ยาน “ดอว์น” ยุติภารกิจ 11 ปี หาที่มาระบบสุริยะจักรวาล เหตุเชื้อเพลิงหมด


โดย PPTV Online

เผยแพร่




องค์การนาซา เผยปฏิบัติการสำรวจกลุ่มดาวเคราะห์น้อยของยานอวกาศ ‘ดอว์น’ สิ้นสุดลงแล้ว หลังทำหน้าที่ส่งข้อมูลที่อาจทำให้มนุษย์เข้าใจการกำเนิดและวิวัฒนาการของระบบสุริยจักรวาลมานานถึง 11 ปี

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ยานสำรวจชื่อ ดอว์น (Dawn) ซึ่งถูกส่งขึ้นไปสำรวจดาวเคราะห์น้อย 2 ดวง ที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่มดาวเคราะห์น้อยหลัก โคจรระหว่างดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดี นายโธมัส ซูเบอร์เคน รองผู้อำนวยการโครงการดอว์น แห่งองค์การบริหารการบินและอวกาศของสหรัฐ หรือ นาซา เปิดเผยว่า ยานสำรวจ ดอว์น ขาดการติดต่อกับศูนย์ควบคุมมา 2 วันติดต่อกันแล้ว และทางศูนย์ก็พยายามแก้ไขข้อบกพร่องที่ว่านี้ แต่ก็ไม่สามารถกู้สัญญาณขึ้นมาได้ จึงเชื่อได้ว่าเชื้อเพลิงของยานคือ ไฮดราซีน (Hydrazine) ได้หมดลงแล้ว ทำให้ยานไม่สามารถหันเสาอากาศมาทางโลก รวมถึงไม่สามารถหันแผงโซลา เข้าหาดวงอาทิตย์ เพื่อนำแสงอาทิตย์มาแปลงเป็นพลังงานได้อีกต่อไป

สำหรับยานสำรวจ ดอว์น ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือกัน ระหว่างองค์การนาซากับหน่วยงานด้านอวกาศของยุโรป ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศตั้งแต่ปี 2007 หรือ 11 ปีที่แล้ว โดยมีภารกิจหลักอยู่ที่การสำรวจดาวเคราะห์น้อย เวสตา (Vesta) และ เซเลส (Ceres) ซึ่งเป็นวัตถุที่ใหญ่ที่สุด 2 ชิ้น ในแนวดาวเคราะห์น้อยหลัก โดยนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าวัตถุ หรือ ดาวเคราะห์น้อยทั้ง 2 ดวง จะสามารถไขปริศนาการวิวัฒนาการของระบบสุริยจักรวาลของเราได้ และที่สำคัญคือ การสำรวจของยานอวกาศ ดอว์น ทำให้มนุษย์รู้ว่าตำแหน่งที่ตั้งของดวงดาว มีผลต่อการกำเนิดสิ่งมีชีวิตอย่างมาก

นอกจากนี้ถึงแม้จะเสร็จสิ้นภารกิจแล้ว แต่ยาน ดอว์น จะยังคงโคจรรอบดาวเคราะห์น้อยทั้งสองดวงอีกไม่ต่ำกว่า 20 ปี ขณะที่วิศวกรผู้สร้างยานมั่นใจว่า มันจะอยู่ได้นานถึง 50 ปี ส่วนสาเหตุที่ นาซา ไม่ทำลายยานสำรวจ ดอว์น ทิ้ง เหมือนกับที่บังคับยาน แคสซินี (Cassini) ให้พุ่งเข้าหาดาวเสาร์ ก่อนจะถูกชั้นบรรยากาศเผาไหม้จนหมด เนื่องจากเห็นว่า พื้นผิวของดาวเคราะห์น้อยทั้ง 2 ดวง อาจมีแร่ธาตุหรือสสารสำคัญสำหรับนักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาต่อให้อนาคต จึงไม่ต้องการให้มันถูกทำลายหรือเสียหายเพราะถูกยานสำรวจ ดอว์น พุ่งชน

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ