ไทยผลิตถุงก๊อบแก๊บปีละ 45,000 ล้านใบ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




วันสิ่งแวดล้อมไทย รณรงค์งดใช้ถุงก๊อบแก๊บ นักวิชาการชี้ต้องออกกฎหมายควบคุม

วันนี้ 4 ธันวาคม วันสิ่งแวดล้อมไทย ภาครัฐและเอกชน ต่างออกมารณรงค์ลดใช้ถุงพลาสติกและโฟม โดยหวังว่าจะช่วยลดปริมาณขยะในประเทศและลดการก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม

กระแสความตื่นตัวเรื่องการลดใช้ถุงพลาสติกไม่ได้เพิ่งมาเกิดขึ้นในช่วงนี้ แต่มีมานานแล้วในระดับนานาชาติ สำหรับประเทศไทยกระแสตื่นตัวเกิดขึ้นหลังจากพบถุงพลาสติกกว่า 80 ชิ้น น้ำหนัก 8 กิโลกรัมในกระเพาะอาหารของวาฬนำร่องครีบสั้น ที่จังหวัดสงขลาจนเป็นข่าวดังไปทั่วโลก

ข้อมูลจาก กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบว่า ไทยผลิตถุงพลาสติกชนิดหูหิ้ว 45,000 ล้านใบต่อปี ในจำนวนนี้ ราว ๆ 20,000 ล้านใบใช้ในตลาดสด ส่วนโฟมบรรจุอาหารผลิตกัน 6,758 ล้านใบต่อปี แก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวผลิตกัน 9,750 ล้านใบต่อปี

เฉพาะในกรุงเทพฯ เราพบขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวจำนวนมาก ทั้งถุงพลากสติก ช้อน หลอด กล่องโฟม โดยพบว่าคนกรุงใช้พลาสติกแบบนี้เฉลี่ย 8 ชิ้นต่อวัน  พลาสติกเหล่านี้อายุการใช้งานสั้น และนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้เพียง 25% ส่วนอีก 75% อยู่ในกองขยะ และกว่าจะย่อยสลายต้องใช้เวลาหลายร้อยปี เช่น ขวดพลาสติก-ถุงพลาสติก ใช้เวลาย่อยสลาย 450 ปี

โดยเฉพาะ “ถุงหิ้ว” หรือที่เราเรียกติดปากว่า “ถุงก๊อบแก๊บ” เป็นปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมไทยมาอย่างยาวนาน เพราะกำจัดและย่อยสลายยาก อีกทั้งการกำจัดขยะในบ้านเราก็ยังขาดประสิทธิภาพ

ปัญหาขยะของไทยรุนแรงทั้งในระดับประเทศและระดับโลก ข้อมูลจากกรีนพีซระบุว่า ไทยเป็นหนึ่งในประเทศแถบเอเชียมีส่วนสำคัญในการก่อมลพิษพลาสติกในทะเลถึงร้อยละ 60 ของขยะพลาสติกที่ถูกปล่อยทั้งหมดลงทะเลทั่วโลก

ที่ผ่านมา “ขยะ” ถูกบรรจุให้เป็นวาระแห่งชาติที่ต้องเร่งปฏิรูปแก้ไข แต่ในมุมมองของนายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อม บอกกับทีมข่าวพีพีทีวีว่า บ้านเรารณรงค์เรื่องนี้มานานหลายปีแต่ไม่ค่อยเห็นผลเพราะมัวแต่รณรงค์แต่ไม่ออกเป็นกฎหมาย

 

นายสนธิยกตัวอย่างประเทศที่ประสบความสำเร็จในการจัดการพลาสติกได้อย่างเห็นผล คือ ประเทศเดนมาร์ก โดยมี 2 มาตรการหลัก คือ

1.กฎหมายเก็บภาษีถุงพลาสติกจากผู้ค้าปลีกตั้งแต่ปี ค.ศ.2003 เพื่อกดดันให้ร้านค้าปลีกคิดค่าธรรมเนียมถุงพลาสติกกับลูกค้า (ซื้อของต้องการถุงพลาสติกต้องจ่ายเงินค่าถุงเพิ่ม) ทำให้ลูกค้าหันมาใช้ถุงผ้าแทนหรือนำถุงพลาสติกกลับมาใช้ใหม่มาตรการนี้ทำให้เดนมาร์กลดการใช้ถุงพลาสติกได้ถึง 66%

2.ระบบเก็บเงินมัดจำค่าขวดพลาสติกเพิ่มจากราคาสินค้าซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคนำขวดพลาสติกมาคืนเพื่อรับเงินที่มัดจำไว้ ขวดพลาสติกเหล่านี้ร้านค้าจะรวบรวมและนำไปรีไซเคิลต่อไปโดยเดนมาร์กสามารถรีไซเคิลขวดพลาสติกได้ถึง 90% ของขวดพลาสติกที่รับคืนในระบบ

สำหรับประเทศที่เอาอย่างเดนมาร์กก็มี เยอรมนี ไอร์แลนด์ สวีเดน ออสเตรีย นอร์เวย์ ส่วนประทศในเอเชีย เช่น จีน ไต้หวัน ฮ่องกง เกาหลี ซึ่งนายสนธิย้ำว่า บ้านเราถ้าไม่มีกฎหมายคนก็ไม่เชื่อ

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ