เตือน 4 จังหวัด รับมือ "ปาบึก" คาดฝนหนัก 200-300 มม.


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต ระบุพายุโซนร้อนปาบึก ไม่พัฒนาความรุนแรงเท่าพายุใต้ฝุ่นเกย์ พร้อมเตือน 4 จังหวัดภาคใต้ เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าในช่วงวันที่ 3-5 มกราคมนี้ พื้นที่ภาคใต้ของไทย จะได้รับผลกระทบฝนตกหนักถึงหนักมาก จากพายุโซนร้อน "ปาบึก" ซึ่งขณะนี้อยู่ที่อ่าวไทย และกำลังเคลื่อนตัวเข้าหาฝั่ง โดยกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเตือนทั้ง 14 จังหวัด ให้เตรียมพร้อม

เมื่อวันที่ (2 ม.ค. 62) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ออกมาระบุว่า พายุปาบึก ยังทวีกำลังขึ้นก่อนจะขึ้นฝั่งเป็น "พายุโซนร้อน" พร้อมเตือน 4 จังหวัดภาคใต้ คือ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ให้ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด

คณะทำงานศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ ทั้งจากศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ กรมชลประทาน  กรมอุตุนิยิมวิทยา ร่วมติดตามสถานการณ์ เพื่อเฝ้าระวังพายุโซนร้อน ปาบึก ที่คาดว่าจะส่งผลกระทบให้ภาคใต้ของประเทศไทย ฝนตกหนักถึงหนักมาก

การประเมินข้อมูล เบื้องต้น ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ  ประเมินสถานการณ์น้ำ ในช่วงวันที่ 3 ถึง 6 มกราคม 2562  อิทธิพลพายุโซนร้อนจะทำให้เกิดฝนตกหนักทุกจังหวัดในภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช  โดยคาดว่าจะมีฝนตกหนักประมาณปริมาณน้ำฝนสะสมถึง 200 ถึง 300 มิลลิเมตรต่อวัน

ส่วนแนวโน้มความรุนแรง การพัฒนาของพายุโซนร้อนปาบึก จะมากขึ้น หรือ น้อยลง นายสำเริง  แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต ระบุว่า ข้อมูลที่มีในขณะนี้ ไม่มีแนวโน้มลดความรุนแรงลง"พายุโซนร้อนปาบึก" มีกำลังลมที่ศูนย์กลางอยู่ที่ 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ไม่มีแนวโน้มลดความรุนแรงลงเป็นดีเปรสชั่น และจะเพิ่มกำลังขึ้นต่อเนื่องก่อนขึ้นฝั่ง ซึ่งยังคงเป็นพายุโซนร้อน แต่ไม่จะไม่พัฒนาความรุนแรงไปถึงพายุใต้ฝุ่นเกย์ ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2532

นายภูเวียง ประคำมินทร์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา อธิบายว่า ความเร็วของพายุโซนร้อนปาบึก ที่กำลังทวีกำลังขึ้นจาก 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะไม่พัฒนาไปถึง 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเกือบเทียบเท่าพายุแฮเรียต ที่ถล่มแหลมตะลุมพุกเมื่อปี 2505 เพราะพายุเข้าใกล้ฝั่งมากแล้ว จะทำให้หมุนตัวได้น้อยลงและสูญเสียกำลัง แต่ผลกระทบคามเสียหายอาจเทียบเท่าพายุแฮเรียตได้ ถ้าเตรียมรับมือไม่ดีพอ

อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา การเกิดพายุโซนร้อนปาบึก  เกิดจากสภาพอากาศแปรปรวน ซึ่งอาจเป็นเพราะอุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น ไปประกอบกับลมจนเหมาะสมที่ทำให้เกิดพายุ

ผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ยังระบุว่า  ตั้งแต่วันพรุ่งนี้ พื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบ คือพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี  และในวันศุกร์ที่ 4 มกราคม พื้นที่จังหวัดชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ และเพชรบุรี จะได้รับผลกระทบต่อเนื่อง และในบางจุดพายุ อาจสร้างความเสียหายให้กับสิ่งก่อสร้าง 

จากปริมาณฝนที่จะตกต่อเนื่อง สถานการณ์น้ำในเขื่อนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ยังสามารถรองรับได้ แต่จะมีเพียงพื้นที่ใต้เขื่อนปราณบุรี ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และเขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี  ที่กังวลว่า หากมีปริมาณฝนตกมาก 200 ถึง 300 มิลลิเมตร พื้นที่ใต้เขื่อนเหล่านี้ จะได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำออกจากเขื่อน  โดยขอให้ประชาชนติดตามสภาพอากาศและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และต่อเนื่อง

 

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ