อย.สหรัฐฯ แบนน้ำปลาไทยทำไทยเสียแชมป์ตลาดให้ฮ่องกง


โดย PPTV Online

เผยแพร่




กรณี อย.สหรัฐอเมริกาห้ามนำเข้าน้ำปลาไทยยี่ห้อหนึ่งหลังพบว่ากระบวนการผลิตไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่ อย.สหรัฐฯ กำหนดนั้น ในรายงานสถานการณ์น้ำปลาไทยในสหรัฐ ของ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก ซึ่งเผยแพร่บนเว็บไซต์กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า การห้ามนำเข้าน้ำปลาจากไทยไม่เพียงส่งผลเสียต่อมูลค่าและสัดส่วนการตลาดน้ำปลาไทยในสหรัฐฯ เท่านั้น แต่อาจส่งผลกระทบในแง่ลบต่อภาพลักษณ์อาหารไทยในตลาดสหรัฐฯ ด้วย

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา หรือ ยูเอสเอฟดีเอ (USFDA) หรือเรียกง่าย ๆ ว่า อย.สหรัฐฯ เคยประกาศ Import Alert และกักน้ำปลาจากไทย โดยระบุว่าเป็นสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานที่สหรัฐฯ กำหนด โดยบริษัทผู้ส่งออกน้ำปลาไทยที่ถูกกักสินค้ามีทั้งหมด 4 บริษัท ขอสมมติว่าเป็นบริษัท A, B, C, และD (ตามภาพกราฟิก)

โดย บริษัท A ถูกประกาศใน Import Alert เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2552

บริษัท B ถูกประกาศใน Import Alert เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2557

บริษัท C ถูกประกาศใน Import Alert เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2557

และล่าสุดเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2561 บริษัท D ก็ถูกประกาศใน Import Alert

แต่ที่นับว่าเป็นสัญญาณเตือนจาก อย.สหรัฐฯ เกิดขึ้นเมื่อต้นปี 2557 หลังเจ้าหน้าที่ อย.สหรัฐฯ เดินทางมาตรวจสอบโรงงานผลิตน้ำปลาของบริษัทแห่งหนึ่งแล้วพบว่า ขั้นตอนการผลิตน้ำปลาของบริษัทแห่งนี้ไม่ได้มาตรฐานตามกฎระเบียบของ USFDA ซึ่งหลังได้รับการเตือนแล้วบริษัทดังกล่าวได้ปรับปรุงมาตรการต่าง ๆ ในกระบวนการผลิตน้ำปลา รวมทั้งจัดส่งแผนที่แก้ไขให้พิจารณาแล้วแต่ก็ยังถูก อย.สหรัฐฯ จัดให้อยู่ในบัญชีที่ถูกกักกัน

มูลค่า-สัดส่วนตลาดน้ำปลาในสหรัฐฯ

ผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมานับตั้งแต่ อย.สหรัฐฯ สั่งห้ามนำเข้าน้ำปลาไทยจากบริษัทต่าง ๆ นั้น ทำให้ไทยเสียแชมป์ส่วนแบ่งการนำเข้าสินค้าประเภทซอสที่ทำจากปลาในสหรัฐฯ ไป

จากเดิมที่ไทยเคยเป็นอันดับ 1 ครองส่วนแบ่งตลาดนี้ประมาณร้อยละ 70-80 เปอร์เซ็นต์ ต้องเสียแชมป์ไปให้ฮ่องกง โดยในปี 2557 ซึ่งเป็นปีที่ อย.สหรัฐ ประกาศให้บริษัทผู้ผลิตน้ำปลาไทยยี่ห้อหนึ่ง ซึ่งเคยครองส่วนแบ่งเป็นอันดับหนึ่งในตลาดสหรัฐฯ ไปอยู่ใน Import Alert นั้นก็ทำให้สัดส่วนการนำเข้าน้ำปลาจากไทยในสหรัฐฯ ลดลงเหลือประมาณร้อยละ 35-40

และเพียงปีเดียว คือ จากปี 2557 ที่น้ำปลาจากไทยเคยมีมูลค่า 21.29 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 681 ล้านบาท (ค่าเงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ = 32 บาท) ก็ลดลงเหลือ 13.39 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 428 ล้านบาท (ค่าเงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ = 32 บาท) ในปี 2558 และเมื่อปีที่แล้วมูลค่าลดลงเหลือ 12 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 384 ล้านบาท

ขณะที่ การนำเข้าน้ำปลาจากฮ่องกงขยายตัวเพิ่ม 3 เท่าจากปี 2557 ที่มีมูลค่า 4.15 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มไปอยู่ที่ 12.72 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เบียดแซงไทยขึ้นไปอยู่อันดับหนึ่งประเทศที่ส่งน้ำปลาไปยังสหรัฐฯ

ความเสียหายต่อเศรษฐกิจและการค้าจากการแบนน้ำปลาไทย ส่วนหนึ่งมาจากผู้ผลิตน้ำปลาไทยมีกระบวนการผลิตในลักษณะเดียวกันทั้งหมด ซึ่งหากไม่ปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นตามกฎเกณฑ์ของ อย.สหรัฐฯ หรือนำผลการศึกษาเชิงวิทยาศาสตร์มายืนยันแล้ว ความเห็นจากรายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2561 ระบุว่า สถานการณ์นี้อาจจะส่งผลให้น้ำปลาไทยหายไปจากตลาดสหรัฐฯ ได้

หากท้ายที่สุดแล้วไม่มีน้ำปลาไทยวางจำหน่ายในตลาดสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์อาหารไทยในตลาดสหรัฐฯ อย่างมาก เนื่องจากน้ำปลาเป็นเครื่องปรุงแต่งรสอาหารที่สำคัญมากของอาหารไทย และควรอย่างยิ่งที่ร้านอาหารไทยจะใช้น้ำปลาที่ผลิตจากไทยเพื่อคงความเป็นไทยและให้ได้รสชาติดั้งเดิม

นอกจากนี้ ในรายงานดังกล่าวยังระบุด้วยว่า ร้านอาหารไทยในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานส่งเสริมการค้าต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์กนั้น เริ่มประสบปัญหาขาดแคลนสินค้าน้ำปลาจากไทยแล้ว บางร้านแก้ปัญหาด้วยการใช้เกลือ เพราะน้ำปลาจากประเทศอื่นทำให้รสชาติอาหารไทยผิดเพี้ยน และกลิ่นอาหารแปลกไปจากที่ควรเป็น

อย่างไรก็ตามกระทรวงพาณิชย์ได้ประสานข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในสหรัฐอเมริกาและจะมีการแถลงข่าวชี้แจงกรณีดังกล่าวอีกครั้งในช่วงบ่ายวันนี้

ด้าน นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว ซึ่งคงจะต้องไปตรวจสอบดูว่าเป็นที่บริษัทผลิตน้ำปลาเฉพาะรายใดรายหนึ่งหรือไม่ โดยทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเข้าไปตรวจสอบว่า บริษัทดังกล่าวได้ปฏิบัติตามกฎหมายหรือไม่ แต่ถ้าหากเป็นลักษณะของการห้ามนำเข้าเฉพาะยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่งก็มองว่าเป็นเรื่องของคุณภาพของสินค้ามากกว่า

ติดตามข่าววันนี้ได้ที่นี่ >>> //www.pptvhd36.com/special/ข่าววันนี้

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ