เปิดเวทีสะท้อนความคิด ‘มองเมืองไทย ให้ไกลกว่าได้การเลือกตั้ง’


โดย PPTV Online

เผยแพร่




นักวิชาการสะท้อนหลากหลายมุมมองความคาดหวังหลังการเลือกตั้ง หลายปัญหาไม่ใช่แค่ตระหนักแต่ต้องตระหนก เพื่อตื่นตัว ทั้งลดความเหลื่อมล้ำ แก้ 4 โจทย์ใหญ่ด้านศึกษา เน้นคุ้มครองผู้บริโภค การเตรียมไทยให้เข้าสู่ระบบการค้าเสรีอย่างแท้จริง แต่ทั้งหมดจะต้องเกิดขึ้นเมื่อการเลือกตั้งไม่เป็นเพียง ‘สนามการแย่งชิงอำนาจของนักการเมือง’ เหมือนอดีต

งานสัมมนาสาธารณะ มองเมืองไทย ให้ไกลกว่าได้เลือกตั้งเริ่มที่ ศ.ดร.อัญชนา ณ ระนอง ผู้อำนวยศูนย์สำรวจความคิดเห็น ‘นิด้าโพล’ เปิดผลสำรวจ ความคาดหวังของประชาชนหลังการเลือกตั้ง 2562 พบว่า เศรษฐกิจ-การเมือง ยังเป็นจุดที่ประชาชนคาดหวังมากที่สุด อย่างด้านเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้อง หนี้สิน 30% ส่งเสริมราคาสินค้าเกษตร 17% ลดการว่างงาน 15% ลดค่าครองชีพ ค่าน้ำ ค่าไฟ 13% การจับจ่ายใช้สอยที่คล่องขึ้น 11%

ขณะที่ด้านการเมือง 2 อับดับแรก อยากได้นายกรัฐมนตรี เสียสละมีคุณธรรม และมีความเป็นผู้นำ

นอกจากนั้นยังพบว่า สิ่งที่ประชาชนอยากเห็นมากที่สุดหลังการเลือกตั้ง คือ ประเทศมีความสงบสุข มีประชาธิปไตย และปราศจากคอร์รัปชั่น

หลักสูตร บสส.8 สถาบันอิศรา จัดงานสัมมนาสาธารณะ “มองเมืองไทย ให้ไกลกว่าได้เลือกตั้ง”

ปชช. หวังเศรษฐกิจปี 61 ดีขึ้น หนุนรัฐบาลแก้เรื่องปากท้องและจัดเลือกตั้ง

กางข้อมูลการศึกษาไทยทำไมย่ำอยู่กับที่

 

‘การปฏิรูปการศึกษาต้องสำเร็จ 10 ปีข้างหน้า คุณภาพการศึกษาต้องดีระดับสากล’

ต่อมาปัญหาด้านการศึกษาจึงเป็นหัวข้อที่ถูกพูดถึงอันดับแรก โดย ศ.กิตติคุณ นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา บอกว่า 4 โจทย์ใหญ่ ที่ยังทำให้การศึกษาไทยถ่วงความเจริญของประเทศ คือ 1.คุณภาพต่ำ แม้จะเน้นเนื้อหาสาระ เน้นการท่องจำ ซึ่งไม่เป็นผลสำเร็จ 

2.ความเหลื่อมล้ำรุนแรง โดยดูจากจำนวนของนักเรียนเพียง 1-2% ของประชากรในช่วงอายุนั้น ที่มีคุณภาพจนสามารถแข่งขันได้ แม้ว่าพ่อแม่จะพยายามผลักดันลูกหลานเข้าสู่ระบบการศึกษาแต่ก็ไม่สามารถได้รับการศึกษาที่ดีได้ โดยเฉพาะในชนบท

3.ความสามารถในการแข่งขันลดน้อยลงอย่างมาก โดยไทย ถูก ฮ่องกง ไต้หวัน จากหลายๆ ปัจจัย

และ 4.ประสิทธิภาพในระบบการศึกษายังต่ำมาก แม้ว่าจะได้งบประมาณสูงมากถึง 4.6% ของจีดีพีประเทศ เป็นเพราะการบริหารการศึกษาเน้นนโนบายที่จากข้างบนป็นหลัก ไม่ได้เจาะลึกและหลากหลายเพื่อไปถึงการแก้ปัญหาระดับแต่ละพื้นที่จริงๆ

ซึ่งปัญหาทั้งหมดต้องแก้ด้วยความหลากหลายในการจัดการ  ‘เนื้อหาสาระการท่องจำไม่จำเป็นอีกต่อไป ต้องหันมาเน้นที่ความสามารถเพื่อสร้างสมรรถภาพ’ ด้วยการใช้ Digital Platform กระจายอย่างเท่าเทียมระหว่างในชนบทและการศึกษาในเมือง และต้องเกิดขึ้นภายใน 10 ปีจากนี้ซึ่งอาจไม่ใช่เพียงหน้าที่ของนักการเมือง รัฐบาล แต่ต้องมาจากความคิดของแต่ละคนที่กำลีงเข้าสู่ในระบบการศึกษาไม่เน้นที่ค่านิยมแต่ในที่สุดตกงาน

‘การเมืองไทย เศรษฐกิจไทย ปรับทันหรือไม่?’

 

ต่อมาเป็นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งถือเป็นอับดับต้นๆ ที่ประชาชนคาดหวัง รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐกิจและการเมือง บอกว่า

‘ภูมิรัฐศาสตร์เปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยน การเมืองไทย เศรษฐกิจไทย ปรับทันหรือไม่?’ ซึ่งคำว่าปรับทันหรือไม่ รศ.ดร.สมชาย ขยายความว่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่การค้าเสรีมากขึ้น กำแพงภาษีจะกลายเป็น Single Market คือ การเคลื่อนที่ของสินค้า บริการ เงินทุน ได้อย่างเสรี ดังนั้นโจทย์ใหญ่คือ ‘การปรับปรุงมาตรฐานสินค้าโดยเฉพาะ เอสเอ็มอี เพื่อเข้าสู่สนามการค้า ทั้ง อาร์เซป และ ทีพีพี ซึ่งมีทั้งญี่ปุ่น และ สหรัฐอเมริกา’ เข้าร่วม โดยมองไปถึงการใช้เทคโนโลยีเข้ามาจัดการระบบการค้า การเงิน ก่อนเข้าสู่ยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ซึ่งจะมีทั้งระบบ Digital และ Biotechs เข้ามา

 

‘นโยบายเกษตรกรรม กรรมที่ถูกใครกำหนด’

มาถึงเรื่องที่เป็นเหมือนเครื่องมือของนักการเมืองเพราะถูดหยิบยกมาอยู่ในการหาเสียงแทบทุกพรรค อย่าง นโยบายด้านการเกษตร ดร.วรชาติ ดุลยเสถียร ผู้เชี่ยวชาญโซ่อุปทานด้านเกษตร CLMV มองว่า ปัญหาสำคัญของนโยบายเกษตรกรรม ต้องมองไปถึงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับนโยบายทางการเกษตรเท่าที่ควร ดังนั้น สิ่งที่คาดหวังหลังการเลือกตั้ง คือ นโยบายที่เป็นกลยุทธ์และสามารถทำได้จริงไม่ได้เพ้อฝัน

ซึ่งความคาดหวังการแก้ปัญหานี้หลังการเลือกตั้งหนึ่งในนั้น คือ การทำ Value Chain กับสินค้าเกษตร เพราะไทยมีความพร้อมทั้งสายพันธุ์ของพืชผล ความรู้ และเทคโนโลยีการผลิต ดังนั้นการสร้างมูลค่าจึงเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆ การนำ AI เข้ามาช่วย โดยวางเป้าหมายของตลาดใหญ่ที่กำลังจะเข้ามาอย่างจีน

 

‘ต่างคนต่างมียุทธศาสตร์การเมือง แต่ที่ยังขาดคือ ยุทธศาสตร์การบริหารราชการแผ่นดิน’

รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการด้านกฎหมาย และอดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ อ้างอิง  คำตอบของประชาชนผ่านโพลของนิด้า ว่าความคาดหวังให้เกิดการแก้ ปัญหาปากท้อง ปัญหาความเป็นประชาธิปไตย ปัญหาราคาสินค้าเกษตร สะท้อนให้เห็นว่าไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่ยังคงพูดถึงปัญหาพื้นฐานเหล่านี้ทั้งที่เป็นสิ่งที่ควรจะเกิดการปฏิรูปอย่างจริงจังมาตั้งแต่ ปี 2557 ดังนั้นจึงมองว่ายังไม่มีความคาดหวังใดๆ หลังการเลือกตั้งเพราะการเลือกตั้งยังเป็นเพียงสนามของการแก่งแย่งชิงอำนาจกัน

 

‘ขอให้เลือกตั้งเร็วที่สุด เพราะมีภารกิจที่ต้องจัดเรื่องความเหลื่อมล้ำอีกมากมายรอเราอยู่’

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มองว่าการเลือกตั้ง จะเกิดขึ้นในเร็ววัน เพราะหลังจากนั้นสิ่งที่คาดหวังว่าจะเกิดขึ้นคือ การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำให้กับผู้บริโภคด้วยระบบการจัดสวัสดิการ ซึ่งไม่ใช่เรื่องของประชานิยม แต่เป็นสิ่งพื้นฐานของคนทุกคน เช่น ระบบหลักประกันสุขภาพ หลักประกันรายได้ ด้วยการจัดลำดับการใช้งบประมาณแผ่นดิน เช่น ความเท่าเทียมในระบบสุขภาพ การรักษาพยาบาล การกำหนดเพดานค่านักษาพยาบาล เพดานราคาระบบขนส่งมวลชน ที่ไม่ควรเกิน 10% ของรายได้ขั้นต่ำ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังคาดหวังว่าหลังการเลือกตั้งจะได้เห็นสภาเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคของการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ไปจนถึงการเชื่อมต่อการแก้ปัญหาที่รวดเร็ว ง่าย และแก้ไขให้กับประชาชนอย่างแท้จริง

ในท้ายที่สุดแล้ว แม้วันนี้การเลือกตั้งจะยังไม่ชัดเจนว่าจะเกิดขึ้นวันไหน อย่างไร แต่เชื่อว่าการระดมสมอง สะท้อนความคิด ในครั้งนี้ จะเป็นจริงได้ คงไม่ใช่แค่ การหวังพึ่งรัฐบาล หรือ นักการเมือง แต่คงต้องเริ่มต้นจากคนทุกคน โดยเริ่มจากการก้าวทันโลก การจัดการวิสัยทัศน์ให้ถูกต้องและทำได้จริง

PR-โปรแกรมผลบอล-2_B PR-โปรแกรมผลบอล-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ