“ยอมแลกเหงื่อ” เพื่อคำสัญญากับพ่อบนเส้นทาง “ลูกยาง” ของเด็กหนุ่มจากปากพนัง


โดย Kochaphan Suksujitr

เผยแพร่




“คำสัญญาสุดท้ายที่ให้ไว้กับพ่อและครอบครัว” คือแรงผลักดันสำคัญ ให้ “มอส จักรกริช ถนอมน้อย” นักเรียนโครงการนักกีฬาทุนโรงเรียนอัสสัมชัญ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากปากพนังตัดสินใจเข้ากรุงเทพฯ ฝึกฝนมุ่งมั่นบนเส้นทางนักกีฬาวอลเลย์บอลเพื่อคว้าทีมชาติ

16.00 น. 11 ม.ค.2562 บทสนทนาเริ่มต้นขึ้น...

“บ้านผมอยู่ปากพนัง โดนปาบึกนิดหน่อยครับ เพราะอยู่ไกลจากชายทะเล” เป็นบทสนทนาเริ่มต้นของทีม LIFE STORY นิวมีเดีย พีพีทีวี  หลังรู้ว่า“มอส จักรกริช  ถนอมน้อย” นักเรียนโครงการนักกีฬาทุนโรงเรียนอัสสัมชัญ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนอัสสัมชัญ มีพื้นเพ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช หนึ่งในพื้นที่สำคัญที่ได้รับผลกระทบจากปาบึก ก็อดถามไถ่ไม่ได้

ด้วยศักยภาพทางด้านกีฬาที่เล่นมาตั้งแต่เด็กทำให้ สักกะพงษ์  บุญมี ผู้จัดการทีม (ลุงพงษ์) ของเด็กๆ และ โค้ชมาสเตอร์สนั่น  อ้นเกตุ เห็นแววจึงพามาอยู่ในโครงการนี้ ตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ร่วมกับเพื่อนๆ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา “เส้นทางสายวอลเลย์บอล” ของมอสจึงชัดเจนขึ้น

เขาเล่าย้อนให้ฟังว่า “ประมาณ ป.4 ที่ถูกให้ไปฝึกทั้งกินและนอนอยู่ที่โรงเรียน แต่...ผมชอบหนีกลับบ้าน สุดท้ายโค้ชเลยให้เป็นหัวหน้าทีมให้มีความรับผิดชอบเลยยาวจน ป.6 “

แต่การเดินทางไกลบ้านสู่โลกใบใหม่ของเด็กชายที่กำลังจะขึ้น ม.1 จากนครศรีธรรมราชมาอยู่ในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานครไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งเขาต้องปรับตัวอย่างมากซึ่งมอสก็ผ่านมันมาได้

“ปรับหลายๆ เรื่อง อยู่กับเพื่อนๆ พี่ๆ ที่มาจากต่างครอบครัว ร้อยพ่อพันแม่ แล้วก็เพื่อนๆ ที่โรงเรียนไม่มีปัญหากับเรา ที่เรามากับต่างจังหวัด มาจากบ้านนอก ไม่มีปัญหาเลยครับ”

ถึงตรงนี้ โค้ชมาสเตอร์สนั่น  อ้นเกตุ เสริมว่า “เราจะคัดเลือกเด็กตั้งแต่ ม.1 และให้เรียนรวมกับเพื่อนๆในชั้นเรียนปกติ เพราะเด็กวัยนี้ ทุกคนคือเพื่อน พวกเขาไม่คิดหรอกว่า ใครจะรวย จะจน มาจากไหน ใช้ของอะไร”

ในทุกๆวันของมอสอาจจะแตกต่างจากเพื่อนคนอื่นๆ เพราะมี 2 อย่างที่เขาต้องโฟกัสและทำทุกวันอย่างมีวินัย คือ “เรียนและซ้อมอย่างหนัก” ซึ่งในทุกๆวัน จันทร์-พฤหัสบดี นอกจากเรียนตามตารางเรียนทั่วไปแล้วยังต้องเรียนพิเศษเพิ่มในตอนเย็น จากนั้นประมาณ 17.00 น. การฝึกซ้อมจะเริ่มต้นขึ้น ในตำแหน่งหัวเสาและหัวหน้าทีม จนถึงสี่ทุ่ม (22.00 น.) กับเพื่อนๆ ร่วมทีมที่มีตารางการใช้ชีวิตที่เหมือนกัน เพราะล้วนเป็นนักเรียนในโครงการนักกีฬาทุนโรงเรียนอัสสัมชัญเช่นกัน

จากนั้นทั้งทีมจะกลับมาที่หอพักเก็บโทรศัพท์ไว้กับผู้ดูแลและลงมือทำการบ้าน และเข้านอนประมาณเที่ยงคืน ซึ่งมอสยอมรับว่าแรกๆ อยากกลับบ้าน แต่เพราะคำบอกของ “แม่” ที่เป็นแรกผลักดันสำคัญคอยกระตุ้นเตือนอยู่ตลอดเวลา

"ซ้อมมันเหนื่อย คิดถึงบ้าน มาไกลมากขนาดนี้ แต่แม่บอกผมว่า เราเก็บคำดูถูกมาเป็นแรงบรรดาลใจ สู้ต่อเพื่อคนในครอบครัว เพื่อพี่น้อง พี่คนอื่นไม่ได้มาแบบเรา พี่ผมคนหนึ่งจบแค่ม.3 คนหนึ่ง ม.6 ผมเป็นเหมือนความหวังที่บ้าน แม่ยังไม่บ่นเลย ผมจะบ่นได้ไง" มอสมีพี่น้อง 4 คน และเขาคือน้องคนสุดท้อง

จนกระทั่งปีที่ผ่านมา เขาเจอมรสุมลูกใหญ่ที่สุดในชีวิตเมื่อ พ่อประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต

แต่นั่นกลับทำให้เขา ลุกขึ้น มุ่งมั่นฝึกซ้อมเพื่อ “พิสูจน์ตัวเอง” ว่าสักวันเขาจะดูแลแม่และพี่น้องให้ได้ด้วย “คำสัญญา” ที่ให้ไว้กับพ่อ

“อยากทำให้พ่อ ถึงพ่อจะไม่อยู่ แต่การกระทำผมก็ยังเหมือนเดิมตามสัญญาที่ผมเคยบอกพ่อไว้ อยากเป็นข้าราชการ อยากเป็นทีมชาติ อยากให้พ่อแม่มีความสุข อยากให้พี่ๆเห็นว่าเราทำได้”

เส้นทางการเป็นนักวอลเลย์บอลของ มอส ยังอีกยาวไกลมาก ยังต้องฝึกฝนพัฒนาสร้างศักยภาพของตัวเองในทุกๆวันตามแบบฉบับของโค้ช ซึ่งมอสมองว่า ตัวเองไม่ใช่น้ำที่เต็มแก้ว ต้องเชื่อฟังโค้ช

“ผมไม่ได้น้ำเต็มแก้ว ต้องเชื่อฟังโค้ช เรียนรู้ไปได้เรื่อยๆ ผมเพิ่ง ม.3 ยังมีอีกหลายปีที่ต้องพัฒนาตัวเอง ยังมีจุดที่บกพร่อง บางวันก็เล่นไม่ดี”

แต่การเล่นกีฬาต้อง “มีแพ้ มีชนะ”แต่เขาและทีมยึดคำของลุงพงษ์ว่า “แพ้ให้เป็นเพราะแพ้เป็นครู”

17.00 น. เสียงลูกวอลเลย์บอลจาก ทีมวอลเลย์บอล โรงเรียนอัสสัมชัญ สะท้อนพื้นโรงยิมเนเซี่ยม โรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชยการ สายตามอสมองไปที่ลูกวอลเลย์บอลในมือเพื่อน เป็นอันรู้ว่า “ถึงเวลาซ้อมแล้ว” ทีม LIFE STORY นิวมีเดีย พีพีทีวี จึงมีโอกาสได้คุยกับ โค้ชมาสเตอร์สนั่น  ซึ่งเปิดมุมมองการสร้างทีมให้เราฟัง

“คุณสักกะพงษ์  บุญมี ผู้จัดการทีม บอกกับผมว่า เด็กทุกคนที่เราคัดมามีรากแก้วที่แข็งแรงอยู่ในตัวเพียงแต่เขาไม่มีโอกาสถ้ายังอยู่ที่เดิมและอาจไปในทางตรงกันข้ามจากสิ่งยั่วยุต่างๆ เราจึงต้องนำมาติดตา ต่อกิ่ง บำรุง ให้มีกิ่งก้านสาขาที่แข็งแรง เพราะฉะนั้นอย่าเรียกเราว่า "นักวอลเลย์บอลช้างเผือก" เพราะพวกเราเป็นแค่ นักกีฬาทุนของโรงเรียนตัวเล็ก ๆ ในโครงการ “ติดตาความรู้ ต่อกิ่งคุณธรรม” ที่กำลังตามหาฝัน ด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจว่าสักวัน ผลิตผลต้นกล้าเหล่านี้ จะไปยืนอย่างแข็งแกร่งและพร้อมที่จะ “แบ่งปันให้กับคนรอบข้าง ด้วยการฝึกนักกีฬาวอลเลย์บอล ให้มีวินัย มีความเพียร มีความเป็นนักสู้ และสำคัญที่สุดคือ ส่งผลกลับไปยังครอบครัว”

ก่อนร่ำลากัน มอสและเพื่อนๆในทีมฝากบอก น้องๆ เด็กๆ เพื่อนๆ ทุกคนที่มีความฝันแต่อาจจะท้อ หมดกำลังใจ ว่า “การฝึกซ้อมอย่างหนัก มันเหนื่อยมาก ตอนนี้ยังไม่เห็นผล ยังเด็ก ยังช่วยอะไรไม่ได้ พออนาคตข้างหน้า ถ้าได้ซ้อม ได้ผ่านจุดที่กดดัน มีคนด่า คนว่า มันจะผ่านไป โตไปจะเป็นบทเรียนที่ที่ดีเลยครับ”

สุขสันต์วันเด็กแห่งชาติ ปี 2562

FB : โครงการนักกีฬาทุนโรงเรียนอัสสัมชัญ

สถานที่ : โรงยิมเนเซี่ยม โรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชยการ

LIFE STORY ตอน 1 : คุยกับคนหัวใจโขน...หลังถอดหัวโขน

LIFE STORY ตอน 2 : ถ้าไม่เป็นมะเร็งวันนั้น "ผู้หญิงคนนี้" อาจไม่ได้ยินเสียงหัวใจของตัวเองในวันนี้

LIFE STORY ตอน 3 : ตามติดชีวิต“คู่หูห่อหมกฮวก” ผู้สร้างสีสันจนสะท้านเวที “The Voice 2018”

TOP สังคม
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ