สูตรเลือกนายกฯ หลังเลือกตั้ง 62 หาก “ประยุทธ์” ถูกเสนอชื่อ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน กำหนดให้รัฐสภามี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 500 คน และ สมาชิกวุฒิสภา 250 คน รวม 750 คน และให้ ส.ว. ร่วมเลือกนายกฯ ได้ด้วย หาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องการกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง จะต้องได้เสียงสบันสนุน 376 เสียงขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็นจาก ส.ส.ทั้งหมด หรือ ส.ส. รวมกับ ส.ว.250 ก็ได้ ขณะนี้มีพรรคใดบ้างที่ประกาศสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์

หากคิดในสมมติฐาน ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะกลับมาเป็น นายกรัฐมนตรีอีกครั้ง จากสัญญาณทางการเมืองที่ค่อยๆ เปิดเผยออกมา ไม่ว่าจะเป็น การประกาศสนใจการเมือง ทำงานเพื่อประเทศต่อ หรือ การสร้างช่องทางติดต่อโซเชียลมีเดีย ในช่วงก่อนมีการเลือกตั้งเพียงไม่กี่เดือน ทั้งหมดทำให้ถูกตั้งคำถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ กำลังปูทางสู่การเป็นนายกฯ อีกครั้งหรือไม่

รัฐธรรนูญฉบับปัจจุบัน กำหนดให้รัฐสภามี ส.ส. 500 คน และ ส.ว. 250 คน รวม 750 คน โดยกำหนดให้ ส.ว.250 คน ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย หมายความว่า เสียงของ ส.ว. 250 เสียง ถือเป็น 1 ใน 3 ของเสียงที่ใช้เลือกนายกฯ

ดังนั้น ผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นนายกฯ จะต้องได้รับเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของรัฐสภาคือ 376 เสียง ตามสมมุติฐานนี้ หาก พล.อ.ประยุทธ์ จะถูกเสนอชื่อกลับมาเป็น นายกรัฐมนตรีอีกครั้งด้วยการโหวตเลือกในสภา ได้คะแนนเสียงจากทั้ง 2 สภารวมกันอย่างน้อย 376 เสียง และหาก ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. 200 เสียง และ คสช.เลือกการสรรหากันเองจากกลุ่มวิชาชีพอีก 50 เสียง รวม 250 เสียง มีความเห็นไปในทางเดียวกัน คือ สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ก็จะต้องการเสียงจาก ส.ส.อีกอย่างน้อย 126 เสียง จาก 500 เสียง

ขณะนี้มีพรรคที่ประกาศสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ กลับเป็นนายกฯ หรือ ร่วมกับพรรคใดก็ได้ที่สนับสนุน เช่น พรรครวมพลังประชาชาติไทย มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นแกนนำ พรรคประชาชนปฏิรูป มีนายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นหัวหน้าพรรค

ส่วนพรรคที่ไม่ปฎิเสธว่าสนับสนุนหรือไม่ หรือตั้งเงื่อนไขในการร่วมงาน เช่น พรรคประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย และชาติไทยพัฒนา

แต่พรรคที่ต้องจับตามองคือ พรรคพลังประชารัฐ แม้ยังไม่ออกมาประกาศหนุนพล.อ.ประยุทธ์ แต่พรรคนี้มี รัฐมนตรี 4 คนในรัฐบาลที่รับตำแหน่งสำคัญร่วมด้วย และเป็นพรรคที่ กลุ่มสามมิตรที่เดินสายรวบรวมอดีต ส.ส. กว่า 70 คน ประกาศขอร่วมงานด้วย

นายอรรถสิทธิ์ พานแก้ว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่วิเคราะห์ว่า ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งหลังรัฐประหาร จะมีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับทหารมาตั้งพรรคใหม่หรือเข้าไปอยู่ในพรรคที่สนับสนุน และพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลก่อนถูกรัฐประหารมักถูกดึงตัว ส.ส.ออกไป และจากนั้นจะมีการต่อรองที่นั่ง ส.ส.ที่คาดว่าจะได้ เพื่อเลือกนายกฯ ครั้งนี้ก็คล้ายกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้น

แต่ถึงแม้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้เสียงสนับสนุนจาก ส.ว.250 เสียง และ ส.ส.เพียง 126 เสียง เพื่อกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ยังไม่สามารถบริหารประเทศได้ เพราะวาระแรกในการเปิดประชุมรัฐสภา คือ การพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี มีเพียงส.ส.เท่านั้นที่ยกมือโหวตได้ จึงเชื่อว่าหากพล.อ.ประยุทธ์ ได้กลับเข้ารับตำแหน่งจริง จะยังต้องมีกระบวนการหาเสียงสนับสนุนเพิ่ม จากพรรคการเมืองที่ไม่ยกมือให้ตั้งแต่แรก เพื่อให้รัฐบาลมีเสถียรภาพ

ติดตามข่าววันนี้ได้ที่นี่ >> //www.pptvhd36.com/special/ข่าววันนี้

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ