“บิ๊กตู่” ชง บัตรลงคะแนนเลือกตั้ง ต้องไม่มีโลโก้พรรค


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ตัวแทนพรรคการเมือง เผย เลือกตั้ง 24 ก.พ. 2562 ระบุ “หัวหน้าคสช.” เสนอบัตรลงคะแนนเลือกตั้งต้องไม่มีโลโก้พรรค

เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2561 นายสรอรรถ กลิ่นประทุม ประธานที่ปรึกษาพรรคภูมิใจไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุมแม่น้ำ 5 สาย ที่นำโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. กับพรรคการเมืองทำให้เข้าใจว่า 24 ก.พ.2562 คือ วันเลือกตั้ง

นอกจากนี้ ในที่ประชุม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคสช. ได้เสนอให้บัตรเลือกตั้ง ใช้ชื่อของผู้สมัครกับเบอร์เท่านั้น โดยไม่มีโลโก้ของพรรคการเมืองและชื่อพรรคปรากฎอยู่

ขณะเดียวกัน การประชุมวันนี้ ไม่มีการแถลงข่าว แต่มีการเปิดเผยโรดแมปที่ใช้หารือในที่ประชุม เริ่มจาก เดือนธ.ค.นี้ หลังพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. มีผลบังคับใช้ในวันที่ 11 ธ.ค. คสช.จะปลดล็อกคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับการทำกิจกรรมทางการเมือง 9 ฉบับ

ยกตัวอย่างเช่น ประกาศ คสช. เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง เกิน 5 คน ห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรมและประชุมพรรคการเมือง

จากนั้น 2 ม.ค. 2562 กกต.จะประกาศพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้ง พรรคการเมืองจะสามารถเริ่มหาเสียงได้ ซึ่งก่อนหน้านี้  คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและส่งให้กกต.ไปดำเนินการต่อแล้ว ตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา

จากนั้น ในช่วงวันที่ 14-18 ม.ค. 2562 จะเป็นช่วงการรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส. ซึ่งแต่ละพรรคการเมืองต้องยื่นบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรี 3 รายชื่อในช่วงเวลานี้

ส่วนในช่วงเดือนก.พ.จะเป็นช่วงการเลือกตั้ง เริ่มจาก 4-16 ก.พ. 2562 เป็นช่วงเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร   17 ก.พ.2562 เลือกตั้งล่วงหน้าและ 24 ก.พ. 2562 คือ วันเลือกตั้ง

สำหรับการหารือในวันนี้ ส่วนใหญ่แต่ละพรรคการเมืองส่งตัวแทนมาร่วมประชุม เช่น พรรคภูมิใจไทย ส่งนายสรอรรถ และ นายศุภชัย ใจสมุทร นายทะเบียนพรรค พรรคชาติไทยพัฒนา ส่ง นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรค นายทวีศักดิ์ ณ ตะกั่วทุ่ง เลขาธิการพรรครวมพลังประชาชาติไทย

ส่วนพรรคพลังประชารัฐ นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค เข้าร่วมประชุมด้วยตัวเอง ในฐานะพรรคการเมือง พร้อมเปิดเผยถึงการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีว่าขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการหารือว่าจะเสนอใคร

ส่วนการที่พรรคประชาธิปัตย์ระบุว่าจะไม่ร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ นายอุตตม มองว่า ให้รอดูหลังการเลือกตั้งว่าเมื่อแถลงนโยบายแล้วจะสามารถร่วมกันได้หรือไม่ ยืนยันว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่น่ากังวล

นอกจากประเด็นการกำหนดวันเลือกตั้งแล้ว ยังมีประเด็นที่หลายพรรคการเมืองเสนอให้คสช.รับไว้พิจารณา ทั้ง กลุ่มสหพรรคการเมืองไทย ที่ย้ำในที่ประชุมว่าอยากให้เลื่อนการเลือกตั้ง เป็น 5 พ.ค. และการขอให้ใช้มาตรา 44 ลดระยะเวลาการสังกัดพรรคการเมือง 90 วัน จึงจะลงสมัครส.ส.ได้ เหลือเพียง 30 วัน

ส่วนพรรคที่ไม่มาเข้าร่วมการประชุม มีทั้งหมด 31 พรรค เช่น พรรคเพื่อไทย พรรคเพื่อชาติ พรรคไทยรักษาชาติ พรรคอนาคตใหม่ พรรคสามัญชน พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ และ พรรคประชาธิปัตย์

ติดตามข่าววันนี้ได้ที่นี่ >> //www.pptvhd36.com/special/ข่าววันนี้

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ