จับตา สนช.ลงมติ "ร่างกฎหมายภาษีที่ดินฯ" วันนี้


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เลื่อนมาเป็นวันนี้ (16 พ.ย.) สำหรับการลงมติ ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ ของ สนช. ขณะที่ คลัง แจง จำเป็นต้องปฏิรูปโครงสร้างระบบภาษีทรัพย์สินให้ทันสมัย เป็นสากล กระตุ้นให้เกิดการใช้ประโยชน์ในที่ดิน

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 1 ซึ่งทำหน้าที่ประธานในการประชุม จะมีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. … ในวาระ 2 และ 3 โดยจะจากเดิมจะมีการลงมติกันตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 พ.ย.61 แต่ที่ประชุมได้ขอเลื่อนการลงมติเป็นวันที่ 16 พ.ย. 2561 เวลา 10.00 น. หลังจากที่ประชุม สนช. อภิปรายจนครบ 94 มาตราแล้ว

โดย คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ได้บัญญัติบทเฉพาะกาลมาตรา 90 ขึ้นมาใหม่ โดยกำหนดให้ใน 2 ปีแรกของการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตาม พ.ร.บ.นี้ ให้ใช้อัตราภาษีตามมูลค่าของฐานภาษีตามที่มาตรา 90 บัญญัติ แบ่งประเภทที่ดินเป็น 4 ประเภท คือ

1.ที่ดินเพื่อการเกษตร มูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท จะได้รับการยกเว้นภาษี ส่วนที่ดินที่มูลค่าเกิน 50 ล้านบาท ส่วนที่เกิน 50 ล้านบาท จะเสียภาษีในล้านละ 100 บาท ยกเว้น 3 ปีแรก ขณะที่นิติบุคคลรายใหญ่เริ่มจัดเก็บทันที  โดยมีที่ดินเกิน 50 ล้านบาทประมาณ 0.01% ของที่ทั้งหมด

2. ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย ยกเว้นภาษีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ส่วนที่ดินเพื่ออยู่อาศัยที่มีมูลค่า 50 ล้านบาทขึ้นไป เสียภาษีในล้านละ 200 บาท ซึ่งมีอยู่ด้วยกันประมาณหมื่นกว่าหลัง ขณะที่บ้านหลังที่ 2 ขึ้นไป ทุก ๆ 1 ล้านบาท เสียภาษี 200 บาท ส่วนห้องเช่า บ้านเช่า เจ้าของที่ดินเป็นผู้รับผิดชอบตามสัญญาที่ตกลง

3. ที่ดินเพื่อการพาณิชย์-อุตสาหกรรม มูลค่าเกิน 50 ล้านบาท จะเสียภาษี 0.3% หรือล้านละ 3,000 บาท ส่วนที่ 200 ล้านบาท เสียภาษี 0.4% หรือ ล้านละ 4,000 บาท ขณะที่ที่ดินที่เป็น โรงเรียน สถานศึกษา โรงพยาบาล สนามกีฬา สนามกอล์ฟ จะลดย่อนได้สูงสุด 90% อย่างไรก็ตาม การเก็บภาษีที่ดินเพื่อการพาณิชย์-อุตสาหกรรมจะไม่กระทบกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

4. ที่ดินรกร้าง ว่างเปล่า เก็บในอัตรา 0.3% และทุก 3 ปี ต้องเสียเพิ่ม 0.3% จนกว่าจะมีการใช้ประโยชน์จากที่ดิน เบื้องต้นมีอยู่ประมาณ 8.31 ล้านไร่ที่ไม่มีการใช้ประโยชน์จากทั้งหมด 300 ล้านไร่

นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ฯ ชี้แจงว่า เนื่องจากไม่มีการปรับภาษีมาเป็นเวลานาน เพื่อให้อัตราการจัดเก็บภาษีควรเป็นแบบก้าวหน้า ไม่ใช่แบบถดถอยเหมือนในอดีต ไม่มีฐานภาษีซ้ำซ้อนกับภาษีเงินได้ จึงจำเป็นต้องปฏิรูปโครงสร้างระบบภาษีทรัพย์สินให้ทันสมัย เป็นสากล กระตุ้นให้เกิดการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)

ทั้งนี้ คาดว่าหากมีการประกาศใช้กฎหมายนี้จะสามารถจัดเก็บรายได้เข้ารัฐได้เพิ่มขึ้นประมาณ 10,000 ล้านบาทในระยะเวลา 4 ปี

ติดตามข่าววันนี้ได้ที่นี่ >>> //www.pptvhd36.com/special/ข่าววันนี้

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ