ความคืบหน้าคดีแม่ค้าขายพันธุ์ไม้ในจังหวัดอุตรดิตถ์ถูกหลอกจ้างทำข้าวกล่องนับหมื่นกล่อง โดยอ้างว่ามีสัญญาสัมปทานกับโรงงานแห่งหนึ่งเป็นเวลา 5 ปี แต่สุดท้ายกลับไม่รับข้าวกล่องและน้ำดื่มที่ทำไว้โดยอ้างทำข้าวกล่องไม่ครบตามที่ตกลงกันไว้ทำให้ผู้เสียหายเสียเงินที่ลงทุนไปกว่าล้านบาท ล่าสุดหญิงสาว 2 คนซึ่งเป็นผู้วว่าจ้างผู้เสียหายได้เข้ามอบตัวกับตำรวจอุตรดิตถ์แล้วเมื่อคืนที่ผ่านมา
พลตำรวจตรี พยูห์ ธนะศรีสืบวงศ์ รักษาราชการแทนผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอุตรดิตถ์ เปิดเผยว่า ผู้ถูกกล่าวหาคดีนี้ 2 คน คือ นางกัญจ์หทัย สุกใส อายุ 41 ปี และนางธนิตา จันทร์อิ่ม หรือ อิ๋ว อายุ 43 ปี ผู้ว่าจ้างนางธนิสร กุยแก้ว อายุ 42 ปี ผู้เสียหาย ให้ทำข้าวกล่อง 1 หมื่นกล่อง น้ำดื่ม 1 หมื่นขวด และไข่ต้ม 3 หมื่นฟอง ได้เข้ามอบตัวกับพนักงานสอบสวนแล้ว โดยทั้งสองถูกดำเนินคดีข้อหาร่วมกันฉ้อโกง เบื้องต้นทั้งสองให้การปฏิเสธและขอให้การในชั้นศาล
นอกจากนี้ พลตำรวจตรีพยูห์ ยังสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบประวัติผู้ถูกกล่าวหาบางคนเพิ่มเติมด้วยหลังพบว่าเคยก่อคดีมาแล้วหลายคดี
ส่วนการส่งชุดสืบสวนลงไปในพื้นที่โรงงานไทยแอรโรว์ ตำบลหัวรอ จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งถูกกลุ่มผู้ถูกกล่าวหาอ้างว่าจะต้องนำข้าวกล่องมาส่งที่โรงงานแห่งนี้ จากการสอบสวนโรงงานยืนยันว่า ไม่มีการทำสัญญาจ้างทำข้าวกล่องแต่อย่างใด และทางโรงงานมีโรงอาหารอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องสั่งข้าวกล่องและน้ำดื่ม ส่วนผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองคนภายหลังการสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว พนักงานสอบสวนจะนำตัวไปฝากขังต่อศาลในวันนี้
ด้าน นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม เปิดเผยว่า พฤติกรรมของผู้ถูกกล่าวหาคดีนี้น่าจะมีจุดประสงค์เพื่อต้องการเงินค่าปรับจากการทำผิดสัญญา และมีการวางแผนเป็นกระบวนการ เข้าข่ายลักษณะฉ้อโกงหลอกลวงโดยเฉพาะการวางแผนยึดเงินประกันและเงินค่าปรับจากชาวบ้านที่ตกเป็นเหยื่อ และคดีนี้น่ามีตำรวจบางพื้นที่เข้าไปเกี่ยวข้องในการช่วยเหลือกลุ่มผู้ถูกกล่าวหาเพื่อบังคับข่มขู่ให้ชาวบ้านจ่ายเงินค่าปรับโดยอ้างว่าทำผิดสัญญา และนำเงินค่าปรับที่ได้ไปแบ่งกัน
นอกจากนี้นายอัจฉริยะยังนำสัญญาที่กลุ่มผู้ถูกกล่าวหาทำไว้กับผู้เสียหาย ทั้งหมด 3 ฉบับมาเปิดเผย โดยนายอัจฉริยะบอกว่า สัญญาที่ทำขึ้นนั้นได้หลอกน้องสามีตัวเองมาเป็นคู่สัญญากับผู้เสียหายในการทำข้าวกล่อง หากทำไม่ทันจะต้องชดใช้เงิน 3 แสน 5 หมื่นบาท
สัญญาฉบับที่สองเป็นการจ้างทำน้ำ 1 หมื่นขวดต่อวัน หากส่งไม่ทันต้องถูกปรับ 1 แสน 5 หมื่นบาท / ส่วนสัญญาฉบับที่สามจ้างทำไข่ต้ม 3 หมื่นฟองต่อวัน หากทำไม่ทันต้องถูกปรับเป็นเงิน 2 แสนบาท