นาซาลุ้นยานสำรวจ "อินไซท์" ลงจอดพื้นผิวดาวอังคาร


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ยานสำรวจดาวอังคารลำใหม่ของนาซา เตรียมลงจอดบนพื้นผิวดาวอังคารคืนนี้ หวังไขข้อมูลโครงสร้างภายในของดาวเคราะห์สีแดงดวงนี้

องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ นาซา ได้กำหนดให้ยาน “อินไซท์ (InSight)” ลงจอดบริเวณที่ราบเหนือเส้นศูนย์สูตรของดาวอังคารที่เรียกว่า “เอลิเซียม พลานิเทีย (Elysium Planitia)” ใกล้กับจุดที่ยาน “คิวริออสซิตี้ (Curiosity)” เคยลงจอด เมื่อปี 2012

ยาน “อินไซท์” เป็นยานสำรวจภาคพื้น ติดตั้งอุปกรณ์หลายชิ้นเพื่อตรวจสอบโครงสร้างภายในของดาวอังคาร เช่น เครื่องตรวจวัดคลื่นแผ่นดินไหว (seismometer) เครื่องตรวจวัดการขยับของขั้วโลกเหนือดาวอังคารระหว่างโคจรรอบดวงอาทิตย์เพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแกนดาวอังคารที่มีแร่เหล็กจำนวนมาก และอุปกรณ์วัดอุณหภูมิใต้ดินเป็นต้น

นักวิทยาศาสตร์มีความเข้าใจดีว่าโครงสร้างชั้นในของโลกประกอบด้วยอะไรบ้าง ตั้งแต่เปลือกโลกจนถึงแกนโลก รวมถึงมีโมเดลที่ละเอียดพอที่จะอธิบายการเกิดโครงสร้างดังกล่าวได้ เมื่อครั้งที่ระบบสุริยะถือกำเนิดขึ้นกว่า 4,500 ล้านปีที่แล้ว  แต่โลกก็เป็นเพียงข้อมูลชุดหนึ่ง ขณะที่ข้อมูลของดาวอังคารจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ได้มุมมองที่ต่างออกไปว่า ดาวเคราะห์ที่มีลักษณะเป็นหินนั้นก่อตัวและมีพัฒนาการอย่างไรเมื่อเวลาผ่านไป  โดยยาน “อินไซท์” ถือเป็นยานสำรวจลำแรกที่เน้นตรวจสอบโครงสร้างภายในของดาวอังคารโดยเฉพาะ

แต่ก่อนที่จะทำอย่างนั้นได้ ยาน “อินไซท์” ต้องลงจอดให้ได้อย่างปลอดภัยเสียก่อน โดยความท้าทายอยู่ที่ช่วง 7 นาที หลังจากยานเข้าสู่บรรยากาศที่เบาบางของดาวอังคารด้วยความเร็วเหนือเสียง  แต่ต้องลดความเร็วลงจนลงจอดบนพื้นผิวดาวอังคารอย่างนุ่มนวลให้ได้ ซึ่งที่ผ่านมา ความพยายามส่งยานสำรวจลงจอดบนดาวอังคารหลายครั้ง ส่วนใหญ่ประสบความล้มเหลว  โดยนายโทมัส ซูร์บูเกน ผู้อำนวยแผนกอำนวยการปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ของนาซา บอกว่า “เรากำลังพูดถึงโอกาสสำเร็จที่น้อยกว่าครึ่ง การไปดาวอังคารเป็นเรื่องที่ยากมากจริงๆ”

ทั้งนี้ หากยาน “อินไซท์” ลงจอดบนพื้นผิวดาวอังคารได้สำเร็จ ก็คาดว่าจะส่งสัญญาณยืนยันกลับมายังโลกคืนนี้เวลา 02.53 น. บวกลบไม่เกิน 1 นาที

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ