ผู้เชี่ยวชาญ เผยดินถล่มใต้ทะเล ต้นเหตุสึนามิถล่มอินโดฯ ยันไม่กระทบไทย


โดย PPTV Online

เผยแพร่




กรณีสึนามิถล่มแนวชายฝั่งรอบช่องแคบซุนดา ระหว่างเกาะสุมาตราและเกาะชวา ของอินโดนีเซีย เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้มีผู้เสียชีวิต และผู้สูญหายเป็นจำนวนมาก ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ว่ามีความแตกต่างจากการเกิดสึนามิครั้งก่อน ๆ และเกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งนัก

วันนี้ (25 ธ.ค.61) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดสึนามิ ที่ประเทศอินโดนีเซีย ครั้งนี้ คาดว่าเกิดจากดินถล่มใต้ทะเล ซึ่งเป็นผลจากการปะทุรุนแรงของ ภูเขาไฟ อานัก กรากะตัว (Anak Krakatau) ถือเป็นกรณีที่เกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งนัก เนื่องจากสึนามิส่วนใหญ่มักเกิดจากแผ่นดินไหว ซึ่งทุ่นเตือนสึนามิ และระบบไซเรนเตือนภัยจะต้องทำงาน แต่เมื่อมันเกิดจากดินถล่มใต้ทะเล จึงไม่มีสัญญาณบ่งชี้ล่วงหน้าให้คนบนฝั่งได้เตรียมตัว ประกอบกับเหตุเกิดขึ้นในช่วงค่ำ ทำให้ประชาชนมองไม่เห็นคลื่นที่ซัดเข้ามา รวมถึงไม่เห็นเส้นทางที่จะหนีเพื่อความปลอดภัย (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : ภูเขาไฟ “กรากะตัว” ระเบิด เกิดสึนามิถล่มอินโดฯ ดับ 43)

ขณะที่โฆษกสำนักบริหารจัดการภัยพิบัติแห่งชาติของอินโดนีเซีย ชี้แจงว่า ที่ประชาชนไม่ได้รับสัญญาณเตือนล่วงหน้า อาจเป็นเพราะทุ่นเตือนภัยสึนามิไม่ได้ใช้งานเลย นับตั้งแต่ติดตั้งหลังเกิดสึนามิปลายปี 2012 ประกอบกับการขาดงบประมาณซ่อมบำรุง และถูกปล่อยปละละเลย ทางการจึงควรเร่งยกระดับระบบเตือนภัยให้มีประสิทธิภาพกว่านี้ อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญยังเตือนว่า มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดสึนามิครั้งใหม่ในช่องแคบซุนดา เนื่องจากภูเขาไฟ อานัก กรากะตัว ยังปะทุต่อเนื่อง (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : ผู้เชี่ยวชาญเตือนอินโดฯเสี่ยงเจอสึนามิซ้ำ ตายพุ่ง 281 คน)

ด้าน นายธฤต ธนสิวะวงษ์ หรือ มิสเตอร์วอป (Mr.VOP) ผู้เชี่ยวชาญด้านภัยพิบัติ อธิบายสาเหตุการเกิดสึนามิครั้งนี้ ว่า สึนามิที่ช่องแคบซุนดาครั้งนี้แตกต่างจากสึนามิที่เรารู้จักกัน ซึ่งโดยมากจะเกิดจากการสั่นสะเทือนในแนวตั้ง หรือแผ่นดินไหว แต่กรณีนี้ มาจากการถล่มของหิน หรือดินด้านข้างปล่องภูเขาไฟ แล้วตกลงไปในน้ำแล้วทำให้เกิดคลื่น และในกรณีนี้จะมีวงรัศมีคลื่นอยู่ในระยะไม่ไกล และไม่ส่งผลกระทบมาถึงประเทศไทยตามที่หลายฝ่ายกังวล (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: ย้อนรอย! “ภูเขาไฟกรากะตัว” ปะทุ “สึนามิ” ถล่มอินโดนีเซีย)

ขณะเดียวกันที่จังหวัดกระบี่ มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก เดินทางมาลงเรือโดยสารนำเที่ยว ที่บริเวณชายหาดนพรัตน์ธารา ตำบลอ่าวนาง อำเภอเมืองกระบี่ เพื่อเดินทางไปท่องเที่ยวตามเกาะต่าง ๆ โดยส่วนใหญ่ ไม่วิตกกังวล หลังเกิดสึนามิที่ช่องแคบซุนดา

ปธ.สภาอุตสาหกรรมกระบี่ จี้ตรวจเช็คระบบเตือนภัยสึนามิ

อย่างไรก็ตาม นายเอกวิทย์ ภิญโญธรรมโนทัย ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จังหวัดกระบี่ ขอให้มีการตรวจเช็คอุปกรณ์ ระบบแจ้งเตือนภัยสึนามิที่ติดตั้งไว้ตามจุดต่าง ๆ ในจังหวัดกระบี่ เพื่อให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน รวมทั้งปรับปรุงเส้นทางหนีภัย ตามสถานที่ต่างๆ  เช่น บนเกาะพีพี ตำบลอ่าวนาง อำเภอเมืองกระบี่ ที่สภาพชำรุด มีการสร้างสิ่งปลูกสร้างบดบังเส้นทางคับแคบ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่นักท่องเที่ยว เนื่องจากเหตุไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

 

มท.1 ยอมรับมีทุ่นเตือนสึนามิถูกเรือประมงลากเสียหาย 1 ทุ่น

นอกจากนี้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ยอมรับว่า ทุ่นที่ใช้รับสัญญาณคลื่นสึนามิที่ประเทศไทย มีอยู่ 2 ทุ่นนั้น มี 1 ทุ่นถูกเรือประมงลากไปในทะเลเสียหาย ล่าสุดเตรียมติดตั้งใหม่ช่วงต้นปีหน้าเพื่อให้พร้อมใช้งาน แต่ประชาชนไม่ต้องเป็นห่วง เพราะเราไม่ได้ใช้สัญญาณจากทุ่นของเราอย่างเดียวยังมีองค์กรอื่น ๆ และหน่วยงานข้างเคียง ซึ่งจะทำงานร่วมกันกับระบบแจ้งเตือนภัยในพื้นที่ ซึ่งได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ซักซ้อมความพร้อมของเจ้าหน้าที่ และเครื่องมือ โดยแบ่งซ้อมเป็นพื้นที่ ขอให้มั่นใจว่ามีความพร้อมรับมือ

ทั้งนี้ส่วนที่องค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวนาง อำเภอเมืองกระบี่ ได้จัดเตรียมสถานที่บริเวณประติมากรรมปลาใบ ริมเขื่อนเกาะพีพี เพื่อจัดงานรำลึก 14 ปี สึนามิในมหาสมุทรอินเดีย ในวันพรุ่งนี้ (26 ธ.ค.61) โดยได้นำภาพถ่ายของผู้เสียชีวิต และสูญหายจากเหตุการณ์สึนามิพัดถล่มเกาะพีพีมาจัดแสดงภายในงาน และจัดเตรียมสถานที่วางดอกไม้เพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิต  ขณะที่นักประดาน้ำจะนำพวงมาลัยโลหะ ไปวางที่อนุสรณ์สถานใต้น้ำบริเวณอ่าวหน้าเกาะพีพี จังหวัดกระบี่ ซึ่งเฉพาะจุดนี้มีผู้เสียชีวิต 722  คน สูญหาย 587 คน

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ