่ได้ อย่างเรื่องการตีระฆังนี่ก็เหมือนกัน ถ้าเป็นในชนบท เรื่องนี้จะไม่มีปัญหาอะไรเลย พระบ้านนอกบางวัด ตีสี่ตีห้า ต้องตื่นมาตีระฆัง  เพื่อเผดียงสงฆ์  ทำวัตรสวดมนต์ แล้วชาวบ้านเขาก็ไม่เดือดร้อน เพราะคนโบราณสมัยก่อนตีห้าเขาก็ลุกขึ้นมาหุงข้าวแล้ว พระตีระฆังก็ได้ประโยชน์ด้วย ถือเป็นการปลุก เสียงกลองเสียงระฆัง เวลาเขาได้ยิน เขาก็ถือว่าเป็นบุญที่จะได้อนุโมทนา  แต่ในสังคมเมือง คนกับพระห่างกันมาก วัดกับตึกห่างกันมาก มันก็เลยไม่มีสำนึกในเรื่องของการถ้อยทีถ้อยอาศัย แต่ที่จริงมันอนุเคราะห์กันได้ หาทางออกร่วมกัน

ทั้งนี้ เจ้าของคอนโด สร้างคอนโคราคาหลายพันล้านได้ ก็น่าจะสร้างห้องที่มีระบบป้องกันเสียงรบกวนได้นะ  คอนโดสร้างใกล้วัดซึ่งอยู่มาก่อนหลายร้อยปี ก็น่าจะศึกษาผลกระทบที่จะได้รับของคนซึ่งจะมาเช่ามาซื้ออาศัยให้ดี นี่เป็นกรณีศึกษาเลย ห้องไหนอยู่ใกล้หอระฆังเกินไป ก็น่าจะมีระบบพิเศษ ที่ช่วยป้องกันเสียงรบกวน

ด้านนายสิปป์บวร แก้วงาม ผู้อำนวยการ สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม และรองโฆษกสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ  ระบุว่า การตีฆ้อง-ตีระฆังภายในวัด เป็นประเพณีที่สืบต่อกันมายาวนาน เพื่อใช้เป็นสัญญาณประกอบกิจทางพระพุทธศาสนา ให้พระภิกษุ-สามเณรลงทำวัตรเช้า-เย็น หรือใช้บอกเวลาสำหรับพระออกบิณฑบาต ซึ่งบางแห่งก็ใช้แจ้งเป็นสัญญาณที่มีความแตกต่างกันไป หากจะให้วัดเลิกตีระฆัง คงจะไม่สามารถทำได้ แต่เรื่องที่เกิดขึ้น สามารถเข้าใจได้ว่า ทั้งสองฝ่ายต่างก็มีเหตุผล วัดถือการตีระฆังเป็นสิ่งที่ปฏิบัติมาอย่างยาวนาน ส่วนผู้อยู่อาศัยใกล้วัด อาจจะได้รับความเดือดร้อนจากเสียงการตีระฆัง นอกจากนี้ พื้นที่วัดและผู้อยู่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพฯ มีพื้นที่ค่อนข้างจำกัด คับแคบ ทำให้ต้องอยู่อาศัยอยู่ติดกัน บางครั้งก็ต้องมีเรื่องกระทบกระทั่งกันบ้าง แต่วัดกับชุมชนก็ควรต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลร้อน โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า เรื่องเสียงระฆังวัดกับคอนโด ไม่ใช่ความผิดของวัด แต่เป็นความผิดของรัฐที่ออกกฎหมาย ให้คอนโดมาสร้างใกล้วัด

ด้านเพชร-กรุณพล เทียนสุวรรณ นักแสดง ได้โพสต์ข้อความผ่านอินสตาแกรม ระบุว่า อยู่คอนโด ดังกล่าวที่กำลังโดนรุมด่า คนทั้งคอนโดไม่ได้รำคาญเสียงระฆัง แต่มีคนอยู่ห้องเดียวที่โทรไปที่วัดทุกคืน และร้องไปที่เขตจนมีดราม่าหนักขนาดนี้  เวลาคอนโดมีงานบุญก็นิมนต์พระวัดไทร ทั้งนี้เพิ่งคุยกับทางวัดว่าจะบูรณะห้องน้ำวัดโดยรวมเงินทำบุญจากลูกบ้าน แต่ที่น่าสนใจกว่า คือเขตที่ออกหนังสือเตือนทางวัด โดยไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่คอนโดเลย

อ่านข่าว :

วัดดังย่านบางคอแหลม ตีระฆังรบกวนเวลานอนคอนโดหรู

พระลูกวัดไทร เผยมีหญิงสาวรายเดียวในคอนโดฯ ร้องเรียนเสียงระฆังกว่า 2 ปี

“หอระฆัง-หอกลอง” จารีตของศาสนาพุทธ

ติดตามข่าววันนี้ได้ที่นี่ >>> //www.pptvhd36.com/special/ข่าววันนี้

 

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ