จุดกำเนิด "ชุดนักเรียน" มีมากกว่า 100 ปี


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ชุดนักเรียนของเด็กไทยมีมาตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เปลี่ยนมาหลายรูปแบบจนถึงรูปแบบในปัจจุบัน

เมื่อโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนลุกขึ้นมาทำงานวิจัย ว่าการให้นักเรียนใส่ชุดไปรเวทมาเรียน จะทำให้เด็กกล้าแสดงออก มีความมั่นใจ ก็สร้างความฮือฮาไม่น้อย เพราะอย่างที่ทราบ ชุดนักเรียนถือเป็นเครื่องแบบที่อยู่คู่กับเด็กไทย การศึกษาไทยมาตลอด ตั้งแต่วัยอนุบาลจนระดับมหาวิทยาลัย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : “กรุงเทพคริสเตียน” สุดคึกคัก เด็กแต่งชุดไปรเวทมาเรียนวันแรก!

ถ้าย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นของเครื่องแบบชุดนักเรียน ต้องบอกว่าเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงยุคสมัยของการวางรากฐานการศึกษาไทย สมัยรัชกาลที่ 5 ราว พ.ศ. 2428 โดยชุดนักเรียนชายจะมีหมวกฟาง ผ้าพันหมวกสีตามสีประจำโรงเรียน ติดอักษรย่อชื่อโรงเรียนที่หน้าหมวก ส่วนเสื้อจะเป็นเสื้อราชปะแตนสีขาว กระดุมทอง กางเกงเป็นกางเกงไทยรูเซีย ทรงกระบอกยาวถึงใต้เข่ารวบชายรัดไว้ใต้เข่า) มีสีดำ ถุงเท้าขาว หรือดำ รองเท้าดำ แต่  ถุงเท้า รองเท้า เป็นของราคาแพง จึงไม่จำเป็นที่จะต้องมีทุกคน

ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 6 กำหนดให้นักเรียนหัวเมืองใช้เสือราชปะแตนสีเทา แทนเสื้อขาวได้เพราะรักษาความสะอาดง่ายกว่า

จนกระทั่งสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองจัดตั้งยุวชนทหาร และกำหนดให้นักเรียนตั้งแต่ชั้นมัธยมปีที่ 4 (เทียบกับปัจจุบันคือ ชั้น ม.๒ ขึ้นไป) ต้องเป็นยุวชนทหาร นักเรียนตั้งแต่ชั้นม.4 ขึ้นไปจึงแต่งเครื่องแบบยุวชนทหารแทน  โดยจะมีหมวกทรงหม้อตาลสีกากีแกมเขียว หน้าหมวกเป็นโลหะมีอุณาโลมอยู่กลาง มีตัวอักษรว่า รักชาติยิ่งชีพ เสื้อเชิ้ตสีกากีแกมเขียว กางเกงขาสั้นสีกากีแกมเขียว ถุงเท้าดำ รองเท้าดำ

จากนั้น หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงปรับเปลี่ยนมาใช้ดังที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันเพียงแต่ไม่มีหมวกกะโล่สีขาว โดยเป็นเสื้อเชิ้ตแขนสั้นสีขาว ปักอักษรย่อนามจังหวัดพร้อมหมายเลขประจำโรงเรียนด้วยไหมสีน้ำเงิน ถ้าเป็นโรงเรียนเอกชนจะปักสีแดง กางเกงขาสั้นสีกากี เข็มขัดหนังสีน้ำตาล ถุงเท้าน้ำตาล รองเท้าน้ำตาล

ส่วนชุดนักเรียนหญิง ช่วงปี พ.ศ. 2456  เริ่มมีการจัดตั้งโรงเรียนสำหรับสตรีขึ้น จึงเริ่มมีเครื่องแบบนักเรียนหญิงอย่างการนุ่งผ้าซิ่นสีพื้น

อย่างไรก็ตาม สำหรับชุดนักเรียนไทยปัจจุบัน (โรงเรียนรัฐบาล) เป็นไปตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. 2551 ได้กำหนดลักษณะของเครื่องแบบนักเรียนแบ่งตามระดับและประเภทการศึกษา ไว้  7 ลักษณะ คือ เครื่องแบบนักเรียนระดับก่อนประถมศึกษา,ระดับประถมศึกษา,ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น,ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสามัญศึกษา,ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายประเภทอาชีพและระดับอุดมศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญา,สถานศึกษาเอกชนสอนศาสนาอิสลามและเครื่องแบบนักเรียนซึ่งนับถือศาสนาอิสลามในสถานศึกษาอื่นนอกจากสถานศึกษาเอกชนสอนศาสนาอิสลาม

ลิงค์เกี่ยวข้อง : ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. 2551 

โดยจะหยิบยกตัวอย่างรูปแบบของเครื่องแบบนักเรียนมาให้ได้เห็นภาพกันคร่าวๆ

สำหรับ “นักเรียนชาย” เสื้อเชิ้ตสีขาว ไม่มีสาบหลัง มีกระเป๋าเสื้อที่หน้าอกด้านซ้าย ปักอักษรย่อหรือสัญลักษณ์ของโรงเรียนที่หน้าอกซ้ายและชื่อหรือตัวเลขประจำตัวนักเรียนที่หน้าอกขวา ซึ่งใช้ด้ายสีน้ำเงินหรือสีแดงในการปัก

กางเกงและเข็มขัด มี 3 แบบ คือ กางเกงขาสั้นสีกากี คู่กับเข็มขัดหนังสีน้ำตาล กางเกงขาสั้น สีดำคู่กับเข็มขัดหนังสีดำหรือน้ำตาล สีน้ำเงินคู่กับเข็มขัดสีดำหรือสีน้ำตาลในปัจจุบัน โรงเรียนที่ใช้กางเกงนักเรียนสีกากีส่วนใหญ่อยู่นอกพื้นที่ของกรุงเทพมหานครรองเท้าและถุงเท้า มี 2 แบบ คือ กางเกงน้ำตาล ต้องสั้นกว่าเข่าอย่างน้อย 3-4 นิ้ว จะใช้รองเท้าและถุงเท้าสีน้ำตาล อีกแบบคือใช้ถุงเท้าสีขาว คู่กับรองเท้าผ้าหรือหนังสีดำ

“นักเรียนหญิง”

ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ใช้เสื้อคอปกกะลาสี สีขาว เนื้อผ้าแบบเสื้อนักเรียนชาย ที่แขนมีจีบและกระดุม ผูกโบสีกรมท่าใต้ปกเสื้อ ปล่อยชายเสื้อ

ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ใช้เสื้อคอเปิดสีกากีแกมเขียว หรือเสื้อสนามคอเปิดสีกากีแกมเขียว สอดชายเสื้อไว้ในกระโปรง คาดทับด้วยเข็มขัดหนังสีดำ ปักอักษรย่อของโรงเรียนที่หน้าอกขวาและชื่อนักเรียนที่หน้าอกซ้าย ซึ่งใช้ด้ายสีน้ำเงินปัก ส่วนกระโปรง เป็นกระโปรงสีกรมท่า มีจีบด้านหน้า 6 จีบ และด้านหลัง 6 จีบ รองเท้าและถุงเท้า รองเท้าหนังสีดำ ถุงเท้าสีขาว

อย่างไรก็ตาม การที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนได้ทำการทดลองให้นักเรียนแต่งชุดไปรเวทในทุกวันอังคาร สร้างความแปลกใหม่และกำลังถูกหยิบยกมามาพูดถึงความจำเป็นในการใส่เครื่องแบบนักเรียนของโรงเรียนอื่นๆ อีกครั้ง

ภาพ-ข้อมูล : อินเทอร์เน็ต

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ