วิเคราะห์รัฐมนตรีในฝันของประชาชนควรมาจากไหน? (คลิป)


โดย PPTV Online

เผยแพร่




วิเคราะห์รัฐมนตรีในฝันของประชาชนควรมาจากไหน? ระบบที่กำลังจะมีในรัฐธรรมนูญใหม่ตอบโจทย์หรือไม่

จากกรณี กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญสามารถพิจารณาทบทวน ร่างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญรายมาตรา และบันทึกเจตนารมณ์ทั้ง 315 มาตราเสร็จสิ้นเรียบร้อย ซึ่งเป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ และพร้อมเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกให้ทางสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พิจารณาภายในวันที่ 17 เม.ย. นี้ ขณะที่ฝ่ายประชาชนยังมีข้อกังขาในเรื่องที่มาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่าง ๆ ที่ส่วนมากมีคุณสมบัติไม่ตรงกับหน้าที่การงาน เพราะถูกเลือกจากระบบโควต้าพรรคนั้น

วันที่ 9 เม.ย. 58 ผู้สื่อข่าว PPTV HD เป็นเรื่องเป็นข่าว ได้ลงพื้นที่ย่านสยามสแควร์ และ จ.สุพรรณบุรี เพื่อสำรวจข้อมูลความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว โดยกลุ่มตัวอย่างวัยรุ่นทั้งเพศชายและเพศหญิงจำนวน 100 คน ที่สยามสแควร์ ผลสำรวจพบว่า วัยรุ่นไทยร้อยละ 58 อยากให้รัฐมนตรีของไทยมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน อีกร้อยละ 32 อยากให้สอบเข้ามาเป็นรัฐมนตรี ขณะที่ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้เลือกตามระบบเดิมนั้น มีแค่ร้อยละ 10 อย่างไรก็ดี มีถึงร้อยละ 58 ไม่รู้ว่าหน้าของรัฐมนตรีในระบบการเมืองไทยคืออะไร และมีเพียงร้อยละ 46 ที่พอทราบบ้าง

กลุ่มวัยรุ่นยังให้เหตุผลที่ต้องการให้รัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งหรือสอบบรรจุ เนื่องจากอยากได้คนที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง เข้ามาทำงานให้ตรงกับองค์ความรู้ที่มี ไม่ใช่เข้ามาด้วยเส้นสายเหมือนในปัจจุบัน นอกจากนี้ มองว่าการคัดเลือกรัฐมนตรีด้วยการสอบ จะช่วยลดปัญหาการคอร์รัปชั่นได้ ทั้งนี้ กลุ่มวัยรุ่นไทยให้ความสนใจด้านการเมืองพอสมควร เพราะมองว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ใช้ขับเคลื่อนพัฒนาประเทศชาติ

ขณะที่ นางสาวบุญชู มณีวงษ์ ชาวนาใน จ.สุพรรณบุรี กล่าวว่า พวกตนต้องการรัฐมนตรีที่เข้าใจวิถีชีวิตและปัญหาของชาวนา ซึ่งควรเป็นตัวแทนจากชาวนาด้วยกันที่ขึ้นไปดำรงตำแหน่งนี้

"อยากได้รัฐมนตรีแบบสรรหา เพราะถ้าไม่ได้มาจากการสรรหา ชาวนาก็ไม่สิทธิ์ไปยืนตรงจุดนั้น เพราะเราไม่มีเงินซื้อตำแหน่งเข้าไป" นางสาวบุญชู ระบุ

อย่างไรก็ดี ยังพบด้วยว่า อาชีพทำนาในปัจจุบัน นับว่าเป็นอาชีพที่คนไทยทำมากที่สุดในกลุ่มพืชเศรษฐกิจ โดยมีเกษตรกรกว่า 37 ล้านครัวเรือนที่ประกอบอาชีพนี้ ทว่า กลับได้ผลตอบแทนต่ำสุดคิดเป็นกำไรเพียง 271 บาท/ไร่/ปี

ด้าน นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ยอมรับว่าการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่ได้คำนึงถึงจุดนี้อย่างละเอียด เพราะมองว่าเป็นเรื่องการต่อรองทางการเมือง เป็นการประนีประนอมที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ไม่ได้คอขาดบาดตายจนต้องขจัดออก

นายเจตน์ โทณวณิก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวเสริมว่า ที่มาของรัฐมนตรีในประเทศไทยเป็นเรื่องของการต่อรอง แต่ก็ควรจะต่อรองให้ได้ดีที่สุด ไม่ใช่ว่าพรรคเล็กซึ่งเป็นพรรคตัวแปรไม่มีคนคุณภาพ แต่ต้องไปต่อรองอย่างนี้ก็ไม่เหมาะสม

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าว PPTV HD เป็นเรื่องเป็นข่าว ได้วิเคราะห์ถึงเส้นทางที่มาของรัฐมนตรีในประเทศไทย โดยพบว่าที่ผ่านมามาจากระบบโควต้าทั้งหมด โดยแบ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคตัวแทนรัฐบาล และแม้ว่าพรรคใดหนึ่งจะได้เสียงข้างมาเป็นรัฐบาล แต่ภายในพรรคที่มีกลุ่มเล็กกลุ่มน้อย ก็ต้องเกลี่ยตำแหน่งรัฐมนตรีตอบแทนให้ หรือกรณีไม่สามารถเป็นรัฐบาลเสียงข้างมากได้ กลุ่มพรรคร่วมรัฐบาลจะกลายเป็นตัวแปรสำคัญ ในการต่อรองตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และมักได้ตำแหน่งในกระทรวงเกรดเอ อย่างกระทรวงมหาดไทย หรือกระทรวงที่ถือเม็ดเงินจำนวนมากอย่าง กระทรวงพาณิชย์ หรือกระทรวงคมนาคม ซึ่งทั้งหมดกลายเป็นที่มาที่ประเทศไทยไม่ได้รัฐมนตรีมาบริหารงานได้ตรงตามความสามารถ

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ