เข้าใจให้ชัด!! กฎหมายบังคับขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง ไม่ใช่แค่ “หมา-แมว”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




หลังจากที่ประชุม ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ. ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. ... เพื่อบังคับขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง แต่ล่าสุดเกิดความเข้าใจผิดว่า สัตว์เลี้ยง หมายถึง “หมา-แมว” เท่านั้น

จากกรณีที่เมื่อวันที่ 10 ต.ค.61 พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่าที่ประชุมเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. ... เนื่องจากกฎหมายเดิมใน พ.ศ. 2557 ยังไม่ปรากฏบทบัญญัติให้ประชาชนต้องควบคุมทะเบียนสัตว์เลี้ยง เป็นปัญหาทำให้เกิดการทอดทิ้งสัตว์

อ่านข่าว: เสนอแก้กม.ทารุณกรรมสัตว์ ให้อำนาจท้องถิ่น-ขึ้นทะเบียนคุมสุนัขจรจัด

สำหรับกฎหมายฉบับนี้จะเน้นการควบคุมทางทะเบียนเพิ่มความรับผิดชอบเจ้าของสัตว์เลี้ยง โดยให้ราชการส่วนท้องถิ่นออกข้อบัญญัติในการขึ้นทะเบียนสัตว์ ถ้าไม่ปฏิบัติตาม ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นเปรียบเทียบปรับได้ ถือเป็นรายได้ของท้องถิ่น และถ้ามีบุคคลใดไม่ปฏิบัติตามข้อบัญญัติหรือฝ่าฝืน จะมีระวางโทษปรับไม่เกิน 25,000 บาท ทั้งนี้ การขึ้นทะเบียนใช้กับสัตว์เลี้ยงทุกประเภท แต่เบื้องต้นเริ่มที่ “สุนัขและแมว” ก่อน

วันนี้ (11 ต.ค.61) นายโรเจอร์ โลหะนันท์ เลขาธิการสมาคมพิทักษ์สัตว์แห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์กับทีมนิวมีเดียพีพีทีวี ว่า กฎหมายบังคับขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงไม่ได้ใช้บังคับการขึ้นทะเบียนเฉพาะ “หมาและแมว” เท่านั้น แต่หมายถึงการบังคับใช้กับการขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงทุกชนิด เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย งู นก และปลา เป็นต้น แต่เนื่องจากตอนนี้มีความเข้าใจผิดว่า กฎหมายบังคับขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง ใช้บังคับกับ “หมาและแมว” เท่านั้น

“ปากคุณพูดว่าสัตว์เลี้ยง แต่ใจคุณนึกถึงแต่หมากับแมว แต่กฎหมายนี้เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงทุกชนิดทุกประเภท” นายโรเจอร์ กล่าว

เห็นด้วยที่มีกฎหมายบังคับขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง

นายโรเจอร์ กล่าวว่า เห็นด้วยที่ ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ. ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. ... เพื่อบังคับขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง แต่ยังมีความเป็นห่วงในเรื่องของรายละเอียด เพราะยังมีช่องโหว่ เช่น อำนาจในการโอนอำนาจให้กับท้องถิ่นเป็นคนกำหนดหลักเกณฑ์ว่าในพื้นที่สามารถเลี้ยงสัตว์อะไรได้จำนวนเท่าไหร่ ยกตัวอย่างเช่น การเลี้ยงหมา ท้องถิ่นมองว่าการเลี้ยงหมาเป็นเหตุรำคาญ และกำหนดให้เลี้ยงได้บ้านละ 1-2 ตัว เรื่องนี้อาจนำไปสู่การริดรอนสิทธิประโยชน์ของประชาชน แทนที่จะแก้ปัญหาอย่างถูกต้อง

นายโรเจอร์ กล่าวต่อว่า เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นไม่รู้รายละเอียดและเรื่องการเลี้ยงสัตว์ การกำหนดกฎเกณฑ์อาจไปเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคพวกมากกว่า เช่น อนุญาตให้เปิดฟาร์มงู เพราะได้ผลประโยชน์ แต่ไม่อนุญาตให้องค์กรหรือมูลนิธิสำหรับช่วยเหลือสัตว์หรือทำวิจัยเลี้ยงสัตว์ได้ เป็นต้น

อ่านข่าว: “ทาสหมา-ทาสแมว” เห็นด้วยไหมถ้าเก็บภาษีหมา-แมว

นอกจากนี้ยังมีปัญหาอื่นๆ เช่น บางท้องถิ่นอาจใช้วิธีฝังไมโครชิพสำหรับสัตว์เลี้ยงที่มาขึ้นทะเบียน ในขณะที่บางท้องถิ่นอาจใช้วิธีทำรอยสัก หรือใส่ปอกคอ ซึ่งจะมีความวุ่นวายยมาก เนื่องจากแต่ละท้องถิ่นไม่มีความเชี่ยวชาญ หรืออาจมีความเชี่ยวชาญที่ไมเท่ากัน

เห็นด้วยที่กฎหมายบังคับขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง เริ่มกำหนดใช้ที่ “หมา-แมว” ก่อน

นายโรเจอร์  ย้ำว่า เห็นด้วยที่กฎหมายบังคับขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง เริ่มกำหนดใช้ที่ “หมา-แมว” ก่อน แต่ก็เป็นความผิดพลาด!! ที่ส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่ากฎหมายบังคับขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง เป็นกฎหมายหมา-แมว ที่จะใช้บังคับขึ้นทะเบียนเฉพาะหมา-แมว ซึ่งความจริงแล้วกฎหมายนี้ใช้บังคับขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงทุกชนิด

ส่วนที่กรมปศุสัตว์มีการนำร่างพ.ร.บ.ไปรับฟังตาม มาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยตั้งแต่ 16 ก.ค. 61-1 ส.ค. 61 ในเว็บไซต์และเมื่อร่างพ.ร.บ.ผ่านสภานิติบัญญัติแล้ว ให้บังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 180 วันนับแต่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจในการเปรียบเทียบปรับ ซึ่งตามข้อมูลเบื้องต้นจะเริ่มที่สัตว์เลี้ยง 2 ชนิดคือ สุนัขและแมว ยังไม่ขยายไปยังสัตว์เลี้ยงในกลุ่มอื่น ทั้งนี้ร่างพ.ร.บ.กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมท้ายพ.ร.บ.ว่า คำร้องขอขึ้นทะเบียนฉบับละ 50 บาท สมุดประจำตัวสัตว์ฉบับละ 100 บาท และเครื่องหมายประจำสัตว์ตัวละ 300 บาท

นายโรเจอร์ ให้ความเห็นว่า ค่าใช้จ่ายของร่างพรบ.กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมท้ายพ.ร.บ. เป็นเพียงข้อเสนอของกรมปศุสัตว์ ซึ่งยังไม่ผ่านความเห็นชอบ และต้องนำไปเปิดรับฟังความคิดเห็นให้ชัดเจนและเป็นวงกว้าง ซึ่งไม่ใช่การเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ เนื่องจากเว็บไซต์ของหน่วยงานราชการประชาชนทั่วไปไม่เข้ามาดูกัน

นายโรเจอร์ กล่าวว่า ข้อดีของกฎหมายบังคับขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงก็เพื่อควบคุมการขยายปริมาณของสัตว์เลี้ยงจึงเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว เนื่องจากทุกวันนี้ประเทศไทยมีปัญหาสัตว์เลี้ยงต่างถิ่นแพร่ขยายพันธุ์จำนวนมาก เช่น ปลาซอกเกอร์ งูต่างถิ่น  แต่ทว่าปัญหาการขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงยังไม่ได้รับรู้ข้อเท็จจริง เกี่ยวกับประชากรสัตว์เลี้ยงและผลที่เกิดขึ้น ดั่งเช่น การกำหนดอัตราการขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงที่กรมปศุสัตว์กำหนดยังไม่มีความชัดเจน ซึ่งอาจสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นในสังคมได้

นายโรเจอร์ ย้ำว่า อัตราค่าธรรมเนียมท้ายพ.ร.บ. ที่กรมปศุสัตว์เสนอ ซึ่งระบุว่า คำร้องขอขึ้นทะเบียนฉบับละ 50 บาท สมุดประจำตัวสัตว์ฉบับละ 100 บาท และเครื่องหมายประจำสัตว์ตัวละ 300 บาท กรมปศุสัตว์ได้สอบถามผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ผู้ที่ได้รับผลกระทบหรือยัง และอัตราค่าธรรมเนียมนี้ใช้เฉพาะหมา-แมว หรือใช้ครอบคลุมสัตว์เลี้ยงทุกประเภท หมายรวมถึง ช้าง ม้า วัว ควาย สิ่งเหล่านี้อาจทำให้เกิดข้อถกเถียงในสังคมเป็นวงกว้างได้

ส่วนปัญหาที่หลายฝ่ายกังวลคือการนำหมา-แมวไปทิ้ง กลายเป็นสัตว์จรจัด นายโรเจอร์ กล่าวว่า ประเด็นนี้ก็น่าห่วง แต่ถ้าคนที่รักสัตว์เลี้ยงจริงๆ เขาจะไม่ทิ้งสัตว์เลี้ยง ส่วนคนที่เลี้ยงสัตว์ตามแฟชั่นก็อาจนำไปทิ้ง ซึ่งปัญหาสัตว์จรจัด โดยเฉพาะหมา-แมว ส่วนหนึ่งเกิดจากฟาร์มเลี้ยงหมา-แมว ที่ขยายพันธุ์มากจนขายไม่หมดจึงนำไปทิ้งเป็นสัตว์จรจัด ตรงนี้กฎหมายยังไม่เข้าไปดูแล ขณะที่กฎหมายบังคับขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง ก็มุ่งบังคับใช้กับประชาชนทั่วไปที่เลี้ยงสัตว์เลี้ยงมากกว่าที่จะเข้าไปควบคุมภาคธุรกิจ

นายโรเจอร์ กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า ตามขั้นตอนแล้วเมื่อครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ. ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. ... เพื่อบังคับขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง เรื่องนี้จะเข้าสู่การพิจารณาของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)โดยตั้งคณะกรรมการยกร่าง และร่างข้อกำหนดหลักเกณฑ์ ต่อไป

ทั้งนี้ ทีมนิวมีเดียพีพีทีวี สอบถามเจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ เรื่องร่างพ.ร.บ.กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมท้ายพ.ร.บ.ว่า คำร้องขอขึ้นทะเบียนฉบับละ 50 บาท สมุดประจำตัวสัตว์ฉบับละ 100 บาท และเครื่องหมายประจำสัตว์ตัวละ 300 บาท ได้ข้อมูลว่า อัตราค่าธรรมเนียมดังกล่าวเป็นเพียงข้อเสนอที่แนบท้ายไปกับร่างพ.ร.บ. ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. ... ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดที่กำหนดขึ้นเพื่อรองรับในอีก 20 ปีข้างหน้า ซึ่งอัตรานี้ออกมาใช้บังคับเฉพาะหมา-แมว และการบังคับใช้ต้องออกเป็นกฎกระทรวงอย่างละเอียดอีกครั้ง ในขณะที่อัตราการจัดเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ เมื่อบังคับใช้อาจคิดค่าคำร้องขอขึ้นทะเบียนฉบับละ 10 บาท สมุดประจำตัวสัตว์ฉบับละ 20 บาท ก็ได้ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุป ส่วนอัตราค่าธรรมเนียมสัตว์ประเภทอื่นๆ ยังไม่มีการกำหนด

อ่านข่าว: รองฯปศุสัตว์ เตรียมแก้กฎหมายเอาผิด “เจ้าของปล่อยทิ้งสัตว์เลี้ยง”

ขณะที่เพจเฟซบุ๊ก Kingdom Of Tigers: ทูนหัวของบ่าว โพสต์ข้อความว่า ส่วนตัวนัชญ์เห็นว่า “การขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง” เป็นเรื่องที่ควรทำค่ะ ควรมีการฝังไมโครชิพติดตามให้ทางเราด้วย

แต่! ค่าคำร้องขอขึ้นทะเบียน 50 บาท ค่าสมุดประจำตัวสัตว์ 100 บาท เครื่องหมายประจำตัว 300 บาท (นี่คือไมโครชิพ) หรือเปล่าคะ แล้วทางคนเลี้ยงสัตว์จะได้สวัสดิการอะไรจากรัฐบ้างคะ อาทิ มีการจัดหน่วยเคลื่อนที่ ฉีดวัคซีนฟรี , ทำหมันฟรี , ให้หรือไม่ มีศูนย์ช่วยเหลือสุนัข และ แมวจรจัดของรัฐบาลที่ประชาชนไว้ใจได้หรือเปล่า ในกรณีที่คนแห่เอาไปทิ้ง เพราะไม่มีเงินขึ้นทะเบียน เงิน 450 บาทต่อปี หรือ ต้องต่ออายุทุกปีคะ คนเลี้ยงสัตว์และสัตว์ได้รับการดูแลอะไรจากรัฐบ้างคะ

ติดตามข่าววันนี้ได้ที่นี่ >>> //www.pptvhd36.com/special/ข่าววันนี้

PR-โปรแกรมผลบอล-2_B PR-โปรแกรมผลบอล-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ