สถิติการร้องเรียน “แท็กซี่” พบสูงกว่าปีที่แล้ว “ปฏิเสธผู้โดยสาร” ครองแชมป์


โดย PPTV Online

เผยแพร่




กรมการขนส่งทางบก เตรียมส่งผลสรุปแนวทางการปรับขึ้นค่าโดยสารแท็กซี่ ให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมพิจารณา ชี้ราคาเริ่มต้นไม่มีการปรับ แต่จะเพิ่มในส่วนระยะเวลาการเดินทาง คาดจะพิจารณาให้เฉพาะแท็กซี่โอเคเท่านั้น ขณะที่สถิติการร้องเรียนของผู้โดยสาร 2 เดือนล่าสุด พบว่าสูงกว่าปีก่อนหน้านี้

วันนี้ (30 ต.ค.61) นายกมล บูรณพงศ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก ในฐานะโฆษกกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยเกี่ยวกับความคืบหน้าการพิจารณาปรับอัตราค่าโดยสารรถแท็กซี่มิเตอร์ว่า ขณะนี้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ ได้ส่งผลการศึกษาปัญหาความปลอดภัยและคุณภาพการให้บริการแท็กซี่ รวมทั้งโครงสร้างต้นทุนการประกอบการและอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมกับสภาพปัจจุบันให้กับกรมการขนส่งทางบกพิจารณาแล้ว โดยกรมการขนส่งทางบกอยู่ระหว่างสรุปผลการศึกษาอีกครั้งก่อนเสนอนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมภายในสัปดาห์นี้

ทั้งนี้ผลการศึกษาของทีดีอาร์ไอไม่ได้ระบุให้ปรับอัตราเริ่มต้น แต่จะเป็นการชดเชยเวลาการเดินทาง คือ ในช่วงเวลารถติด หรือเข้าไปในพื้นที่ที่มีรถติด โดยเฉลี่ยจะให้มีการปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 8 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้รถแท็กซี่สามารถอยู่ได้ เนื่องจากที่ผ่านมาได้พิจารณาแล้วเห็นว่ารายได้หลังหักค่าใช้จ่ายของรถแท็กซี่แล้วควรจะอยู่ที่ 1.5 เท่าของรายได้ขั้นต่ำ โดยปัจจุบันรถแท็กซี่มีรายได้ 1,564 บาท รายจ่ายประมาณ 1,156 บาท เหลือรายได้ประมาณ 400 บาทต่อวัน ซึ่งมากกว่ารายได้ขั้นต่ำในกรุงเทพฯ 325 บาทต่อวันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น หากจะให้รถแท็กซี่อยู่ได้จริงจะต้องมีรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 1,643 บาทต่อวัน ดังนั้นจึงได้พิจารณาปรับค่าโดยสารดังกล่าว

นายกมลกล่าวว่า การพิจารณาปรับขึ้นค่าโดยสารในครั้งนี้จะได้สิทธิเฉพาะรถแท็กซี่มิเตอร์ที่เข้าร่วมโครงการแท็กซี่ โอเค ที่มีอยู่ 12,986 คันทั่วประเทศ จากแท็กซี่มิเตอร์ในกรุงเทพฯที่มีทั้งหมด 80,647 คัน หากแท็กซี่มิเตอร์คันอื่นต้องการปรับขึ้นค่าโดยสารตามเกณฑ์ที่กำหนดก็จะต้องเข้าร่วมโครงการแท็กซี่ โอเคเท่านั้น จึงจะสามารถปรับได้

อย่างไรก็ตาม จากสถิติการร้องเรียนรถแท็กซี่ผ่านทางสายด่วน 1584 ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2560-30 กันยายน 2561 มีเรื่องร้องเรียนถึง 48,223 เรื่อง ซึ่งสูงกว่าปีก่อนหน้า โดยเรื่องร้องเรียน 5 อันดับแรก คือ การปฏิเสธไม่รับผู้โดยสาร, แสดงกิริยาไม่สุภาพ, ขับรถประมาทหวาดเสียว, ไม่กดมิเตอร์ และไม่ส่งผู้โดยสารตามที่ตกลง ซึ่งในประเด็นทั้งหลายเหล่านี้จะนำเสนอไปด้วยเพื่อประกอบการพิจารณาว่าสมควรจะปรับขึ้นค่าโดยสารหรือไม่ เนื่องจากก่อนหน้านี้ก็เคยมีการพิจารณาปรับขึ้นค่าโดยสารระยะที่ 2 อีก 5 เปอร์เซ็นต์ หลังจากก่อนหน้านี้ได้ปรับไป 8 เปอร์เซ็นต์ แล้ว แต่เมื่อมีการพิจารณาเรื่องร้องเรียนของประชาชนที่ยังมีอยู่จำนวนมาก จึงได้ระงับการปรับค่าโดยสารมาจนถึงปัจจุบัน

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ