แฟ้มคดีดังโดนสั่งจำคุก “นับหมื่น นับแสนปี”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เปิดคำพิพากษาการตัดสินจำคุกโทษเป็น “หมื่น เป็น แสนปี” ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคดีฉ้อโกง ในลักษณะของแชร์ลูกโซ่ เนื่องจากมีผู้ได้รับผลกระทบความเสียหายจำนวนมาก

คดีแรกแชร์แม่ชม้อย หรือ คดีนางชม้อย ทิพย์โส คดีโกงดังระดับประเทศเพราะมีผู้เสียหายหมื่นกว่าคน (13,248 คน)  มูลค่าเงินที่โกงสูงถึงสี่พันกว่าล้านบาท (4,043,997,795 บาท)  โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากการชักชวนให้ผู้อื่นลงทุนค้าน้ำมันในบริษัทค้าน้ำมันชื่อ บริษัท ปิโตเลียม แอนด์ มารีน เซอร์วิส จำกัด ทำการค้าน้ำมันทุกชนิด มีเรือเดินทะเลสำหรับขนส่งน้ำมันทั้งในและนอกประเทศและจะได้ผลตอบแทนสูงอย่างมหาศาลทุกเดือน โดยกำหนดวิธีการรับกู้ยืมเงินเป็นคันรถบรรทุกน้ำมันคันรถละ 160,500 บาท ผลตอบแทนเดือนละ 12,000 บาท หรือร้อยละ 6.5 ต่อเดือน หรือร้อยละ 78 ต่อปี ซึ่งนางชม้อย จะจ่ายผลประโยชน์หรือดอกเบี้ยให้ผู้ให้กู้ตรงตามเวลาที่ นัดหมายทุกเดือน

จนกระทั่งรัฐบาลยุคนั้นเห็นว่าวิธีการระดมเงินของนางชม้อยเป็นภัยร้ายแรงต่อประชาชน ที่สูญเสียเงินจากการถูกหลอกลวง และเป็นภัยต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ จึงได้ตราพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน โดยมีผลใช้บังคับในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2527 หลังจากนั้นธุรกิจแชร์น้ำมัน ไม่สามารถผันเงินค่าตอบแทนมาจ่ายให้ผู้ลงทุนได้ จึงถูกผู้ร่วมทุนนับพันคนแจ้งความร้องทุกข์ และนางชม้อยและพวกจึงถูกตำรวจกองปราบปรามจับกุม พร้อมทั้งยึดทรัพย์

ท้ายที่สุด ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2532 จำคุก 154,005 ปี แต่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) กำหนดให้ลงโทษรวมกันทุกกระทงแล้วไม่เกิน 20 ปี ศาลจึงพิพากษาให้จำคุกนางชม้อยและพวกเป็นเวลา 20 ปี และให้คืนเงินที่ฉ้อโกงประชาชนไปรวม 510,584,645 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี

คดีแชร์จัดคอร์สสัมมนา

อ่านเพิ่ม : ศาลตัดสินจำคุกท้าวแชร์จัดคอร์สสัมมนากว่า 10,000 ปี

คดีที่ บจก.เดอะซิสเต็ม ปลั๊ก แอนด์ เพลย์ , บจก.อินโนวิชั่นโฮลดิ้ง และ นายภูดิศ กิตติธราดิลก กรรมการผู้มีอำนาจในบริษัท ได้ชักชวนให้ประชาชนนำเงินมาร่วมลงทุนเพื่อดำเนินธุรกิจจัดหลักสูตรสัมมนาต่างๆ เช่น หลักสูตรเกี่ยวกับการเงินการลงทุนประกอบธุรกิจเสริมความงาม , ธุรกิจเต็นท์รถ , ธุรกิจส่งออกไปแอฟริกา , ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ , การซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ โดยอ้างว่าจะจ่ายเงินปันผลตอบแทนให้กับสมาชิกที่ร่วมลงทุนอัตราร้อยละ 1 ต่อวันจากราคาแพ็คเกจที่ซื้อ ซึ่งจะจ่ายเงินปันผลทุกสัปดาห์เป็นระยะเวลา 52 สัปดาห์ และหากผู้ใดสามารถชักชวนผู้อื่นมาซื้อแพ็คเกจด้วยบริษัทก็จะจ่ายผลตอบแทนเป็นค่าแนะนำในอัตราร้อยละ 5 ของยอดเงินที่ซื้อแพ็กเกจนอกเหนือจากเงินปันผลอีก นอกจากนี้ถ้าบอกให้คนที่มาซื้อแพ็คเกจชักชวนคนอื่นต่อไปเป็นทอดๆ คนที่ชักชวนก็จะได้ค่าตอบแทนเช่นเดียวกัน ซึ่งผู้เสียหายที่ถูกหลอกนำเรื่องร้องต่อดีเอสไอ จนกระทั่งนำมาซื่งการฟ้องร้องดังกล่าวสุดท้าย ศาลจึงมีคำพิพากษาจำคุก 13,275 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ศาลลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือจำคุก 6,637 ปี 6 เดือน อย่างไรก็ตามกฎหมายกำหนดจำคุกได้สูงสุด 20 ปี และปรับจำนวน 663,750,000 บาท พร้อมชดใช้เงินคืนให้กับผู้เสียหาย จำนวน 574,188,781.22 พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี

คดีแชร์ลูกโซ่ยูฟัน

บริษัทยูฟัน สโตร์ จำกัด ถือเป็นแชร์ลูกโซ่ข้ามชาติมีผู้เสียหายจำนวนมาก โดยทำการเปิดเป็นบริษัทธุรกิจขายปลีกทางอินเทอร์เน็ต และออกสกุลเงิน ยูโทเคน (UToken Cash) ใช้แทนสกุลเงินปกติ ซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราในโลกออนไลน์ โดยมีค่าสมัครเป็นสมาชิกคนละ 17,000 บาท แต่ปรากฎว่าช่วงปี 2557 เริ่มมีผู้เสียหายจำนวนมาก ร้องเรียนผ่านศูนย์ดำรงธรรม และศูนย์แก้ไขปัญหาความมั่นคง ว่าถูก ยูฟัน สโตร์ หลอกลวงในลักษณะแชร์ลูกโซ่ ไม่จ่ายเงินปันผล จนนำมาสู่การขยายผลและยึดทรัพย์ในที่สุดและฟ้องศาลโดยมี นายนที ธีระโรจนพงษ์ หรือ เกย์นที และพวกอีก 22 คน เป็นจำเลย ยอดรวมความเสียหาย 3.8 หมื่นล้านบาท ผู้เสียหาย 120,000 ราย

จนนำมาสู่คำพิพากษาของศาลอาญา จำคุกในหลายข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชน เป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ และผิดพ.ร.บ.คอมพ์พิวเตอร์ จำคุกมากกว่า 12,000 ปี แต่ตามกฎหมายให้จำคุกได้เพียง 20 ปี พร้อมสั่งให้ร่วมกันคืนเงินชดใช้แก่ผู้เสียหาย 2,451 คน เป็นเงินกว่า 350 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี

อ่านเพิ่ม : ศาลพิพากษาจำคุกผู้ต้องหาคดียูฟัน 12,000 ปี

คดีแชร์ก๋วยเตี๋ยว

กรณีของ นายเสริมศักดิ์ อุ่นน้อย ผู้บริหาร บริษัทสยามฟู้ด แฟรนไชส์ จำกัด ฉ้อโกงประชาชนโดยการชักชวน มาร่วมลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ หรือ แชร์ก๋วยเตี๋ยวบางกอก คนละ 45,000 บาท มีผู้เสียหายหลงเชื่อกว่า 1,000 คนมูลค่า 220 ล้านบาท ซึ่งศาลมีความผิดฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน รวม 1,254 กระทง คุกกระทงละ 5 ปี รวมเป็นโทษจำคุก 5,270 ปี แต่ตามกฎหมาย ให้จำคุกจำเลยได้ไม่เกิน 20 ปี

คดีโชกุน

ภาพของผู้เสียหายกว่า 2,000 คน ถูกหลอกให้ไปรอที่สนามบินสุวรรณภูมิเพื่อเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นแต่สุดท้ายไม่สามารถเดินทางได้จริง โดยมีจำเลยคือ นางสาวพสิษฐ์ อริญชย์ลาภิศ หรือ โชกุน ซึ่งหลอกให้ผู้เสียหายเข้าเป็นสมาชิกของบริษัทผลิตภัณฑ์อาหารเสริม โดยระบุให้สมาชิกชำระเงิน 9,700 บาทต่อคน แล้วจะได้อาหารเสริม 2 กระปุก พร้อมกับอ้างว่าสมาชิกจะมีสิทธิได้เดินทางไปท่องเที่ยวประเทศแถบเอเชียด้วย อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลี ฮ่องกง ซึ่งคดีนี้พบมูลค่าความเสียหายนับ 50 ล้านบาท

ท้ายที่สุด คำพิพากษาให้จำคุกโชกุน เป็นเวลาทั้งสิ้น 4,355 ปี และปรับ 20,000 บาท ตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 และร่วมกันจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ควบคุมฉลากโดยแสดงฉลากไม่ถูกต้อง ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงตามกฎหมายแล้วให้จำคุกสูงสุด 20 ปี และใช้เงินคืนกับผู้เสียหายรวม 871 คน พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงินต้นสำหรับผู้เสียหายแต่ละราย นับแต่วันฟ้อง(6 ก.ค.60) เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จด้วย (มูลค่าประมาณ 51 ล้านบาทเศษ)

อ่านเพิ่ม : ศาลจำคุก "ซินแสโชกุน" 4,355 ปี ลอยแพเหยื่อทัวร์ญี่ปุ่น-ปรับบริษัท 435 ล้านบาท

ติดตามข่าววันนี้ได้ที่นี่ >>> //www.pptvhd36.com/special/ข่าววันนี้

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ