ยลโฉม "เต่ามะเฟือง-ฝูงฉลาม" หลังความสมบูรณ์เริ่มคืนสู่ทะเล


โดย PPTV Online

เผยแพร่




หลังมาตรการปิดเกาะเพื่อฟื้นฟูทะเลไทยให้คืนสภาพความอุดมสมบูรณ์ ดูเหมือนว่าผลที่ได้กลับมาจากธรรมชาติ คือความคุ้มค่าที่ยากจะประเมินค่า ตั้งแต่เริ่มมีการพบฝูงฉลามหูดำ ฉลามเสือดาว และการขึ้นมาวางไข่ของแม่เต่ามะเฟือง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องดีดีส่งท้ายปี 2561 ให้คนไทยได้ชุ่มชื่นหัวใจ

การฟื้นฟูทะเลไทยตามแผนของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เป็นมาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เช่น พื้นที่เกาะเต่า เกาะพะงัน เกาะสมุย รวมทั้ง อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน และหมู่เกาะสุรินทร์ของจังหวัดพังงา อันเป็นแหล่งท่องเที่ยว ดำน้ำลึกที่สวยงามติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก รวมๆ ก็คือ ท้องทะเลอันดามันที่ครั้งหนึ่งเคยมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาปีละหลายล้านคนจนเสื่อมโทรม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ถึงเวลา"ปิดป่า-พักทะเล"ให้ธรรมชาติได้ฟื้นตัว

ล่าสุด 17 ธ.ค. ที่ผ่านมา เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ของ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ภาพอันน่ายินดีและน่ารักไปพร้อมๆ กัน เป็นภาพของแม่เต่ามะเฟือง เต่าสายพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และตัวที่พบถือว่าโตเต็มวัย น้ำหนักประมาณ 300-500 กิโลกรัม “ขึ้นมาวางไข่ครั้งแรก” บนชายหาดเขาหลัก หลังจากไม่เคยมีเต่ามาวางไข่อีกเลยเป็นเวลาร่วม 5 ปี โดยคาดว่าตัวนี้จะวางไข่ราว 93 ตัว

แต่ก็เกิดคำถามว่า เขาหลัก อยู่นอกพื้นที่ของกรมอุทยานฯ ไข่ของมันจะได้รับการดูแลอย่างปลอดภัยหรือไม่ เพราะจากสถิติอัตราการรอดของเต่าทะเลเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1 ใน 1,000

ไม่ต้องเป็นห่วง !!!  เพราะ นายประถม รัศมี ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 8  เปิดเผยว่า  เต่ามะเฟืองมีแนวโน้มใกล้จะสูญพันธุ์และตั้งแต่เกิดสึนามิปี 2547 เต่ามะเฟื่องขึ้นมาวางไข่จำนวนน้อยมาก จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ไปดูไข่เต่าที่แม่เต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่บริเวณดังกล่าวแล้วและจะดูแลรักษาต่อไป

สำหรับ เต่ามะเฟืองเป็น 1 ใน 8 ชนิดของเต่าทะเลทั้งโลก ในเมืองไทยพบ 5 ชนิด ได้แก่ เต่าหญ้า เต่าตนุ เต่ากระ เต่ามะเฟือง และเต่าหัวค้อน โดยเฉพาะ 2 ชนิดหลังหายากมาก ชีวิตของเต่าทะเลเริ่มจากพ่อและแม่ผสมพันธุ์กันจากนั้นแม่เต่าจะขึ้นมาวางไข่ ช่วงเดือน ตุลาคม-มีนาคม ในเวลากลางคืน ระหว่างน้ำขึ้นสูง โดยเต่าจะกลับมาวางไข่ในหาดที่ตัวเองเคยเกิดทุกครั้ง แต่ละครั้งมีจำนวน 75-100 ฟอง ปีละ 2-3 ครั้ง ห่างกันครั้งละ 15-20 วัน และไข่เต่ามะเฟืองจะใช้เวลาฟัก 55-65 วัน ซึ่งเมื่อลูกเต่าเกิดก็จะรีบวิ่งลงทะเลให้เร็วที่สุด

ส่วนการคุ้มครองเต่ามะเฟือง มีการประกาศให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง มี กฎหมาย ห้ามล่า ห้ามครอบครอง ห้ามค้า หรือห้ามนำเข้า-ส่งออก รวมทั้งมีการจัดตั้งสถานีอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล

นอกจากเต่ามะเฟืองแล้ว ก่อนหน้านั้นช่วงเดือนตุลาคม 2561 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้เผยแพร่คลิปฝูงฉลามหูดำนับสิบตัวแหวกว่ายอยู่ริมหาดอ่าวมาหยา เขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ หลังปิดอ่าวมานานกว่า 4 เดือนและไม่มีกำหนดเปิด ซึ่งแต่ละตัวมีความยาวประมาณ 1-1.5 เมตร และในเวลาต่อมายังพบอีกเรื่องหลายสิบตัวทั้งบริเวณอ่าวมาหยาและหมู่เกาะพีพี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : พบฝูงฉลามหูดำริมหาดอ่าวมาหยา หลังปิดอ่าวนานกว่า 4 เดือน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : “ฉลามหูดำ” เกินครึ่งร้อยโผล่อ่าวมาหยา สะท้อนความสมบูรณ์

ต่อมาไม่นาน ช่วงวันที่ 16 ธ.ค. ที่ผ่านมา ทีมนักวิชาการ และจิตอาสา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กว่า พบฉลามเสือดาว ซึ่งเป็นสัตว์ทะเลหายาก กลับมาอาศัยหากินอยู่บริเวณอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน โดย นายดำรัส โพธิ์ประสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 บอกว่า จุดที่พบ ฉลามเสือดาว เป็นการกลับมาอาศัยหากินอยู่บริเวณ ด้านทิศตะวันออก ของเกาะ 7 หรือเกาะ ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน เป็นคู่ 2 ตัว เพศผู้ และเพศเมีย ท่าทีเป็นมิตร โดยว่ายเข้ามาให้กลุ่มนักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญ ที่เดินทางไปสำรวจความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อมใต้น้ำ รวมถึงแนวปะการังที่เคยได้รับความเสียหายจากนักท่องเที่ยวจำนวนมาก  แต่ปัจจุบันได้กำหนดจำนวนนักท่องเที่ยวไม่ให้เกิน 3,850 ต่อวัน ซึ่งในจำนวนนี้รวมนักท่องเที่ยวดำน้ำลึกไว้ด้วย 525 คนต่อวัน รวมถึงมาตรการควบคุมปริมาณขยะ ซึ่งหาก มีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ หมู่เกาะสิมิลันจะกลับมาสวยงาม อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เหมือนกับเมื่อ 20 ปีก่อน

เป็นสัญญาณที่ดีของความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติที่กำลังกลับมา  ซึ่งในอนาคตไม่ได้อยู่ที่ว่าสัตว์เหล่านี้จะมีกี่ตัว แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราคนไทยทุกคนจะร่วมมือกันรักษาสภาพสิ่งแวดล้อม ไม่แค่เฉพาะทะเลแต่หมายรวมถึงผืนป่าในพื้นที่ต่างๆ ได้มากแค่ไหน อย่างน้อยก็เพื่อไม่ให้เสื่อมโทรมไปมากกว่านี้ เชื่อว่าเราจะได้เห็นความมหัศจรรย์ของธรรมชาติที่คืนกลับมาให้เราอีกหลายอย่างแน่นอน

ข้อมูล : ภาพ : เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat,เฟซบุ๊ก ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช,เว็บไซต์ talaythai

ติดตามข่าววันนี้ได้ที่นี่ >> //www.pptvhd36.com/special/ข่าววันนี้

 

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ