“น่าตกใจ” เหยื่อเด็กไทยเจอแกล้งในโรงเรียนปีละกว่าครึ่งล้าน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




การรังแกกันของเด็กทั้งทางกาย การล้อเลียนปมด้อย ทั้งหมดล้วนสร้างบาดแผลลึกๆทางใจ ไว้เสมอ ซึ่งข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข บอกไว้ว่า มีเด็กถูกรังแกในสถานศึกษาปีละประมาณ 6 แสนคน และปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในอันดับ 2 ของโลก

ข้อมูลนี้ได้รับการเปิดเผยจาก น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ว่า ผลการสำรวจในโครงการติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชนรายจังหวัด พบว่า มีเด็กถูกรังแกในสถานศึกษา “ปีละประมาณ 6 แสนคน ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในอันดับ 2 ของโลก ที่มีสัดส่วนนักเรียนถูกรังแกจากเพื่อนนักเรียนด้วยกันสูงถึงร้อยละ 40 รองจากญี่ปุ่น”

ซึ่งการที่เด็กกำลังเผชิญกับการถูกรังแก ล้อเลียน ส่งผลให้เกิดความเครียด ซึมเศร้า วิตกกังวล และไม่อยากมาโรงเรียนและที่สำคัญสมัยนี้ยังมีการรังแกกันผ่านสื่อออนไลน์ เช่น การใช้ข้อความ ภาพ วิดีโอ โซเชียลมีเดีย ซึ่งผลการสำรวจนักเรียนนักศึกษาในสถาบันการศึกษาทั่วประเทศในปี 2553 พบว่า ร้อยละ 33 เคยรังแกผู้อื่นทางออนไลน์ อีกร้อยละ 43 บอกเคยถูกคนอื่นรังแก

อ่านข่าว: รุ่นพี่ ม.2 กลั่นแกล้งเด็กหญิง ป.4 รุนแรง กระชากผม-เท้าเหยียบหน้า

สำหรับสาเหตุที่ทำให้เด็กมีพฤติกรรมในลักษณะนี้ น.ต.นพ.บุญเรือง บอกว่า จุดเริ่มต้นคือการปลูกฝังเด็กเรื่องความรุนแรง การทำร้ายกัน เมื่อทำบ่อยครั้งจนกลายเป็นนิสัยเคยชิน จะมีปัญหาบุคลิกภาพที่ก้าวร้าว ความรุนแรงต่อผู้อื่น ความรู้สึกผิดน้อย ใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา เป็นอันธพาล และเป็นอาชญากรได้

อ่านข่าว: วิจารณ์สนั่น!! กลุ่มรุ่นพี่รุมแกล้งรุ่นน้อง ถ่ายคลิปสนุกสนาน จ.พะเยา

ส่วนเด็กที่ถูกรังแกแน่นอนว่าย่อมมีผลต่อเด็กทั้งอารมณ์จิตใจ ร่างกาย และคุณภาพชีวิตในระยะยาว และเป็นไปได้ว่านักเรียนที่ถูกกดดันรุนแรงหรือเรื้อรัง จะ นำไปสู่การทำร้ายคนอื่นเพื่อแก้แค้น หรือทำร้ายตนเอง รุนแรงถึงฆ่าตัวตาย และเมื่อเกิดความเครียด ซึมเศร้า ก็จะมีปัญหาการเข้าสังคมจนโต

นอกจากนี้ จะต้องให้ความสำคัญทั้ง 2 กลุ่มเด็กซึ่งมีแนวโน้มถูกรังแกมากเป็นพิเศษและมีแนวโน้มเป็นผู้รังแก คือ กลุ่มเสี่ยงถูกรังแกสูง เช่น เด็กที่มีปัญหาพัฒนาการช้า เด็กพิการ กลุ่มเด็กนักเรียนเพศทางเลือก ซึ่งมีรายงานมักถูกรังแกมากเป็นพิเศษ ส่วนเด็กกลุ่มที่ครอบครัวมีการใช้ความรุนแรง หรือเด็กที่ป่วยโรคทางจิตเวช เช่น สมาธิสั้น มักพบว่าเป็นเด็กกลุ่มที่เป็นผู้รังแก

อ่านข่าว: จิตแพทย์ แนะสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยในโรงเรียน

แต่ในท้ายที่สุดการแก้ไขเรื่องนี้จุดเริ่มต้นสำคัญที่สุดต้องมาจาก ครอบครัว สิ่งแวดล้อมทางบ้าน แม้ว่าภาพใหญ่สังคมอาจต้องช่วยกันใส่ใจในการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทั้งที่บ้านและโรงเรียน เพื่อลดการสูญเสียคุณภาพประชากรในสังคมที่เกิดจากผลกระทบปัญหานี้ในระยะยาว

ที่มา : กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

ติดตามข่าววันนี้ได้ที่นี่ >>> //www.pptvhd36.com/special/ข่าววันนี้

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ