พรรคตัวแปร ต่อรองแลกเก้าอี้ รมต. หาก “นายกฯคนใหม่” มาจากเสียง ส.ว


โดย PPTV Online

เผยแพร่




แม้เสียง ส.ส. 126 เสียง อาจจะเพียงพอที่จะส่งให้ บุคคลหนึ่งได้เป็นนายกรัฐมนตรีได้ หากคนผู้นั้นได้รับเสียงสนุนจากสมาชิกวุฒิสภาอีก 250 เสียง ที่แม้จะมีที่มาหลายวิธีการ แต่สุดท้ายต้องผ่านความเห็นชอบจาก คสช.

แต่การเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนราษฎร ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้นายกรัฐมนตรีคนใหม่บริหารประเทศได้ ซึ่งนั่นจะทำให้มีการต่อรองกับพรรคการเมืองอื่นเพื่อให้มาร่วมรัฐบาลหลังการเลือกนายกรัฐมนตรีผ่านไปแล้ว เหตุการณ์ลักษณะนี้ไม่ต่างจาก สมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี

ทุกครั้งที่มีโอกาส นายอภิสิทธิ์ จะย้ำจุดยืนเสมอ ว่า พรรคประชาธิปัตย์ ภายใต้การนำของเขาจะต้องเป็นพรรคทางหลักที่ไม่ใช่อะไหล่ของพรรคการเมืองอื่น การเดินสายหาเสียงขอโอกาสเป็นหัวหน้าพรรคครั้งนี้จึงมีเป้าหมายสูงสุด คือ ทำลายสถิติการแพ้เลือกตั้งตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เพราะเคยมีประสบการณ์เป็นนายกรัฐมนตรี ที่ต้องบริหารงานภายรัฐบาลผสม ซึ่งแม้จะผลักดันนโยบายหลักที่สัญญากับประชาชนไว้ได้ แต่หลายครั้งต้องผ่านการเจรจากับพรรคร่วมรัฐบาล

เดือนธ.ค. 2551 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เลือกนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี จากคะแนนเสียงของ กลุ่มเพื่อนเนวิน มากกว่า 30 เสียง ที่เปลี่ยนขั้วจากการเป็น ส.ส.พรรคพลังประชาชน มาสนับสนุนหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หลังทั้งนายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ 2 นายกรัฐมนตรีที่มาจากพรรคพลังประชาชน ต้องพ้นจากตำแหน่งด้วยคำสั่งศาล พร้อมด้วยคำสั่งยุบพรรคพังประชาชน เมื่อ 2 ธ.ค. 2551

การตั้งรัฐบาล ที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำด้วยจำนวน ส.ส.163 เสียง กลับมีรัฐมนตรีกระทรวงสำคัญ มาจาก ส.ส.กลุ่มเพื่อนเนวิน และกลุ่มมัชฌิมาธิปไตย ที่มีแค่ 30 เสียง เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม และกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งในเดือน ม.ค. 2552 ส.ส.กลุ่มนี้ ประกาศตั้งเป็นพรรคภูมิใจไทย  

เหตุการณ์เช่นนี้อาจเกิดขึ้นกับ “นายกรัฐมนตรี คนต่อไป” ได้เช่นกัน หากการก้าวสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต้องไปพึ่งพาเสียงจาก ส.ว.มากกว่า ส.ส. นั่นจะทำให้เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย ในสภาผู้แทนราษฎร

แม้จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ จากเสียง ส.ว. แต่ก็ต้องยังไปเจรจาหาเสียงสนับสนุนจากพรรคการเมืองอื่น เพื่อทำให้มั่นใจว่า รัฐบาลใหม่ จะมีเสถียรภาพเพียงพอ สำหรับการลงมติต่างๆในสภาฯ เช่น อภิปรายงบประมาณ ผ่านกฎหมาย อภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งจะต่างจากการเลือก นายกฯ เพราะจะไม่มีเสียง ส.ว.มาช่วย

พรรคการเมือง ที่มาเข้าร่วมรัฐบาลในภาวะเช่นนี้ ในทางกฎหมายอาจหมายถึง พรรคร่วมรัฐบาล แต่ในทางคณิตศาสตร์ นี่คือ พรรคตัวแปรที่สามารถชี้ชะตา การเป็นพรรครัฐบาล หรือ พรรคฝ่ายค้าน ให้กับพรรคการเมืองหลักได้ และที่ผ่านมา พรรคตัวแปร มักได้รับตำแหน่งสำคัญในคณะรัฐมนตรี หลังผ่านการเจรจาต่อรอง ให้ร่วมรัฐบาล

แม้คอการเมืองหลายคนจะเชื่อว่า มีโอกาสสูงที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่เส้นทางบริหารของรัฐบาลใหม่ ภายใต้เงื่อนไขเหล่านี้ อาจไม่ราบรื่นเหมือน 4 ปีที่ผ่านมา 

ติดตามข่าววันนี้ได้ที่นี่ >> //www.pptvhd36.com/special/ข่าววันนี้

 

PR-โปรแกรมผลบอล-2_B PR-โปรแกรมผลบอล-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ